เปิดโมเดลแก้น้ำท่วม กทม. “สสน.” ชูแผนระดับโลกใช้เอไอดับทุกข์คนกรุง

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เปิดโมเดลแก้น้ำท่วม กทม. “สสน.” ชูแผนระดับโลกใช้เอไอดับทุกข์คนกรุง

Date Time: 9 มิ.ย. 2565 06:49 น.

Summary

  • ปัญหาใหญ่อีกอย่างหนึ่งของกรุงเทพฯคือ น้ำท่วมซ้ำซากที่เกิดขึ้นทุกครั้งเมื่อฝนตก สร้างความเบื่อหน่ายให้ชาวกรุงเทพฯไม่รู้จบ และดูเหมือนว่า “ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร” ที่ผ่านๆมา หมดหนทางแก้ไข

Latest

“โกโก้ร้านไอ้ต้น” แฟรนไชส์สัญชาติไทย ปีเดียว ขยายสาขา 160 แห่งในจีน ความแปลก ที่กลายเป็นเอกลักษณ์

ปัญหาใหญ่อีกอย่างหนึ่งของกรุงเทพฯคือ น้ำท่วมซ้ำซาก ที่เกิดขึ้นทุกครั้งเมื่อฝนตก สร้างความเบื่อหน่ายให้ชาวกรุงเทพฯไม่รู้จบ และดูเหมือนว่า “ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร” ที่ผ่านๆมา หมดหนทางแก้ไข แต่วันนี้ “สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ” มีโซลูชันที่จะแก้ปัญหานี้ได้

นายสุรเจตส์ บุญญาอรุณเนตร ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมสารสนเทศทรัพยากรน้ำ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) เปิดเผยว่า สสน. ได้ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ส่งผลงานที่ชื่อ “Hydrogence” เข้าประกวดในงาน Siemens MindSphere World Series Hack การแข่งขันระดับโลกในงาน World Expo 2020 ที่ดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ภายใต้หัวข้อ “อนาคตของการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ” (Future Water Hack)

โซลูชันแก้น้ำท่วมรางวัลระดับโลก

Hydrogence แพลตฟอร์มดิจิทัลแก้ปัญหาน้ำในเมือง ที่ใช้กรุงเทพฯเป็นเมืองต้นแบบของ “Smart Water Team” ทีมเฉพาะกิจร่วมของสสน. และ depa ได้รับรางวัลชนะเลิศถึง 2 รางวัล คือ รางวัลชนะเลิศ Future Water Hack Winner และรางวัลชนะเลิศ Community Choice Award ทำให้ Smart Water Team เป็นทีมเดียวจากเอเชียที่เข้าถึงรอบสุดท้าย และได้รับรางวัลชนะเลิศ จากทั้งหมด 96 ทีมทั่วโลก

แรงบันดาลใจของ Hydrogence (มาจากคำว่า a Hydro+ Intelligence Platform) มาจากการที่ต้องประสบกับปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากของกรุงเทพฯ เพราะมีลำคลองยาวกว่า 2,000 กิโลเมตร (กม.) มีความซับซ้อนของพื้นที่ และเป็นพื้นที่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล การระบายน้ำ ต้องใช้ประตูระบายน้ำ และเครื่องสูบน้ำ ที่ยังใช้เจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ในการเปิด-ปิด บางครั้งเมื่อฝนตกกลางดึก เจ้าหน้าที่อาจมาไม่ทันเปิดประตูระบายน้ำ ทำให้น้ำท่วมได้

“ด้วยความซับซ้อนของพื้นที่ ความเสี่ยงที่การระบายน้ำไม่เป็นไปตามธรรมชาติ และแบ่งการระบายโดยใช้คนทั้งหมด จึงเป็นที่มาของ Hydrogence การแก้ปัญหาน้ำในเมืองโดยใช้แพลตฟอร์มดิจิทัล เพราะโจทย์ของการประกวดต้องการเห็นการบริหารจัดการน้ำที่ยั่งยืน และทำได้จริง ที่สำคัญโซลูชันที่นำเสนอต้องใช้งานได้กับ MindSphere ผลิตภัณฑ์ของซีเมนส์ ผู้จัดการประกวดได้”

เปิดแนวคิดใช้ AI ทำงานแทนคน

สำหรับการทำงานของ Hydrogence นายสุรเจตส์อธิบายว่า Hydrogence จะเชื่อมต่อข้อมูลของสำนักการระบายน้ำ จาก 242 ประตูน้ำ 191 เครื่องสูบน้ำ และกว่า 573 IoT เซ็นเซอร์ บนเส้นทางการไหลของน้ำในคลองและเส้นทางระบายน้ำกว่า 2,760 กม. โดยใช้แพลตฟอร์มติดตามสถานการณ์น้ำและอากาศในเมือง, คาดการณ์ปริมาณน้ำเพื่อวางแผนรับมือ และสั่งการควบคุมการไหลของน้ำด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อสร้างแบบจำลองเสมือนในโลกดิจิทัล รวมทั้งดึงข้อมูลจาก Crowdsourcing เพื่ออุดช่องโหว่ตามลำน้ำย่อย และเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแจ้งปัญหา ทำให้เกิดความยั่งยืนของระบบบริหารจัดการน้ำ ทั้งระดับเมืองและระดับประเทศ

ขณะที่ น.ส.พิณทิพย์ วัชโรทัย หัวหน้างานประสานงานและบริหารโครงการ ฝ่ายพัฒนาเทคโนโลยีและดิจิทัล สสน. เสริมว่า Hydrogence ยังมีคอนเซปต์ของ Smart City เพิ่มมาด้วย เช่น แถวบ้านเรา เมื่อฝนตกแล้วน้ำท่วม แต่ที่อื่นแห้ง คนที่เปิดประตูระบายน้ำไม่รู้ว่าที่บ้านเราน้ำยังท่วมอยู่ จะทำอย่างไรให้รู้ได้ Hydrogence จะมีระบบ หรือเซ็นเซอร์ ที่จับได้ว่าบริเวณใดน้ำยังท่วมอยู่และส่งข้อมูลเข้าระบบ ทำให้ประตูระบายน้ำยังทำงานได้แบบอัตโนมัติ

“Hydrogence จะเจอปัญหาก่อนใคร เพราะเป็นตัวพยากรณ์ว่าปัญหาเป็นอย่างไร และใครจะต้องแก้ปัญหาอย่างไร เช่น ถ้าฝนตก เซ็นเซอร์ตามถนนและรางน้ำต่างๆจะบอกได้ว่าปริมาณน้ำฝนมากหรือน้อย และจะบอกคนที่เกี่ยวข้องว่าปัญหาอยู่ที่ไหน ต้องแก้อย่างไร”

โดยประเด็นนี้นายสุรเจตส์ได้เสริมว่า เราจะกำหนดพื้นที่ hot spot ที่มีปัญหากระจุกตัวมากๆ 3-4 แห่ง แล้วให้ Hydrogence สแกนหาปัญหา เมื่อพบแล้วจะเสนอชุดคำตอบในการแก้ไข เช่น ควรเดินเครื่องสูบน้ำตรงไหน ต้องไล่น้ำไปลงแม่น้ำอย่างไร แต่ในอนาคตจะพัฒนาให้แก้ปัญหาที่ซับซ้อนและยากมากขึ้น เช่น ถ้าน้ำมากในหลายพื้นที่พร้อมกัน จะบอกได้ว่าควรแก้ที่ใดก่อน การไล่น้ำทำอย่างไร น้ำจะต้องเดินทางเส้นไหนเพื่อให้ระบายได้เร็ว เหมือน Google Map ที่จะบอกเส้นทางว่าไปทางไหนจะถึงจุดหมายเร็วที่สุด

แก้น้ำท่วมได้จริงหวัง “กทม.” นำไปใช้

นายสุรเจตส์กล่าวต่อว่า จะใช้แพลตฟอร์มนี้ในพื้นที่นำร่อง คือคลองบางเขน บริเวณสำนักงานของ สสน. และคลองผดุงกรุงเกษม ล่าสุด สสน.ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือกับ depa เพื่อทดสอบเทคโนโลยีนี้ในพื้นที่นำร่อง, ทำแพลตฟอร์มต้นแบบติดตามน้ำท่วมด้วย IoT, คาดการณ์ปริมาณน้ำและทิศทางการไหล เพื่อวางแผนและเตือนภัย, ทดสอบระบบสั่งการ และควบคุมเปิด-ปิดประตูระบายน้ำอัตโนมัติด้วย AI และสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน

“Hydrogence แก้ปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพฯได้อยู่แล้ว อยู่ที่ว่า กทม.จะเอาด้วยหรือไม่ เราต้องทำให้เขาเห็นประโยชน์ว่าระบบจะทำให้เขาทำงานน้อยลง แต่ได้ผลลัพธ์ดีขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ส่วนประชาชนจะได้ประโยชน์ในการวางแผนชีวิต วางแผนการเดินทางได้”

ในอนาคตจะขายแพลตฟอร์ม Hydrogence หรือไม่ นายสุรเจตส์กล่าวว่า ถ้าจะขาย ต้องปรับปรุงให้ดีขึ้น และหาทางสร้างมูลค่าเพิ่มด้วย ไม่ใช่จบที่แค่แก้ปัญหาน้ำท่วมในเมืองได้เท่านั้น

ขณะที่ น.ส.พิณทิพย์กล่าวเสริมว่า แก้ปัญหาน้ำท่วมด้วยดิจิทัล ยังไม่มีใครเคยทำ มั่นใจว่า แก้ได้จริง เพราะเป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ใช้ระบบอัตโนมัติทั้งหมด ถ้าจะทำให้เกิดการใช้งานจริง หน่วยงานภาครัฐต้องช่วยกันผลักดัน แต่การบริหารจัดการต้องให้ภาคเอกชน หรือหน่วยงานรัฐที่มีอิสระเพียงพอ ถ้าภาครัฐบริหารโดยลำพัง จะไปไม่ได้.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ