นโยบายการเงินการคลังเข้าขา พาชาติรอดวิกฤติ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

นโยบายการเงินการคลังเข้าขา พาชาติรอดวิกฤติ

Date Time: 8 ต.ค. 2565 05:05 น.

Summary

  • เป็นข่าวใหญ่ทั่วโลกส่งท้ายเดือน ก.ย. เมื่อตลาดพันธบัตรของอังกฤษปั่นป่วนขึ้นมา เพียงเพราะรัฐบาลชุดใหม่ประกาศแนวนโยบายการคลังที่ไม่เหมาะกับบริบทประเทศ พันธบัตรรัฐบาลอังกฤษถูกเทขาย

Latest

“โกโก้ร้านไอ้ต้น” แฟรนไชส์สัญชาติไทย ปีเดียว ขยายสาขา 160 แห่งในจีน ความแปลก ที่กลายเป็นเอกลักษณ์


ดร.ฐิติมา ชูเชิด Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์

เป็นข่าวใหญ่ทั่วโลกส่งท้ายเดือน ก.ย. เมื่อตลาดพันธบัตรของอังกฤษปั่นป่วนขึ้นมา เพียงเพราะรัฐบาลชุดใหม่ประกาศแนวนโยบายการคลังที่ไม่เหมาะกับบริบทประเทศ พันธบัตรรัฐบาลอังกฤษถูกเทขายรุนแรงหลังการแถลงนโยบายการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลนางลิซ ทรัสส์ ค่าเงินปอนด์ร่วงหนัก จนธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ต้องประกาศอัดฉีดสภาพคล่องเข้าตลาดพันธบัตรรัฐบาลวงเงิน 65 พันล้านปอนด์ นับเป็นพายุอีกลูกที่พัดปัญหาเสถียรภาพตลาดการเงินเข้ามาซ้ำเติมพายุเงินเฟ้อที่เป็นปัญหาใหญ่ของอังกฤษอยู่ตอนนี้

วันนี้จึงอยากชวนผู้อ่านมาถอดบทเรียนของอังกฤษกันค่ะว่า นโยบายการเงินการคลังที่ไม่เข้าขากัน มองความสำคัญของปัญหาเศรษฐกิจมหภาคในระยะสั้นยาวต่างกัน อาจพาให้ประเทศเผชิญปัญหาเศรษฐกิจ

เมื่อวันที่ 23 ก.ย. รัฐมนตรีคลังของอังกฤษ นายกวาซี กวาร์เทง ประกาศแนวนโยบายการคลังใหม่มุ่งเป้าให้เศรษฐกิจเติบโต 2.5% ผ่าน (1) นโยบายลดภาษีครั้งใหญ่ของอังกฤษนับตั้งแต่ปี 1972 เช่น ยกเลิกเพดานอัตราภาษีเงินได้บุคคลสูงสุดที่ 45% และลดอัตราภาษีเงินได้ขั้นต่ำมาอยู่ที่ 19% (รวมมูลค่า 45 พันล้านปอนด์) ขยายเพดานการยกเว้นอากรแสตมป์ที่ดินสำหรับผู้ซื้อบ้านราคาไม่เกิน 250,000 ปอนด์ ยกเลิกแผนของรัฐบาลชุดก่อนที่จะขึ้นอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 19% เป็น 25% และแผนจัดเก็บ National Insurance Contributions เพิ่มอีก 1.25% (2) นโยบายตรึงบิลค่าพลังงานของครัวเรือน ที่ 2,500 ปอนด์/ปี จนถึงปี 2024 และช่วยค่าพลังงานของภาคธุรกิจ (มูลค่า 60 พันล้านปอนด์ในช่วง 6 เดือนแรก) และ (3) นโยบายปฏิรูปด้านอุปทาน เร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ และสร้างเขตการลงทุนพิเศษทั่วประเทศโดยให้สิทธิประโยชน์จูงใจทางภาษี

นโยบายการคลังแบบ Trussonomics ต้องการยกระดับเศรษฐกิจในระยะยาวจากนโยบายด้านอุปทาน คาดหวังว่าภาคธุรกิจจะนำรายจ่ายภาษีที่ประหยัดได้ไปลงทุน/จ้างงานเพิ่ม ซึ่งเคยใช้ได้ผลในยุคนายกรัฐมนตรีมาร์กาเรต แทตเชอร์ โดยไม่ได้คิดให้รอบคอบว่า บริบทประเทศและจังหวะเวลาเหมาะสมหรือไม่ การประกาศแพ็กเกจกระตุ้นทางการคลังในยามประเทศเจอปัญหาเงินเฟ้อปีนี้ที่อาจทะยานถึง 10% จะยิ่งเติมเชื้อกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ และเพิ่มโอกาสให้เศรษฐกิจอังกฤษเข้าสู่ภาวะถดถอยเร็วยิ่งขึ้น เพราะนโยบายการเงินอาจต้องตึงตัวแรงขึ้นอีก เทียบกับการเร่งขึ้นดอกเบี้ยทุกรอบประชุมจากต้นปีที่ติดลบมาเป็น 2.25% ขณะที่นโยบาย Trussonomics จะทำให้เสถียรภาพการคลังเปราะบางยิ่งขึ้น ซ้ำเติมปัญหาขาดดุลการคลังสูงและหนี้สาธารณะ

หลายฝ่ายวิจารณ์ว่า รัฐบาลอังกฤษประกาศแนวนโยบายการคลังที่ขาดความรับผิดชอบต่อประเทศ เพราะ (1) Unfunded tax cut รัฐบาลไม่ระบุวิธีหารายได้อื่นมาทดแทน นอกจากการกู้ และบางมาตรการเอื้อคนรวย ซ้ำเติมปัญหาความไม่เท่าเทียม (2) Untargeted spending รัฐบาลไม่เจาะจงช่วยเฉพาะกลุ่มเปราะบางในยามพื้นที่การคลังเหลือน้อยลง และ (3) Fiscal sustainability รัฐบาลมุ่งมั่นจะปฏิรูปภาษีเพื่อยกระดับเศรษฐกิจในระยะยาว แต่ก็อาจมองได้ว่ารัฐบาลจะทำนโยบายประชานิยม ส่งผลให้เสถียรภาพการคลังไม่ยั่งยืนได้ ซึ่งต่อมาในวันที่ 3 ก.ย. รัฐบาลอังกฤษก็ยอมกลับลำไม่ยกเลิกเก็บอัตราภาษีเงินได้สูงสุดที่ 45% แล้ว แต่ยังอยากจะผลักดันนโยบายอื่นต่อ

ย้อนมองไทยนับว่ามีจุดแข็งเชิงสถาบันในการประสานนโยบายการเงินการคลัง สามารถทยอยถอนแรงกระตุ้นทำ policy normalization มุ่งให้เศรษฐกิจฟื้นไม่สะดุดและไม่ละเลยปัญหาเงินเฟ้อสูง ทีมเวิร์กมี นโยบายการเงินการคลังที่มุ่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจมหภาคได้สอดคล้องกัน จะช่วยให้ประเทศรอดพ้นจากพายุวิกฤติได้ทุกลูกในที่สุดค่ะ.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ