ส.อ.ท.จี้รัฐตรึงเอฟทีปีหน้า ชี้ต้นทุนผลิตไฟของ กฟผ.มีแนวโน้มลดลง

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ส.อ.ท.จี้รัฐตรึงเอฟทีปีหน้า ชี้ต้นทุนผลิตไฟของ กฟผ.มีแนวโน้มลดลง

Date Time: 1 ธ.ค. 2565 06:10 น.

Summary

  • ดัชนีเอ็มพีไอเดือน ต.ค.หดตัวหลังโรงกลั่นปิดซ่อมใหญ่ แต่ทั้งปีคาดเติบโต 2% ส่วนปีหน้าคาดขยายตัว 2.5–3.5% โดยดัชนีเตือนภัยยังคงส่งสัญญาณเฝ้าระวังระยะสั้น–ยาวจากราคาน้ำมันที่ผันผวน

Latest

ล้อมคอกรถโดยสารสาธารณะยึดมาตรฐาน "UN”

ดัชนีเอ็มพีไอเดือน ต.ค.หดตัวหลังโรงกลั่นปิดซ่อมใหญ่ แต่ทั้งปีคาดเติบโต 2% ส่วนปีหน้าคาดขยายตัว 2.5–3.5% โดยดัชนีเตือนภัยยังคงส่งสัญญาณเฝ้าระวังระยะสั้น-ยาวจากราคาน้ำมันที่ผันผวน ค่าไฟเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจโลกถดถอย ด้าน ส.อ.ท.จี้รัฐตรึงค่าเอฟทีเดือน ม.ค.-เม.ย.ปีหน้า เพื่อประคองภาคอุตสาหกรรม

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ได้คาดการณ์ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหรือเอ็มพีไอ ปี 66 ว่า จะขยายตัว 2.5-3.5% และอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์ มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ภาคอุตสาหกรรมจะเติบโต 2% จากปีนี้ที่คาดการณ์ว่าเอ็มพีไอจะขยายตัวอยู่ที่ 1.9% และจีดีพี ภาคอุตสาหกรรมจะเติบโต 2% จากปีที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากอุปสงค์ภายในประเทศที่เติบโตจากภาคการท่องเที่ยว มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ รายได้เกษตรกรที่เพิ่มขึ้น ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยง ที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย ที่กระทบต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้า นโยบายซีโร่โควิด-19 ของจีน เงินเฟ้อที่ยังคงทรงตัวระดับสูง อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น

“เอ็มพีไอเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา อยู่ที่ 93.89 ลดลง 3.71% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เนื่องจากการปิดซ่อมบำรุงใหญ่ของโรงงานในอุตสาหกรรมน้ำมันปิโตรเลียม และอุตสาหกรรมเม็ดพลาสติก ซึ่งจะกลับมาผลิตเป็นปกติอีกครั้งในเดือน พ.ย. แต่เอ็มพีไอ 10 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ต.ค.) ขยายตัว 2.2%”

ขณะเดียวกัน ในส่วนของการเตือนภัย ด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยระยะสั้นระหว่างเดือน พ.ย.65-ม.ค.66 และระยะยาวในเดือน ก.พ.-เม.ย.66 ยังคงส่งสัญญาณเฝ้าระวัง โดยมีประเด็นที่ต้องติดตาม ได้แก่ 1.ทิศทางราคาพลังงานทั้งภายใน และต่างประเทศทั้งราคาน้ำมัน และค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) งวดเดือน ม.ค.-เม.ย.66 ที่รัฐไม่ได้ดูแล ในส่วนของภาคอุตสาหกรรม 2.นโยบายการเงินและค่าเงินบาทที่อ่อนค่า ซึ่งเป็นผลจากการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ที่จะสูงขึ้น และค่าเงินบาทที่อ่อนค่าจะส่งผลกระทบ ต่อต้นทุนการนำเข้าสินค้าทุน 3.แนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัว โดยเฉพาะคู่ค้าหลัก อาทิ สหรัฐฯและสหภาพยุโรปที่ต้องติดตามใกล้ชิด ซึ่งอาจทำให้การส่งออกของไทยเติบโตแบบชะลอตัวลงต่อเนื่องได้

ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย ผลการสำรวจความคิดเห็นสมาชิก ส.อ.ท.ประจำ เดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ภายใต้หัวข้อ “มุมมองภาคอุตสาหกรรมต่อการปรับค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) งวดใหม่เดือน ม.ค.-เม.ย.66” จากการที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อสาธารณชน พบว่าผู้บริหาร ส.อ.ท.ส่วนใหญ่ 88.3% ต้องการให้ภาครัฐคงค่าเอฟทีงวดเดือน ม.ค.-เม.ย.66 ที่อัตรา 93.43 สตางค์ (สต.) ต่อหน่วย เพื่อให้ค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย เนื่องจากมองว่าราคาเชื้อเพลิงที่นำมาผลิตไฟฟ้ามีแนวโน้มที่จะปรับตัวลดลง และจะส่งผลทำให้ภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิง ที่นำมาผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทยอยปรับลดลงตามไปด้วย

“ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมา ผู้ประกอบการต้องแบกต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งค่าไฟ ค่าแรง วัตถุดิบ และดอกเบี้ยนโยบายที่ปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม”

ขณะเดียวกัน ในประเด็นการบริหารจัดการหนี้ ที่ต้องทยอยคืนให้กับ กฟผ. จากภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิง 83,010 ล้านบาท ผู้บริหาร ส.อ.ท. ส่วนใหญ่ 44.4% เสนอว่า กฟผ.ควรมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้สามารถรับภาระหนี้ได้มากขึ้นและนานมากกว่า 2 ปี เช่น การเพิ่มเพดานเงินกู้เฉพาะกิจ การจัดสรรวงเงินให้ยืม การชะลอการส่งเงินรายได้เข้าคลัง เป็นต้น เพื่อเพิ่มความสามารถในการบริหารจัดการหนี้และลดผลกระทบที่ผู้ใช้ไฟฟ้าจะได้รับจากการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าในอัตราที่สูงเกินไป.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ