จับตาเงินเฟ้อพุ่งตามน้ำมัน “สนค.” เสนอ 3 แนวทางคุมราคาช่วยผู้บริโภค

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

จับตาเงินเฟ้อพุ่งตามน้ำมัน “สนค.” เสนอ 3 แนวทางคุมราคาช่วยผู้บริโภค

Date Time: 3 มี.ค. 2565 06:53 น.

Summary

  • “สนค.” ลุ้นระทึกราคาน้ำมันโลกพุ่งกระฉูด ขอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดมสมองหามาตรการรับมือ ก่อนเงินเฟ้อปีนี้ขยับขึ้น เพราะจะเกิดผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ

Latest

ที่สุดแห่งปี ! เปิด 10 ทำเล ราคาที่ดิน แพงสุด “ชิดลม-เพลินจิต” ทะลุ 3.7 ล้าน/ตร.ว. สงขลา รองแชมป์

“สนค.” ลุ้นระทึกราคาน้ำมันโลกพุ่งกระฉูด ขอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดมสมองหามาตรการรับมือ ก่อนเงินเฟ้อปีนี้ขยับขึ้น เพราะจะเกิดผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ ประชาชน และภาคธุรกิจ เสนอ 3 แนวทางเข้ามาบริหารจัดการให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นหน่วยงานจัดทำดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป และเงินเฟ้อ เปิดเผย ว่าปีนี้ถ้าราคาน้ำมันดิบตลาดโลกยังปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง หรือเกินกว่าราคาที่ สนค.ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินเฟ้อทั่วไปของประเทศ โดยเฉพาะน้ำมันดิบดูไบ ที่คาดราคาเฉลี่ยทั้งปีนี้ไว้ที่ 63-73 เหรียญสหรัฐฯ/ บาร์เรล ก็เป็นห่วงว่า จะส่งผลต่อเงินเฟ้อทั่วไปของไทย แต่ยังคาดว่า ไม่น่าขยายตัวเกินไปกว่า กรอบนโยบายทางการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะบริหารจัดการได้

น้ำมันแพงดันเงินเฟ้อพุ่ง

“ถ้าราคาน้ำมันดิบทะลุ 100 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เป็นระยะเวลานาน หรือยังอยู่ในระดับสูงไปจนถึงสิ้นปีนี้ ประกอบกับถ้ามาตรการตรึงราคาพลังงาน ทั้งก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) และก๊าซธรรมชาติเหลว (เอ็นจีวี) หมดลง รวมถึงการสิ้นสุดของมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ดีเซล 3 บาทต่อลิตรที่มีเวลา 3 เดือนจนถึงเดือน พ.ค.นี้ ก็มีโอกาสทำให้เงินเฟ้อปีนี้สูงขึ้นได้อีก แต่ไม่น่าจะเกินไปกว่ากรอบนโยบายทางการเงินที่ ธปท.จะบริหารจัดการได้”

ทั้งนี้ ราคาน้ำมันตลาดโลกที่สูงขึ้น เป็นปัจจัยสำคัญทำให้เงินเฟ้อหลายประเทศทั่วโลกสูงขึ้น เพราะราคาน้ำมันมีผลต่อเงินเฟ้อ ทั้งทางตรง และทางอ้อม โดยผลทางตรงคือจะทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศสูงขึ้นตาม สำหรับไทยสินค้ากลุ่มน้ำมันในตะกร้าเงินเฟ้อ (สินค้าและบริการที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อ 430 รายการ) มีน้ำหนัก หรือสัดส่วนมากถึง 9.24% ของสินค้าและบริการทั้งหมดที่คำนวณเงินเฟ้อ ในเดือน ม.ค.65 ที่เงินเฟ้อสูงขึ้น 3.23% เทียบกับเดือน ม.ค.64 เป็นผลจากราคากลุ่มน้ำมันเชื้อเพลิงสูงขึ้น 27.89% และมีส่วนทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นถึง 2.08%

ส่วนผลทางอ้อม คือ ทำให้ต้นทุนการผลิต หรือราคาวัตถุดิบสินค้าและบริการในตะกร้าเงินเฟ้อ รวมถึงต้นทุนขนส่งเพิ่มขึ้น เช่น ค่าโดยสารสาธารณะ ค่ากระแสไฟฟ้า และก๊าซหุงต้ม (เชื้อเพลิงในบ้าน) ซึ่งมีน้ำหนักรวมกัน 5.77% ส่งผลให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.18% รวมถึงสินค้าอุปโภค-บริโภคหลายรายการสูงขึ้นด้วย แต่ผลกระทบทางอ้อมของน้ำมันต่อเงินเฟ้อ มีสัดส่วนน้อยกว่าทางตรง

รัฐเดินหน้าตรึงราคาพลังงาน

นอกจากนี้ ผลกระทบของราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ยังทำให้ค่าครองชีพคนไทยสูงขึ้นตาม จากการที่ราคาสินค้าและบริการสูงขึ้น แต่รัฐบาลบริหารจัดการราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยเฉพาะน้ำมันดีเซลที่เป็นต้นทุนการผลิตและขนส่งสินค้าและบริการจำนวนมาก ให้ไม่เกินลิตรละ 30 บาท เพื่อลดผลกระทบด้านต่างๆ และลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน โดยล่าสุดได้ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 3 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่กลางเดือน ก.พ.ถึงกลางเดือน พ.ค.นี้ ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศทุกชนิดลดลง และมีผลทำให้เงินเฟ้อในช่วง 3 เดือนนี้ลดลงได้ 0.22% ขณะเดียวกัน ยังช่วยลดต้นทุนของผู้ประกอบการ และชะลอการปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการได้ในช่วงเวลาหนึ่งด้วย

นายรณรงค์กล่าวอีกว่า เมื่อสิ้นสุดลดภาษีสรรพสามิตแล้ว เงินเฟ้อไทยจะสูงขึ้นหรือไม่ ต้องติดตามราคาน้ำมันตลาดโลกอย่างใกล้ชิด แต่คาดว่า หากหมดช่วงเวลาลดภาษี และราคาน้ำมันตลาดโลกยังอยู่ในระดับสูง รัฐบาลอาจมีมาตรการอื่นๆเพิ่มเติม เพื่อลดค่าครองชีพประชาชน

“ก่อนที่เงินเฟ้อจะสูงขึ้นเร็วจนเกินไป หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาใช้มาตรการอย่างเหมาะสมในการสกัดเงินเฟ้อ เพื่อไม่ให้ส่งผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจ ประชาชน และภาคธุรกิจ”

เสนอ 3 ทางคุมในระดับเหมาะสม

สำหรับแนวทางการบริหารจัดการเงินเฟ้อ ของไทยให้มีประสิทธิภาพ ต้องพิจารณาสาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นด้วย โดยเงินเฟ้อไทยสูงขึ้นจากต้นทุนการผลิต และการขนส่งสินค้าที่สูงขึ้น เพราะผลจากราคาพลังงานที่สูงขึ้น รวมถึงต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้นจากภัยธรรมชาติและการขาดแคลนแรงงาน

ดังนั้น สนค.มีข้อเสนอแนะ คือ 1.เร่งแก้ปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ โดยส่งเสริมให้ผลิตเพิ่มขึ้น เช่น รัฐลดภาษี/อำนวยความสะดวกการนำเข้าวัตถุดิบ และปัจจัยการผลิตที่จำเป็น พร้อมสนับสนุนค่าจ้างบางส่วนให้กิจการ กำหนดมาตรการสำรองแก้ปัญหาการขาดแคลนสินค้าในระยะยาว เช่น วางแผนเพาะปลูก/ผลิตสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เป็นต้น

2.กำกับดูแลและควบคุมราคาสินค้าไม่ให้เพิ่มขึ้นเป็นวงกว้างและติดต่อกันเป็นเวลานาน ซึ่งนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ สั่งการให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยขอความร่วมมือผู้ผลิตให้ตรึงราคาสินค้าและไม่อนุญาตให้ขึ้นราคาขาย ขณะนี้มีสินค้า 18 กลุ่มที่ตรึงราคาไว้ได้และห้ามขึ้นราคา ได้แก่ 1.บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 2.อาหารสด 3.อาหารกระป๋อง 4.ข้าวสารบรรจุถุง 5.ซอสปรุงรส 6.น้ำมันพืช 7.น้ำอัดลม 8.นมและผลิตภัณฑ์ 9.เครื่องใช้ไฟฟ้า 10.ผลิตภัณฑ์ซักล้าง 11.ปุ๋ยเคมี 12.ยาฆ่าแมลง 13.อาหารสัตว์ 14.เหล็ก 15.ปูนซีเมนต์ 16.กระดาษ 17.ยา เวชภัณฑ์ และบริการทางการ แพทย์ และ 18.บริการผ่านห้างค้าปลีกค้าส่ง

3.เพิ่มความสามารถในการผลิตสินค้าในระยะยาว โดยส่งเสริมให้มีการลงทุนในภาคการผลิต ใช้เทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพื่อให้ผลิตได้ในปริมาณมาก และช่วยลดต้นทุน.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ