ขวากหนามสลากดิจิทัล คนไทยฝันซื้อหวย 80 บาท

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ขวากหนามสลากดิจิทัล คนไทยฝันซื้อหวย 80 บาท

Date Time: 17 มิ.ย. 2565 07:01 น.

Summary

  • ประเดิมยกแรก “นโยบายแก้ปัญหาหวยแพง” เปิดสลากดิจิทัล 5 ล้านฉบับจำหน่ายไม่เกิน 80 บาท ผ่านแพลตฟอร์มแอปพลิเคชันเป๋าตัง “คอหวย” ตอบรับเกินคาดแห่ซื้อหมดเกลี้ยงภายในไม่กี่วัน

Latest

“โกโก้ร้านไอ้ต้น” แฟรนไชส์สัญชาติไทย ปีเดียว ขยายสาขา 160 แห่งในจีน ความแปลก ที่กลายเป็นเอกลักษณ์

ประเดิมยกแรก “นโยบายแก้ปัญหาหวยแพง” เปิดสลากดิจิทัล 5 ล้านฉบับจำหน่ายไม่เกิน 80 บาท ผ่านแพลตฟอร์มแอปพลิเคชันเป๋าตัง “คอหวย” ตอบรับเกินคาดแห่ซื้อหมดเกลี้ยงภายในไม่กี่วัน

กลายเป็นกระแสให้ “สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล” ส่งสัญญาณอาจเพิ่มโควตาสลากดิจิทัลเป็น 10-30 ล้านใบ “ท่ามกลางเสียงโอดครวญผู้ค้าสลากรายย่อย ผู้พิการ คนเร่ขาย” ได้รับผลกระทบยอดขายตกวูบ จนบางกลุ่มออกมาต่อต้านแสดงจุดยืนไม่สนับสนุนการขายสลากผ่านแอปพลิเคชันเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ช่วงนี้

ยกข้ออ้างเหตุผลที่ว่า “ผู้ค้าบางคน” เข้าไม่ถึงเทคโนโลยีลงทะเบียนสิทธิ์ผ่านแอปพลิเคชันโดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้พิการพร้อมเรียกร้องยื่นหนังสือถึง “นายกฯ” ขอความเป็นธรรมในนโยบายการแก้ไขปัญหาสลากกินแบ่งรัฐบาล ในเรื่องแก้สลากแพงนี้ ธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน บอกว่า

ตามหลักการแก้ปัญหาสลากแพงด้วยระบบดิจิทัลมาเป็นช่องทางการขายนี้มีความเชื่อว่า “เทคโนโลยีไม่โกงควบคุมตรวจสอบได้” ทำให้การขายสลาก 80 บาทเกิดได้จริง ด้วยปัจจัยของเทคโนโลยีที่สามารถตั้งค่ากำหนดกฎเกณฑ์ตามต้องการไว้ได้ ไม่ว่าห้ามขายเกินราคา และห้ามขายให้เด็กต่ำกว่า 18 ปีก็ทำได้

นั่นจึงเป็นที่มาว่า “สลากดิจิทัลจะเป็นเครื่องช่วยดึงราคามาอยู่ที่ 80 บาททั้งหมดได้” เพียงแต่ตอนนี้เป็นจุดเริ่มต้นเปิดขาย 5 ล้านฉบับ หรือคิดเป็น 5% ของสลากทั้งหมด ในส่วนอีก 95% ยังเดินเร่ขายเกินราคากันอยู่ ดังนั้นเมื่อ “ผู้บริโภคอยากซื้อสลาก 80 บาท” ต้องรีบเข้าแข่งขันแย่งชิงซื้อในสลากดิจิทัลผ่านแอปฯเป๋าตัง

บวกกับเป็นระบบใหม่ “ผู้คน” เห่ออยากรู้ อยากลองกลายเป็นปรากฏการณ์ขายหมดในไม่กี่วัน

สุดท้ายเมื่อ “สลากดิจิทัล 5 ล้านฉบับถูกขายหมด” ผู้บริโภคต้องกลับมาหาซื้อตามแผงตลาดดังเดิม “ที่ยังคงขายเกินราคากันเกลื่อนอยู่นั้น” คราวนี้ผู้ค้ากลับฉวยโอกาสอัปราคาขึ้นอันมีผลจาก “ยี่ปั๊วทำกำไร” โดยการปรับขึ้นราคาตามอำเภอใจแบบไม่มีเหตุผล ในบางงวดปล่อยราคาขายสูงถึง 90 บาทต่อใบด้วยซ้ำ

สาเหตุจาก “ยี่ปั๊วมีอิทธิพลเหนือตลาด” ที่คงเคลื่อนไหวทำธุรกิจรับซื้อ-ขายสลากอยู่ตลอด เพราะมีเงินทุนสามารถกว้านซื้อได้ทุกงวดจาก “ผู้มีโควตาไม่อยากขายเอง” อันมีความเสี่ยงขายไม่หมดต้องรับภาระขาดทุน แต่หากนำมาขายให้ยี่ปั๊วมักมีแรงจูงใจได้เงินง่ายมีกำไรชัวร์ๆ

เช่นนี้ทำให้สลากไหลมารวมอยู่ที่ “ยี่ปั๊ว” จนมีอิทธิพลสร้างกลไกกำหนดราคาทำกำไรแบบใดก็ได้ ในการขายให้ผู้ค้ารายย่อยไม่มีโควตากลายเป็นปัญหาวังวนอยู่ทุกวันนี้ ฉะนั้น โจทย์สำคัญถ้าต้องการแก้ปัญหาสลากกินแบ่งรัฐบาลแพงสำเร็จจริงๆ ต้องนำสลากส่วนใหญ่เข้าสู่ระบบสลากดิจิทัลสร้างอิทธิพลให้ราคาขายลงมา 80 บาทต่อใบ

ประเด็นมีอยู่ว่า “ผู้ค้าสลากดิจิทัลใช้ความสมัครใจ” หากคิดคำนวณสลาก 5 ล้านฉบับก็เท่ากับมีผู้สมัครใจเข้ามาในระบบ 1 หมื่นกว่าราย แล้วจำนวนนี้ไม่มีใครทราบผู้สมัครเป็นใครมีแรงจูงใจใด จึงเข้ามาในระบบนี้ แต่มองว่า “ไม่น่าเกี่ยวกับผู้ค้าสลากฝากขายผ่านแอปฯเอกชน” จนทำผิดเงื่อนไขถูกตัดโควตาไปก่อนหน้านี้

เพราะตามหลักการแล้ว “สิทธิ์ในโควตาถูกตัด” มักนำสิทธิ์นั้นมาให้ผู้ลงทะเบียนจองโควตาลำดับถัดไป ที่มิน่าใช่การนำโควตาส่วนนั้นมาเข้าระบบสลากดิจิทัลขายแบบตรงแน่ๆ

ย้อนกลับดูก่อนหน้านี้ที่มี “โครงการร้านค้าลอตเตอรี่ซื่อสัตย์” ซึ่งเป็นร้านขายไม่เกิน 80 บาททั่วประเทศโดย “สนง.สลากฯ” จะเป็นผู้คัดเลือกผู้ค้าแล้วปักหมุดพิกัดร้านค้าลอตเตอรี่ซื่อสัตย์ผ่านแอปฯ GLO Lottery อันมีเป้าหมาย 2,000 จุด แต่โครงการนี้ไม่อาจสร้างแรงจูงใจให้ผู้ขายสมัครใจ จนปัจจุบันตัวเลขยังไม่เป็นตามที่ตั้งไว้

สะท้อนว่า “ผู้ค้าไม่น้อยยินดีอยู่นอกระบบไม่ต้องการสมัครใจเข้าในระบบ” เพราะกังวลการถูกตรวจสอบจาก “กรณีการขายสลากเกินราคาเพื่อทำกำไร” ฉะนั้น เรื่องสลากดิจิทัลมีโจทย์ใหญ่คือ “จะทำอย่างไรให้ผู้ค้าสลากที่เหลือ 95% เข้าระบบให้ได้...?” ซึ่งจะด้วยวิธีสมัครใจหรือวิธีการบังคับก็แล้วแต่

สิ่งนี้จึงเป็นงานยากที่อาจจะมี “แรงต้านมากพอสมควร” เพราะผู้สมัครใจเข้ามาในระบบแล้วอาจต้องเสียผลกำไร อันเกิดจากการอยู่นอกระบบสามารถจำหน่ายเกินราคาได้ แต่ทางตรงกันข้ามหากเข้ามาอยู่ในระบบมักต้องมีกระบวนการตรวจสอบละเอียดยิบตลอดเวลา “ไม่อาจขายเกินราคาได้” ส่งผลให้ขาดรายได้กำไรไปบางส่วน

“ดังนั้น สนง.สลากฯต้องมีแรงจูงใจบางอย่างเพื่อดึงผู้ค้าเข้ามาสู่ระบบให้มากกว่า 50 ล้านฉบับ หรือร้อยละ 50 ขึ้นไป ถ้าหากกระทำเช่นนั้นได้จะเกิดอิทธิพลสามารถดึงราคาให้ต่ำลง นำมาซึ่งความสำเร็จในการแก้ปัญหาสลากแพง ถ้ายังไม่อาจนำผู้ค้าเข้ามาขายในระบบ กลไกยี่ปั๊วก็ยังมีอิทธิพลเหนือตลาดหวยเช่นเดิม” ธนากรว่า

จริงๆแล้ว “สลากขายเกินราคา” เป็นปัญหาฝังรากลึกมานานแล้วมักกล่าวอ้างกันว่า “เป็นสินค้าการเมือง” ที่มีนักการเมืองบางคนเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่ตลอดเวลา ทำให้การแก้ปัญหาที่ผ่านมา “เกาไม่ถูกที่ คันเหมือนลูบหน้าปะจมูก” เพราะกลัวกระทบกระเทือนผลประโยชน์ไม่ของตัวเองก็ของพวกพ้องหรือไม่

ฉะนั้น “เรื่องการแก้ปัญหาสลากแพง” เป็นเรื่องใหญ่เกินกว่าอำนาจบารมี “สนง.สลากฯ” สามารถกระทำได้เองเพียงลำพัง เพราะแค่ส่งสัญญาณเพิ่มยอดสลากดิจิทัล 5 ล้านฉบับเป็น 10 ล้านฉบับ ก็มีคนต่อต้านกันเยอะแล้วทำให้ “สนง.สลากฯ” มิอาจทนแรงต้านทานนั้นได้ จำเป็นต้องใช้อำนาจทางการเมืองช่วยเป็นแรงหนุนอีกทาง

แล้วอันที่จริง “ฝ่ายการเมือง” ควรเข้ามาใช้อำนาจทางการเมืองจัดการให้เด็ดขาด “ด้วยการรีเซ็ตระบบโควตา” ล้างบางล้างระบบใหม่นำเงื่อนไขให้ “ผู้ค้าสลาก” ต้องเข้าสู่ระบบออนไลน์ทั้งหมด

ต้องยอมรับว่า “อนาคตเส้นทางการขายสลากต้องนำเทคโนโลยีมาช่วยจำหน่ายแน่นอน” เพราะเทคโนโลยีสามารถทำแทนคนได้เกือบทุกอย่าง ด้วยซ้ำ และสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นคือ “สลากใบจะหายไป” สถานการณ์คล้ายกับ “สื่อสิ่งพิมพ์” กำลังถูกปรับเข้าสู่โลกดิจิทัลแล้วค่อยๆจางหายไปอย่างช้าๆอยู่นี้

สิ่งนี้เป็นเรื่องจริงที่กำลังจะเกิดขึ้น “ทุกฝ่าย” ควรเตรียมตัวเตรียมใจยอมรับว่า “เทคโนโลยีจะเข้ามาแทนแน่ๆ” เพราะลดต้นทุนผลิตตั้งแต่ค่าจ้างพิมพ์ ค่ากระดาษ ค่าขนส่ง และส่วนแบ่งค่าบริหารจัดการมากมาย แล้วตอนนี้ก็เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากสลากใบเป็นระบบดิจิทัล เพียงแต่รัฐบาลต้องหาวิธีให้ทุกฝ่ายเจ็บตัวน้อยที่สุด

ส่วนวิธีทำอย่างไรคงคิดแทนไม่ได้ “รัฐบาล” ต้องเป็นผู้หาแนวทางดำเนินการออกแบบให้สลากดิจิทัลเป็นทางเลือกหลัก และสลากใบเป็นทางรอง เพื่อจะนำไปสู่สลากขาย 80 บาท ในช่วงแรกๆ “ผู้ค้ารายย่อยไม่มีโควตาอาศัยตลาดค้าส่งนี้” จะได้รับผลกระทบไม่มีสลากขาย ฉะนั้น จำเป็นต้องเข้ามาดูแลคนกลุ่มนี้ด้วยเช่นกัน

ในส่วน “ผู้พิการมีโควตา” ไม่น่ามีปัญหาในการใช้เทคโนโลยีขายสลาก เพราะเดิมเขาก็ขายสลากใบได้อยู่แล้ว การขายผ่านสลากดิจิทัลก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องยาก

และถามว่า “สลากดิจิทัลเข้าถึงง่าย เข้าข่ายมอมเมาหรือไม่” จริงๆแล้วทุกวันนี้สลากก็เป็นสินค้าหาซื้อได้ง่ายมานาน เพราะถูกปล่อยให้ขายกันแบบไม่จำกัดจำนวน และไม่จำกัดวิธีการ สามารถเดินเข้าชุมชนเคาะประตูบ้านขายด้วยซ้ำ เพียงแต่ถูกกำหนดให้ออกเดือนละ 2 งวด และพิมพ์ไม่มากกว่าเดิม จึงไม่เข้าข่ายการมอมเมา

แต่เรียกว่า “การพนันอ่อนๆ” เพราะความถี่การออกสลากน้อย “ไม่สามารถแก้มือได้” แล้วจำนวนผลิตก็ไม่มากเกินจนเป็นแรงกระตุ้นจูงใจให้คนหันมาเล่นการพนันได้เยอะแยะมากมาย ฉะนั้น สิ่งสำคัญเราควรสนับสนุน “การแก้ปัญหาสลากแพงด้วยสลากดิจิทัลครั้งนี้” ให้เดินหน้าไปสู่ความประสบความสำเร็จจะดีกว่า...

ทว่าสิ่งที่กังวลคือ “ผลิตภัณฑ์สลากเลขท้าย 2 และ 3 ตัว” เท่าที่สังเกตเป็นไปได้ว่า “สนง.สลากฯน่าจะออกผลิตภัณฑ์ใหม่มาเบียดตลาดสลากแบบเก่า” ด้วยการออกผลรางวัลวันเวลาต่างกันนั้นจะกลายเป็นการเพิ่มความถี่ส่งเสริมให้การเล่นการพนันมากขึ้นหรือไม่ แล้วลักษณะนี้อาจเข้าข่ายการมอมเมาประชาชนก็ได้

ย้ำว่า การแก้ปัญหาสลากแพงนี้ คือความหวังคนไทย ที่นั่งรอซื้อหวยราคาถูกกันจริงเสียที.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ