ครม.ทุ่มงบ 3.3 แสนล้านเนรมิต “อีอีซี” ยกระดับโครงข่ายคมนาคม ขึ้นศูนย์กลางเศรษฐกิจภูมิภาค

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ครม.ทุ่มงบ 3.3 แสนล้านเนรมิต “อีอีซี” ยกระดับโครงข่ายคมนาคม ขึ้นศูนย์กลางเศรษฐกิจภูมิภาค

Date Time: 29 มิ.ย. 2565 08:05 น.

Summary

  • ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบมติคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) พร้อมเห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการโครงสร้างพื้นฐานฯ พ.ศ.2566- 2570 ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

Latest

“เจ้าสัวธนินท์” มองโลก มองธุรกิจ เชื่อมือ รัฐบาล ดันไทยเป็น “ฮับการเงิน” ปลุกผู้ค้าก้าวทัน AI-เทคฯ

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบมติคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) พร้อมเห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการโครงสร้างพื้นฐานฯ พ.ศ.2566- 2570 ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ประกอบด้วย โครงการด้านโครงสร้างพื้นฐาน และสาธารณูปโภค รวมถึงมาตรการส่งเสริมและเทคโนโลยี เพื่อยกระดับโครงข่ายคมนาคม 77 โครงการ กรอบวงเงินรวม 337,797 ล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนโดยภาครัฐ 53% จำนวน 61 โครงการ วงเงินรวม 178,578 ล้านบาท การลงทุนโดยเอกชน โครงการร่วมลงทุนกับภาคเอกชน (พีพีพี) 16 โครงการ วงเงินรวม 159,219 ล้านบาท คิดเป็น 47% เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายระบบคมนาคม สนับสนุนระบบโลจิสติกส์และระบบขนส่งสาธารณะแบบไร้รอยต่อ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและให้อีอีซีเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของภูมิภาค

โดยแบ่งเป็นระยะเร่งด่วน เริ่มต้นปี 2566 จำนวน 29 โครงการวงเงิน 125,599 ล้านบาท เช่น โครงการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนรองเพื่อรองรับรถไฟความเร็วสูง (HSR) ระยะที่ 1 (ชลบุรี-บ้านบึง-EECi และระยอง-บ้านค่าย-EECi ) โครงการก่อสร้างไฮ สปีด แท็กซี่ เวย์ และแท็กซี่ เวย์ เพิ่มเติมของท่าอากาศยานอู่ตะเภา โครงการพัฒนาระบบการจราจรขนส่งอัจฉริยะ โครงการจัดหาพลังงานสะอาด ขณะที่โครงการระยะกลาง (2567-2570) มีจำนวน 48 โครงการ วงเงินรวม 212,197 ล้านบาท ได้แก่ โครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ ช่วงศรีราชา-ระยอง โครงการติดตั้งโครงสร้างพื้นฐานของระบบ M-Flow บนมอเตอร์เวย์สาย 7 โครงการพัฒนาการให้บริการท่าเรือเชิงพาณิชย์ (ท่าเรือสัตหีบ) โครงการ Dry Port ฉะเชิงเทรา โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือแหลมบาลีฮาย ระยะที่ 1

นายธนกรกล่าวว่า ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับด้านเศรษฐกิจ เช่น เกิดการจ้างงานระหว่างก่อสร้าง ปี 2566-2570 เฉลี่ยประมาณ 20,000 ตำแหน่ง/ปี และปี 2571-2580 ประมาณ 12,000 ตำแหน่ง/ปี

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า นอกเหนือจากแผนที่ ครม.เห็นชอบในครั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ในพื้นที่อีอีซีมีแผนระยะต่อจากปี 2571 เป็นต้นไป ที่จะดำเนินการอีก 29 โครงการ วงเงินรวม 420,319 ล้านบาท เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูง ระยอง-จันทบุรี-ตราด (ช่วงระยอง-ตราด) กิจกรรมการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมการบินในท่าอากาศยานอู่ตะเภา โครงการทางหลวงระหว่างเมืองกรุงเทพฯ-อรัญประเทศ.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ