นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจโพล ส.อ.ท. (FTI Poll) ภายใต้หัวข้อ “เงินเฟ้อกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างไร” พบว่าผู้บริหาร ส.อ.ท.มองว่าราคาน้ำมันดิบและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นจากผลกระทบของวิกฤติความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน เป็นปัจจัยหลักที่เร่งให้ภาวะเงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น จนส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นทั้งจากราคาวัตถุดิบและพลังงาน รวมทั้งยังกดดันกำลังซื้อภาคครัวเรือนให้ลดลงอีกด้วย
“ดังนั้น ผู้บริหาร ส.อ.ท.คาดว่าตลอดทั้งปีนี้เงินเฟ้อของไทยจะอยู่ที่ระดับ 4-5% จึงเสนอขอให้รัฐบาลเร่งออกมาตรการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่ม โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยและเอสเอ็มอี รวมทั้งปรับลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบที่จำเป็นต่อภาคการผลิต เช่น วัตถุดิบอาหารสัตว์ ปุ๋ย การตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลให้อยู่ที่ 32 บาทต่อลิตร ไปอีก 3-6 เดือน เพื่อบรรเทาผลกระทบของผู้ประกอบการและประชาชน นอกจากนี้ หากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทวีความรุนแรงมากขึ้น และเพิ่มความเข้มข้นของมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียจากสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ อาจส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อให้ปรับตัวสูงขึ้นอีก จนทำให้เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอย หรือ Recession ได้”
สำหรับผลการสำรวจความเห็นผู้บริหาร ส.อ.ท.จำนวน 200 คนครอบคลุมผู้บริหารจาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 76 ส.อ.ท.จังหวัด ระบุว่าปัจจัยที่เร่งให้เกิดเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากนั้นคือราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น ตามมาด้วยสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน,ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น และความต้องการสินค้าและบริการที่มีมากเกินไปหลังการเปิดประเทศ
ส่วนการคาดการณ์เงินเฟ้อตลอดทั้งปีอยู่ในระดับใด พบว่าส่วนใหญ่ระบุว่า อัตรา 4-5 % และท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและประชาชนในวงกว้างในการแบกรับภาระต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น จนส่งผลต่อภาวะราคาสินค้าแพง รวมทั้งก่อภาระหนี้สินภาคครัวเรือน และการขาดสภาพคล่องของผู้ประกอบการ พร้อมกันนี้ยังมองว่าในปีนี้จะมีโอกาสที่เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession).