นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมสัมมนา เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โครงการศึกษาเพื่อพัฒนาแบบจําลอง การคาดการณ์ความต้องการเดินทางด้วยระบบรางและการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2 (M-MAP2) ว่า ในปัจจุบันระบบขนส่งมวลชนทางราง หรือ รถไฟฟ้า เป็นทางเลือกสำคัญในการเดินทางของประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยปัจจุบัน เปิดให้บริการแล้วกว่า 211.94 กิโลเมตร และอยู่ระหว่างการก่อสร้าง 112.20 กิโลเมตรจากโครงข่ายทั้งหมด 553.41 กิโลเมตร และสอดคล้องกับสถานการณ์และพฤติกรรมการเดินทางของผู้โดยสารในอนาคต ทางกระทรวงคมนาคมจึงมีการปรับปรุงแผนแม่บทรถไฟฟ้าให้มีความทันสมัย ต่อยอดแผนแม่บท M-MAP เดิม ให้มีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
สําหรับหัวใจสำคัญของโครงการนี้ คือ M-MAP 2 จะต้องเป็นแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางราง ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่เกิดประโยชน์สูงสุด ลดการลงทุนในโครงข่ายที่มีความจำเป็นในลำดับรองให้สอดคล้องความต้องการในการเดินทางของประชาชน เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกในการเดินทางที่สะดวก ประหยัดทั้งค่าใช้จ่ายและเวลาให้กับประชาชน โดยประเทศญี่ปุ่นได้มีข้อตกลงร่วมกับไทยในการสนับสนุนทางวิชาการเพื่อดำเนินโครงการ M-MAP 2 ซึ่งจะช่วยเพิ่มพูนความรู้ให้แก่บุคลากรในแวดวงระบบรางของไทยได้นำไปปรับปรุงหรือพัฒนาแบบจำลองการคาดการณ์ความต้องการเดินทางด้วยระบบรางและนำไปพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล.