ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงการคลัง ว่า กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ทำหนังสือถึงกระทรวงการคลัง เพื่อขอหารือการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพิ่ม สำหรับที่ดินรกร้างว่างเปล่าใจกลางกรุงเทพฯ ที่ไม่ต้องการเสียภาษีในอัตราภาษีที่ดินรกร้างว่างเปล่า เนื่องจากเป็นอัตราที่สูง ส่งผลให้เจ้าของที่ดินหันมาปลูกกล้วย มะนาว เพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีที่ดินรกร้างว่างเปล่า แล้วหันมาจ่ายภาษีที่ดินเพื่อเกษตรกรแทนเพราะเป็นอัตราที่ต่ำสุด
ทั้งนี้ เพื่อมิให้เกิดการหลีกเลี่ยงภาษีที่ดินจากการแปลงสภาพที่ดินว่างเปล่าเป็นที่ดินเพื่อการเกษตร กทม.จึงเสนอแนวคิดให้นำกฎหมายผังเมือง หรือการกำหนดพื้นที่ หรือโซนนิ่งมาใช้ควบคู่กับกฎหมายที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งต้องไปศึกษารายละเอียดว่าจะสามารถนำมาใช้ควบคู่กันได้หรือไม่ เพราะในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีบางพื้นที่มีอาชีพการทำเกษตรกรรม บางพื้นที่ไม่ได้ทำเพื่อเกษตรกรรม แต่มีการปลูกกล้วย ปลูกมะนาว เพื่อหลีกเลี่ยงการชำระภาษี หากเลือกวิธีการเพิ่มอัตราภาษีประเภทที่ดิน
เพื่อการเกษตรให้สูงขึ้นก็จะกระทบต่อเกษตรกรตัวจริง ส่วนกฎหมายว่าด้วยผังเมืองนั้น เป็นกฎหมายที่ควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อวางผังเมือง ขณะที่กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นกฎหมายจัดเก็บภาษีจากมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยอัตราภาษีแยกตามประเภทที่ดิน คือ ที่ดินเพื่อการเกษตร, ที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย, ที่รกร้างว่างเปล่า และประเภทอื่นๆ เช่น เพื่อการพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม
สำหรับการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นการจัดเก็บตามมูลค่าที่ดิน และเก็บตามช่วงมูลค่าเป็นขั้นบันใด โดยกำหนดอัตราภาษีแนะนำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ รวมถึงกรุงเทพมหานครใช้ในการจัดเก็บ เช่น กรณีที่ดินเพื่อการเกษตร มูลค่า 0-75 ล้านบาท จัดเก็บอัตรา 0.01%, มากกว่า 75-100 ล้านบาท จัดเก็บอัตรา 0.03% และ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป จัดเก็บในอัตรา 0.1% ส่วนที่ดินรกร้างว่างเปล่า กรณีมูลค่าที่ดินไม่เกิน 50 ล้านบาท เสียอัตรา 0.3% และ มากกว่า 50-200 ล้านบาท เก็บในอัตรา 0.4% เป็นต้น
ทั้งนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถเพิ่มอัตราภาษีได้ แต่ต้องไม่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด เช่น กรณีที่ดินเพื่อการเกษตรกำหนดเพดานไว้สูงสุดไม่เกิน 0.15% แต่หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดต้องการจะเพิ่มอัตราภาษีให้สูงกว่าอัตราแนะนำ จะต้องเสนอให้คณะกรรมการตามกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นผู้อนุมัติ ขณะที่ กทม.ได้รับการยกเว้น สามารถดำเนินการได้ด้วยตัวเองไม่จำเป็นต้องเสนอขออนุมัติแต่อย่างใด.