ระเบิดเวลาที่นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า ออกมาแฉว่า ท่ามกลางสถานการณ์ราคาน้ำมันแพงลิ่วในปัจจุบัน คนไทยกำลังถูกปล้นค่าการกลั่นจากโรงกลั่นน้ำมันในประเทศไทย ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
โดยระบุว่าค่าการกลั่น ในปี 2564 ที่ผ่านมา อยู่ที่เพียงลิตรละ 0.87 บาท แต่ในปี 2565 ราคาน้ำมันขายปลีกที่พุ่งขึ้น ได้ทำให้ค่าการกลั่นพุ่งไปที่ 8.56 บาทต่อลิตร เพิ่มขึ้นถึง 10 เท่าตัว ทั้งๆ ที่ต้นทุนการกลั่นไม่ได้เพิ่มขึ้น ส่งผลให้โรงกลั่นมีกำไรมหาศาล จึงได้เสนอให้มีการลดค่าการกลั่นลงมาเท่ากับปี 2564 เพื่อทำให้ราคาน้ำมันถูกลงมาได้ถึงลิตรละ 7 บาท
งานจึงเข้ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รวมถึงนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน ที่กำลังถูกจับตามองจากคนไทยทั้งประเทศว่า เหตุใดจึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันได้อย่างมีนัยสำคัญให้มากกว่านี้
โดยเฉพาะราคาน้ำมันดีเซล ที่เป็นเชื้อเพลิงหลักในการขนส่งคมนาคม ที่มีความต้องการใช้กว่า 60 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพราะทันทีที่ราคาดีเซลพุ่งขึ้น 1 บาทต่อลิตร ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น 1 บาทต่อลิตร หรือคิดเป็นต้นทุนค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น 3% สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทยก็เตรียมปรับขึ้นค่าขนส่งสินค้าอีก 3%
ที่สำคัญเมื่อค่าขนส่งปรับขึ้นราคาสินค้าทุกชนิดก็จะต้องปรับขึ้นตาม ส่งผลให้ผู้บริโภคแบกรับภาระค่าครองชีพอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ปัญหาดังกล่าวเริ่มรุนแรงขึ้นตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา แต่ในช่วงนั้นรัฐบาลมองว่าเป็น “ปัญหาระยะสั้น” จากกรณีสงครามรัสเซีย-ยูเครน การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจากวิกฤติโควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลาย และภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกเริ่มฟื้นตัว
ขณะที่โอเปกพลัสซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ ไม่ได้เพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันดิบออกมาสู่ตลาดโลก
สถานการณ์วันนี้จึงกลายเป็นวิกฤติที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทย เป็น “วิกฤติราคาน้ำมันที่ซ้อนวิกฤติเศรษฐกิจซบเซา”
อย่างไรก็ตาม แม้จะหนักหนาสาหัส แต่รัฐบาลในฐานะผู้นำประเทศก็ปฏิเสธไม่ได้ จำเป็นต้องหาทางที่ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้มากที่สุด และไม่ใช่แค่ให้ประชาชนยึดคติ “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” เหมือนกับที่นายสุพัฒนพงษ์เคยกล่าวไว้ก่อนหน้านี้
“ทีมเศรษฐกิจ” ขอฉายภาพแห่งความเป็นจริงในเรื่องดังกล่าว ทั้งสถานการณ์ราคาน้ำมันโลก ทิศทางราคาน้ำมันในประเทศ ค่าการกลั่นเจ้าปัญหา ตลอดจนกรณีศึกษาของหลายๆประเทศที่มีวิธีฟันฝ่าวิกฤติในเรื่องนี้ไปได้อย่างไร ดังนี้....
เริ่มต้นที่สถานการณ์ล่าสุด หลังจากรัฐบาลได้เริ่มขยับเพดานราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลมาต่อเนื่อง ตั้งแต่สิ้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.ที่ผ่านมา ได้พิจารณาทบทวนราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลประจำสัปดาห์อีกครั้ง
โดยมีมติให้ปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลลิตรละ 1 บาท ส่งผลให้ราคาขายปลีกดีเซลปรับจากลิตรละ 33.94 บาท เป็นลิตรละ 34.94 บาท ตั้งแต่วันที่ 14 มิ.ย.ที่ผ่านมา ใกล้แตะ 35 บาทต่อลิตร ซึ่งเปรียบเสมือนฟางเส้นสุดท้ายที่คนไทยยากจะยอมรับได้
สาเหตุของการปรับราคาเนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกมีความผันผวนมาก ราคาน้ำมันดีเซล (Gas Oil) อยู่ที่ 172.77 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นจากต้นเดือน มิ.ย.ที่มีราคา 158.29 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล
เป็นผลมาจากความต้องการใช้น้ำมันที่มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นต่อเนื่องจากสหรัฐฯ ที่ตลาดแรงงานเติบโตอย่างแข็งแกร่งในเดือน พ.ค. และจีนที่เริ่มทยอยคลายมาตรการล็อกดาวน์ที่เมืองเซี่ยงไฮ้และกรุงปักกิ่ง ซึ่งจะส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ของจีนคาดว่าจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง
และถึงแม้ว่ากลุ่มโอเปกพลัสมีมติปรับเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นราว 648,000 บาร์เรลต่อวันในเดือน ก.ค. และ ส.ค. ซึ่งมากกว่าข้อตกลงเดิมที่จะเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันเพียง 432,000 บาร์เรลต่อวัน จนถึงเดือน ก.ย.
แต่นักวิเคราะห์ราคาน้ำมันหลายแห่ง คาดว่าปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นจริงจะค่อนข้างจำกัด เนื่องจากกำลังการผลิตหลักของกลุ่มโอเปกพลัสยังมีจำกัดและส่วนใหญ่อยู่ที่ซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และจากนี้ไปหากสงครามรัสเซีย-ยูเครนยังยืดเยื้อต่อไป บรรดานักวิเคราะห์ราคาน้ำมันก็ยังยืนยันว่าราคาน้ำมันยังจะผันผวนไปจนถึงสิ้นปีนี้
ขณะที่ในประเทศไทย แม้ว่ารัฐบาลได้พยายามอย่างเต็มที่แล้วในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวในช่วงที่ผ่านมา แต่อาจเป็นเพราะความชะล่าใจคิดว่าวิกฤตินี้จะเกิดขึ้นไม่นานนัก จึงไม่ได้เตรียมทางหนีทีไล่เอาไว้ล่วงหน้า
โดยมาตรการช่วยเหลือด้านราคาน้ำมันดีเซลในช่วงแรก ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 22 มี.ค.ที่ผ่านมา ได้สั่ง ตรึงราคาเพดานไม่เกิน 30 บาทต่อลิตรในเดือน เม.ย.และใช้วิธีอุ้มส่วนเกินเพดานราคาที่ปรับขึ้นเพียงครึ่งหนึ่งหรือนโยบาย “ดีเซลคนละครึ่ง” โดยอีกครึ่งหนึ่งของราคาที่ต้องปรับขึ้น จะให้ประชาชนร่วมรับภาระในเดือน พ.ค.-มิ.ย.นี้ แต่จะมีการทยอยปรับขึ้นลงตามสถานการณ์เป็นรายสัปดาห์
ขณะที่เมื่อวันที่ 27 เม.ย. กบน.ได้เห็นชอบให้ขึ้นราคาดีเซลแบบขั้นบันไดเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 พ.ค.และกำหนดเพดานใหม่เป็นไม่เกิน 35 บาทต่อลิตร จากเดิม 30 บาทต่อลิตรโดยยึดหลักตามมติ ครม.ที่ว่าส่วนเกิน 30 บาทต่อลิตร กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะเข้าไปอุดหนุนครึ่งหนึ่งและราคาปรับขึ้นตามจริงครึ่งหนึ่ง
ปรากฏว่า ราคาดีเซลตลาดโลกดีดตัวขึ้นแตะ 142 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ซ้ำเติมด้วยค่าเงินบาทที่อ่อนค่า ได้ทำให้ต้นทุนที่แท้จริงของราคาดีเซลขายปลีกในประเทศอยู่ที่ 40 บาทต่อลิตร และหากราคาต้องปรับขึ้นทันที ราคาที่ตรึงไว้ที่ 30 บาทต่อลิตร จะพุ่งไปที่ 35 บาทต่อลิตร
กบน.จึงต้องขยับเพดานเป็น 32 บาทต่อลิตร และค่อยๆขยับราคาขึ้นมาที่ราคาปัจจุบัน ขณะที่ราคาที่แท้จริง ณ ขณะนี้ พุ่งขึ้นไปเป็น 45 บาทต่อลิตร
นอกจากนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.เป็นต้นไปราคาจำหน่ายก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ขนาดถัง 15 กิโลกรัม (กก.) กบน.ได้อนุมัติให้ปรับขึ้นราคาอีก 0.93 บาทต่อ กก.ขึ้นไป อยู่ที่ 378 บาทต่อถัง วันที่ 1 ส.ค.อยู่ที่ 393 บาทต่อถัง วันที่ 1 ก.ย.อยู่ที่ 408 บาทต่อถัง จากราคาจริงที่ 460 บาทต่อถัง ด้วยการใช้เงินกองทุนน้ำมันเข้าไปอุดหนุนเช่นกัน
การอุดหนุนราคาดีเซลและก๊าซหุงต้มได้ทำให้สถานภาพของกองทุนน้ำมัน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาติดลบรวม 91,089 ล้านบาท และเพื่อแก้ปัญหาขาดสภาพคล่องดังกล่าว รัฐบาลจึงได้มอบให้กองทุนน้ำมันไปขอกู้เงินจากสถาบันการเงินก้อนแรก 20,000 ล้านบาท มาเพื่อเสริมสภาพคล่อง ซึ่งสามารถขอกู้ได้รวม 40,000 ล้านบาท แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่สามารถขอกู้ได้ เนื่องจากติดขัดกรณีที่กองทุนน้ำมันไม่ได้มีสถานะเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงพลังงาน ทำให้สถาบันการเงินยังไม่พิจารณาปล่อยกู้แม้ว่าจะมีการเจรจากันมาตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา
ทำให้ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ต้องปฏิบัติการชักฟืนออกจากกองไฟ เพื่อแก้ปัญหาระยะสั้นๆ ก่อนไฟจากราคาน้ำมันจะรุกถล่มรัฐบาลจนนำไปสู่เหตุการณ์ไม่คาดคิดเหมือนในวิกฤติน้ำมันในบางประเทศก่อนหน้านี้ โดยได้เรียกประชุมหน่วยงานเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อหามาตรการเยียวยาภาระค่าครองชีพของคนไทย
หนึ่งในมาตรการที่ถือว่าเป็นการขายผ้าเอาหน้ารอดในเรื่องราคาน้ำมันก็คือ การขอความร่วมมือผู้ค้าน้ำมันให้คงค่าการตลาดดีเซลไว้ที่ 1.40 บาทต่อลิตร และขอความร่วมมือโรงกลั่นน้ำมันในการขอให้นำส่งกำไรส่วนต่างที่เกิดขึ้นจากการกลั่นน้ำมันเป็นเวลา 3 เดือน ระหว่างเดือน ก.ค.-ก.ย.นี้
โดยคาดว่าจะสามารถเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันได้ 6,000-7,000 ล้านบาทต่อเดือน แยกเป็น 1.กลุ่มน้ำมันดีเซลจะนำเงินกำไรส่วนต่างที่เก็บได้เดือนละ 5,000-6,000 ล้านบาท ส่งเข้ากองทุนน้ำมันเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับกองทุนน้ำมัน 2.กลุ่มน้ำมันเบนซินจะนำเงินกำไรส่วนต่างที่เก็บได้เดือนละ 1,000 ล้านบาท มาลดราคาให้กับผู้ใช้น้ำมันเบนซินละลิตร 1 บาท เริ่มต้นภายในเดือน ก.ค.นี้
3.ขอความร่วมมือกับโรงแยกก๊าซธรรมชาติที่มีต้นทุนก๊าซหุงต้มที่จำหน่ายเป็นวัตถุดิบในภาคปิโตรเลียมที่มีกำไรส่วนเกิน ที่จะดึงเงินกำไรส่วนเกินออกมา 50% มาใส่เข้าไปในกองทุนน้ำมัน คาดว่าจะได้เงิน 1,500 บาทต่อลิตร
รวมๆแล้วการเจรจาของรัฐบาลกับโรงกลั่น จะได้เงินมาร่วม 24,000 ล้านบาท มาช่วยแบ่งเบาภาระคนไทย ถือว่าเป็นไพ่ใบสุดท้ายที่รัฐบาลจะหยิบขึ้นมาแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันไปอีก 3 เดือนข้างหน้า
พร้อมขอความร่วมมือกับภาคเอกชนช่วยประหยัดพลังงาน เช่น ปิดไฟป้ายโฆษณาและให้ห้างสรรพสินค้าปิดแอร์ก่อนปิดห้าง 1 ชั่วโมง เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม หากดูตามข้อเท็จจริง ประเด็นค่าการกลั่นเจ้าปัญหา ต้องบอกว่าเป็นเรื่องที่ต้องรับฟังกันทั้ง 2 ฝั่งคือ ภาครัฐและผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมัน
เพราะต้องทำความเข้าใจว่า “ค่าการกลั่น” คือรายได้ของโรงกลั่นน้ำมันก่อนหักค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าจ้างพนักงาน ค่าลงทุนก่อสร้างโรงกลั่น ค่าบำรุงรักษา เป็นต้น ซึ่งค่าการกลั่นมาจากส่วนต่างระหว่างต้นทุนราคาน้ำมันดิบหักลบด้วยราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่กลั่นได้ เพราะน้ำมันสำเร็จรูปที่กลั่นได้จากน้ำมันดิบก็มีหลากหลายประเภทของแต่ละโรงกลั่น เช่น น้ำมันเบนซิน ดีเซล ก๊าซหุงต้ม น้ำมันเตา น้ำมันเครื่องบิน น้ำมันก๊าด
ดังนั้น การคิดค่าการกลั่น จึงต้องใช้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปของแต่ละผลิตภัณฑ์มาหาค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักด้วยปริมาณการผลิตของประเทศ โดยในเดือน ม.ค.-มี.ค.ที่ผ่านมา 6 โรงกลั่นน้ำมันของไทย มีสัดส่วนการผลิตรวมของทุกโรงกลั่นเป็นน้ำมันดีเซล 46% น้ำมันเบนซิน 20% ก๊าซหุงต้ม 17% น้ำมันเตา 9% น้ำมันเครื่องบิน 5% ขณะที่ราคาน้ำมันดิบใช้ค่าเฉลี่ยจาก 3 แหล่ง (น้ำมันดิบดูไบ โอมาน และทาบิส) เนื่องจากมีการนำเข้าน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางเป็นหลัก
ตัวอย่าง เช่น การคำนวณค่าการกลั่นน้ำมันเมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันสำเร็จรูปเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักที่ 29.59 บาทต่อลิตร ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยที่ 24.32 บาทต่อลิตร ทำให้ค่าการกลั่นอยู่ที่ 5.27 บาทต่อลิตร
อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบโครงสร้างค่าการกลั่นน้ำมันของประเทศไทย โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ยังพบค่าการกลั่นเฉลี่ย 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค.) อยู่ที่ 3.27 บาทต่อลิตร แม้ว่าในเดือน พ.ค.อยู่ที่ 5.20 บาทต่อลิตร สูงขึ้นจากในสภาวะปกติก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 ที่เคยอยู่ที่ 2.00-2.50 บาท
ที่สำคัญ ค่าการกลั่นที่สูงขึ้นนี้ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกับค่าการกลั่นในตลาดโลก ที่เริ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังจากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด-19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครน
นอกจากนั้น สำหรับประเด็นที่มีการกล่าวกันว่าในระหว่างปี 2563-2564 ค่าการกลั่นน้ำมันเฉลี่ยอยู่ที่ 0.70 บาทต่อลิตร และ 0.89 บาทต่อลิตร ตามลำดับ ถือว่าเป็นค่าการกลั่นที่อยู่ในระดับต่ำกว่าระดับปกติ เนื่องจากผลกระทบของโควิด-19 ทำให้ความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์น้ำมันลดลง เนื่องจากมีการจำกัดการเดินทาง
กรณีของประเทศไทย รัฐบาลจำเป็นต้องออกแรงมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา เพราะจะมานั่งตีขิมบนกำแพง วาดฝันว่าราคาน้ำมันดิบโลกเมื่อมีปรับขึ้นเดี๋ยวก็จะลดลงเองตามวัฏจักรราคาเหมือนที่ผ่านมาคงเป็นไปไม่ได้ ดังที่รัฐบาลหลายๆประเทศได้เตรียมพร้อม และออกมาตรการประหยัดพลังงานในรูปแบบต่างๆ ทั้งระยะสั้น และระยะยาว
เริ่มจากประเทศญี่ปุ่น ประกาศเตือนประชาชนให้ช่วยประหยัดไฟฟ้า มิฉะนั้นอาจจะเกิดการดับไฟได้ ประชาชนจะถูกขอให้ปิดไฟที่ไม่จำเป็นและตั้งเครื่องปรับอากาศที่อุณหภูมิ 28 องศาเซลเซียส รวมถึงได้ประกาศกำหนดมาตรฐานประสิทธิภาพการใช้พลังงานใหม่สำหรับเครื่องปรับอากาศโดยปรับปรุงมาตรฐานให้ประหยัดเพิ่มขึ้น 13-37%
ประเทศฟิลิปปินส์ กำหนดให้หน่วยงานราชการลดการใช้พลังงานลง 10% ประเทศฝรั่งเศส มีมาตรการจูงใจสำหรับอาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ลดใช้พลังงานในช่วงที่ไฟฟ้าขาดแคลน และปรับไปใช้ไฟฟ้าในช่วงที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลง (off-peak)
ขณะที่ประเทศสเปนกำหนดให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐทุกแห่งทั่วประเทศ ต้องเปิดแอร์ 27 องศาเซลเซียสในหน้าร้อน และใช้พัดลมควบคู่ในการทำความเย็นและเปิดฮีทเตอร์ที่อุณหภูมิต่ำกว่าหรือเท่ากับ 19 องศาเซลเซียสในฤดูหนาว
ส่วนกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านของเรา ก็พบว่าประเทศลาวได้กำหนดมาตรการจำกัดการเติมน้ำมันในบางพื้นที่ เช่น แขวงคำม่วน ได้มีมาตรการให้ปั๊มน้ำมันเปิด 1-2 วัน/สัปดาห์ และจำกัดการเติมน้ำมัน 400,000 กีบ/ครั้ง รถแทรกเตอร์ 20 ลิตร/ครั้ง
สำหรับประเทศไทยแม้จะมีการพูดถึงมาตรการประหยัดพลังงาน แต่เป็นเพียงลมปาก ยังไม่มีการปฏิบัติการจริงจังแต่อย่างใด.
ทีมเศรษฐกิจ