ส่อตรึงราคาต่อไม่ไหว! หลังกองทุนน้ำมันติดลบแสนล้าน คาดพลังงานเตรียมเสนอผ่อนคลายการอุดหนุนราคาพลังงานเหลือ 1 ใน 3 จากคนละครึ่ง แต่ยังเน้นช่วยกลุ่มเปราะบางมากขึ้น ขณะที่เงินกู้ที่จะมาอุดหนุนยังไม่ชัดเจนรอกลางเดือน ก.ค.นี้ ด้านคณะกรรมการขนส่งทางบกกลางไฟเขียวรถร่วมบริการ บขส.ปรับค่าโดยสาร 5 สต.ต่อ กม.เริ่ม 4 ก.ค.นี้ แต่ให้ บขส.ยังคงค่าโดยสารต่ออีก 3 เดือน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่สงครามรัสเซีย-ยูเครนมีความยืดเยื้อ ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานตลาดโลกรวมถึงประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการดูแลพลังงานของประเทศ มีแนวคิดว่าควรจะต้องทบทวนแนวทางการอุดหนุนราคาพลังงานในประเทศให้มีความเหมาะสมมากขึ้น จากปัจจุบันที่รัฐบาลมีนโยบายให้อุดหนุนราคาเหลือครึ่งหนึ่งเพื่อตรึงราคาขายปลีกดีเซลไม่ให้เกิน 35 บาทต่อลิตร จากก่อนหน้านี้ให้กองทุนน้ำมันอุดหนุน 100% เพื่อตรึงไว้ไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร
โดยการดำเนินการดังกล่าว รัฐบาลจะต้องหาเงินมาช่วยสนับสนุนกองทุนน้ำมันอย่างต่อเนื่อง เพราะขณะนี้สถานะของกองทุนน้ำมันจะติดลบต่อเนื่อง ตราบใดที่รัฐบาลยังมีนโยบายอุดหนุนราคาพลังงาน และยังไม่มีเงินจากแหล่งเงินใดเข้ามาเสริมสภาพคล่อง แม้ว่ากองทุนน้ำมันได้ทยอยผ่อนคลายการอุดหนุนมาเป็นระยะๆ แต่ยังคงมาตรการช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเปราะบางและอาจจะต้องเน้นความช่วยเหลือให้มากขึ้น โดยเฉพาะพ่อค้า แม่ค้า ผู้มีรายได้น้อยและอุตสาหกรรมภาคขนส่งที่มีผลต่อราคาสินค้าให้สามารถซื้อน้ำมันให้ได้ในราคาถูกกว่าในตลาด
“ในระยะต่อไปอาจต้องทบทวนมาตรการให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ราคาพลังงานตลาดโลกที่ผันผวนสูง แต่ไม่ถึงกับปล่อยลอยตัว เพราะจะกลายเป็นการสร้างปัญหาหนักเกินไป เช่น อาจปรับลดการอุดหนุนเหลือ 1 ใน 3 หรือ 1 ใน 4 ของราคาเชื้อเพลิงได้หรือไม่ จากปัจจุบันอุดหนุนอยู่ครึ่งหนึ่ง ส่วนประชาชนที่มีกำลังซื้อสูงกว่า รัฐอาจช่วยเหลือในเรื่องการให้ส่วนลดผ่านโครงการต่างๆ เช่น ชิมช็อปใช้ หรือเที่ยวด้วยกันต่อไป เป็นต้น”
ทั้งนี้ กองทุนน้ำมันยังติดตามและประเมินสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกอย่างใกล้ชิด และอยากให้เน้นช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มเปราะบางให้ได้มากที่สุด แต่จะมีการปรับเพดานอุดหนุนหรือราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลหรือไม่ ไม่สามารถตอบได้ เพราะผู้ค้าน้ำมันอาจมีการกักตุนน้ำมันหากทราบว่าจะมีการปรับราคาขึ้นหรือลงล่วงหน้า เพราะฉะนั้นต้องประเมินสถานการณ์กันวันต่อวัน
ล่าสุด ปัจจุบันกองทุนน้ำมันสถานะติดลบ 102,000 ล้านบาท โดยได้ใช้เงินอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซล 11.07 บาทต่อลิตร ไม่ให้เกิน 35 บาทต่อลิตร ซึ่งราคาที่แท้จริงจะต้องอยู่ที่ 46.01 บาทต่อลิตร คิดเป็นเงินไหลออกจากกองทุนวันละ 700 ล้านบาท หรือเดือนละ 20,000 ล้านบาท ส่วนก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ก็ได้ปรับขึ้นกิโลกรัม (กก.) ละ 1 บาททุกเดือน ทำให้กองทุนอุดหนุนแอลพีจีวันละ 47 ล้านบาท หรือเดือนละประมาณ 1,400 ล้านบาท
สำหรับความคืบหน้าการกู้เงินมาเสริมสภาพคล่องของกองทุน น้ำมันเพื่ออุดหนุนราคาพลังงาน ซึ่งขณะนี้แนวทางต่างๆอยู่ระหว่างเจรจา ซึ่งในส่วนของการขอกู้เงินจากสถาบันการเงินคาดว่าจะได้ข้อสรุปในเดือน ก.ค.นี้โดยกองทุนยังยืนยันขอกู้ที่วงเงิน 20,000 ล้านบาทตามความจำเป็นและเหมาะสม เพราะกองทุนน้ำมันยังมีเงินที่ฝากไว้กับกระทรวงการคลังและธนาคารพาณิชย์รวม 3,300 ล้านบาท และเงินที่ต้องชำระผู้ค้ามาตรา 7 หมุนเวียนใช้อีกวันละประมาณ 79.50 ล้านบาท โดยที่กองทุนน้ำมันไม่ได้ผิดนัดค้างชำระแต่อย่างใด ขณะที่ความคืบหน้าเรื่องการนำกำไรส่วนเกินของโรงกลั่นมาเสริมสภาพคล่องกองทุนน้ำมันล่าสุด สำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) อยู่ระหว่างดำเนินการเจรจา คาดว่าจะได้ข้อสรุป ในเร็วๆนี้
วันเดียวกัน ที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง ซึ่งมีนายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้พิจารณาผลกระทบจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นเทียบกับอัตราค่าโดยสารรถประจำทาง พบว่า อัตราค่าโดยสารในปัจจุบันสะท้อนราคาน้ำมันที่ระดับ 27 บาทต่อลิตร ซึ่งปัจจุบันราคาน้ำมันดีเซลขยับราคาขึ้นมาเป็น 35 บาทต่อลิตร ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการรถโดยสารให้ได้รับความเดือดร้อนและเตรียมปรับลด-หยุดเที่ยววิ่ง โดยที่ประชุมมีมติอนุมัติให้ปรับขึ้นค่าโดยสารรถประจำทางหมวด 2 (วิ่งระหว่างกรุงเทพฯ-ต่างจังหวัด) และหมวด 3 (วิ่งระหว่างจังหวัด-จังหวัด และอำเภอ-อำเภอ) ให้ปรับขึ้นค่าโดยสารในอัตรา 5 สตางค์ต่อกิโลเมตร ซึ่งเป็นอัตราที่ปรับขึ้นแล้วเท่าทุน ผู้ประกอบการสามารถดำเนินกิจการได้ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้โดยสารจนเกินไป มีผลตั้งแต่วันที่ 4 ก.ค.นี้ แต่ในส่วนรถ บขส.ยังให้ตรึงค่าโดยสารต่ออีก 3 เดือน เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชน พร้อมให้เตรียมรถให้เพียงพอต่อความต้องการเดินทางของประชาชน.