ดร.นครินทร์ อมเรศ ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลกหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นสิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่มีที่มาที่ไปที่ทำให้เราพอจะจับทางและคาดการณ์ได้ พฤติกรรมทางสังคม การทำงาน การเรียนการสอน การบริโภค และการใช้ชีวิตที่เราอยู่ร่วมกับโควิด-19 มาตลอดระยะเวลาเฉียดๆ สามปี ทำให้เราสร้างความคุ้นชินใหม่ๆ ลองคิดง่ายๆ ว่านักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาในปีนี้ เป็นกลุ่มที่ใช้เวลาเกินครึ่งในการเรียนการสอนออนไลน์ ซึ่งแม้ว่าเราจะไม่ต้องล็อกดาวน์กันอีกต่อไปแล้ว แต่บัณฑิตจบใหม่เหล่านี้ก็อาจจะมีบางส่วนที่ต้องทำงานผ่านช่องทางออนไลน์ต่อไปอีก ในวันนี้จึงขอชวนทุกท่านมาแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับกลุ่ม First Jobber หรือแรงงานแรกเข้าที่ไม่เคยทำงานมาก่อน ภายใต้โลกหลังโควิด-19
แน่นอนว่า First Jobber ในปัจจุบันคงไม่ได้มีเพียงบัณฑิตใหม่หมาดที่จบการศึกษาปีนี้ แต่อาจนับรวมบัณฑิตตกค้างจากปีก่อนๆ ที่ไม่สามารถหางานได้ในช่วงโควิด-19 แต่ตัวเลขตลาดแรงงานในครึ่งปีแรกของสำนักงานสถิติแห่งชาติได้สะท้อนทิศทางด้านบวกผ่านตัวเลขผู้ว่างงานที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคบริการที่กลับมาเป็นปกติ และภาคการผลิตที่ยังได้อานิสงส์จากการส่งออกสินค้าที่ยังเติบโตดี แบบสำรวจภาวะการมีงานทำของประชากร ไม่เพียงแต่จะแสดงข้อมูลด้านการทำงาน แต่ยังมีข้อมูลน่าสนใจเกี่ยวกับค่าจ้าง ซึ่งหากใช้แบบจำลองทางเศรษฐมิติคัดกรองค่าจ้างและพฤติกรรมการทำงานของ Fist Jobber แล้ว จะพบประเด็นน่าสนใจบางประการ ดังนี้
แรงงานจบใหม่ต้องได้รับค่าจ้างน้อยกว่าแรงงานมีประสบการณ์และจบสูงกว่าได้ค่าจ้างมากกว่า? พนักงานเสิร์ฟอาหารใน กทม. ที่คนใหม่ได้เงินเดือนเฉลี่ย 14,300 บาทสูงกว่าคนเก่าที่ 12,000 บาท หรืออาชีพขับรถส่งของไปรษณีย์เอกชนที่เติบโตขึ้นอย่างมากตามกระแส E-commerce ที่คนใหม่และคนเก่าได้เงินเดือนเท่ากันที่ 15,000 บาท ขณะที่แรงงานจบใหม่วุฒิมัธยมปลายในโรงงานผลิตยาง/พลาสติกในพื้นที่ EEC ได้รับเงินเดือน 17,000 บาท หากทำงานหนักถึงสัปดาห์ละ 60 ชั่วโมง มากกว่าผู้ประกอบวิชาชีพด้านค้าส่งวุฒิปริญญาตรีจบใหม่ใน กทม. ที่ได้รับ 15,000 บาท
Work-life Balance สำคัญมากน้อยเพียงใด? แรงงานจบใหม่ที่มีวุฒิปริญญาโทอาจมีเงินเดือนสูงถึงเดือนละ 44,000 บาท จากการทำงานเป็นผู้บริหารในธนาคารพาณิชย์ใน กทม. แต่ต้องทำงาน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ขณะที่การเลือกไปเป็นอาจารย์ที่ต่างจังหวัดทำให้เงินเดือนเหลือ 18,600 บาท แต่ทำงานเพียงสัปดาห์ละ 32 ชั่วโมง หรือเสมียนที่ทำงานในภาคการเงินการธนาคารของรัฐที่ได้รับเงินเดือนตามวุฒิปริญญาตรีที่ 15,000 บาท แต่ทำงานเพียงแค่ 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ขณะที่ผู้จัดการร้านค้าปลีกที่มีวุฒิปริญญาตรีทำงานเฉลี่ยสัปดาห์ละ 43 ชั่วโมง จึงจะได้เงินเดือน 18,200 บาท
First Jobber ในยุคหลังโควิด-19 ไม่เพียงมีพลังงานล้นเหลือหลังอุดอู้ในช่วงล็อกดาวน์มานาน แต่ยังเป็นคนรุ่นใหม่ที่ปรับตัวเข้ากับเครื่องมือด้านดิจิทัลและเทคโนโลยี ตลอดจนสามารถปรับตัวเข้ากับวิถีชีวิตของสังคมที่เดินหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้ง ความตึงตัวของตลาดแรงงานในปัจจุบันจึงเป็นโอกาสทองในการขวนขวายทำงานสร้างรายได้ โดยไม่ต้องเกี่ยงกับวุฒิการศึกษา หรือประสบการณ์ทำงานเช่นเดียวกับในอดีต อย่างไรก็ดี ต้องไม่ลืมว่าในอนาคตก็จะมี First Jobber ระลอกใหม่ๆเข้ามาแทนที่เราได้ตลอดเวลา การเตรียมความพร้อมยกระดับ/ปรับทักษะจะยังเป็นกุญแจสำคัญให้สามารถสร้างรายได้ เติบโตในหน้าที่การงาน พร้อมกับมีสวัสดิการรองรับให้กับครอบครัวภายใต้การเปลี่ยนแปลงทุกสถานการณ์.