รัสเซีย-ยูเครน : ความขัดแย้งโลกระทึก

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

รัสเซีย-ยูเครน : ความขัดแย้งโลกระทึก

Date Time: 26 ก.พ. 2565 05:10 น.

Summary

  • นาทีนี้เหตุการณ์ที่ทั่วโลกต่างจับตามองอย่างไม่กะพริบ คงหนีไม่พ้นประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ คือ สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯและชาติสมาชิกทั้งหลาย

Latest

ล้อมคอกรถโดยสารสาธารณะยึดมาตรฐาน "UN”


สุพริศร์ สุวรรณิก สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

นาทีนี้เหตุการณ์ที่ทั่วโลกต่างจับตามองอย่างไม่กะพริบ คงหนีไม่พ้นประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ คือ สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯและชาติสมาชิกทั้งหลายแห่งองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ล่าสุด (24 ก.พ.) รัสเซียได้เปิดปฏิบัติการทางทหารในยูเครนแล้ว ซึ่งแท้จริงอะไรคือชนวนเหตุแห่งความขัดแย้งนี้ และหากเกิดสงครามขึ้นจะเกิดผลกระทบอะไรบ้าง?

ชนวนเหตุแห่งความขัดแย้งในปัจจุบันสามารถสรุปได้เป็น 4 ประการสำคัญ ได้แก่

1) ต้นกำเนิดยูเครนในทางประวัติศาสตร์ : ยูเครนเคยเป็นสมาชิกของสหภาพโซเวียตมาก่อน จนกระทั่งเมื่อปี ค.ศ.1991 ก็ได้แยกตัวออกมาหลังการล่มสลายของสหภาพฯ และยังมีชาวรัสเซียจำนวนมากอาศัยอยู่ในยูเครนโดยเฉพาะฝั่งตะวันออก โดยรัสเซียก็ยังไม่ยอมรับเอกราชอย่างสมบูรณ์ของยูเครน เนื่องจากรัสเซียมองยูเครนเป็นส่วนหนึ่งของประเทศตนเองมาโดยตลอด และเรียกยูเครนว่า “Little Russia”

2) อดีตประธานาธิบดียูเครนผู้ฝักใฝ่รัสเซีย : ในช่วงปลายปี 2013 ประชาชนชาวยูเครนนับแสนคนออกมาประท้วงขับไล่ประธานาธิบดี
วิกตอร์ ยากูโนวิช ซึ่งมีแนวคิดสนับสนุนรัสเซียชัดเจน ทั้งนี้ มีการปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงอย่างรุนแรงจนทำให้บานปลายเป็นเหตุการณ์นองเลือด จนในที่สุดประธานาธิบดีหลบหนีออกนอกประเทศ แต่ได้ทิ้งรอยแผลขนาดใหญ่ไว้ คือ ความแตกแยกทางความคิดอย่างรุนแรงในหมู่ประชาชนชาวยูเครน

3) การยึดไครเมียโดยรัสเซีย : อีกชนวนเหตุหนึ่งเกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกันในปี 2014 รัสเซียเข้ายึดครองและผนวกรวมดินแดนไครเมีย ซึ่งอยู่ทางตอนใต้และเป็นส่วนหนึ่งของยูเครน หลังจากผลการลงประชามติของชาวไครเมียว่าต้องการอยู่กับรัสเซีย และเป็นเหตุให้ 2 ดินแดนทางภาคตะวันออกของยูเครนพากันทำประชามติตามเพื่อประกาศอิสรภาพจากยูเครนบ้าง แต่กลายเป็นสงครามแบ่งแยกดินแดนในภูมิภาคนี้อย่างต่อเนื่องจนมาถึงวันนี้

4) ความพยายามเข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโตของยูเครน : ในทางภูมิศาสตร์ ยูเครนตั้งอยู่ระหว่างรัสเซียและชาติยุโรปต่างๆ ไม่ต่างจากความเป็นรัฐกันชน ที่ผ่านมาการที่ยูเครนพยายามจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกของนาโต โดยได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ทำให้รัสเซียรู้สึกถึงภัยคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศตน

เมื่อเกิดสงครามขึ้น ผลกระทบที่จะเกิดกับเศรษฐกิจโลกและไทยจะเป็นอย่างไร? ท่านผู้อ่านคงทราบกันอยู่บ้างแล้วว่ารัสเซียถือเป็นอภิมหาอำนาจด้านพลังงานของโลก โดยเฉพาะการเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน และสินแร่ต่างๆ ขณะที่ยูเครนเป็นประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์ในสินค้าเกษตรและเป็นผู้ส่งออกรายต้นๆของโลก ได้แก่ ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ และธัญพืชชนิดต่างๆ ดังนั้น ย่อมทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และพลังงานพุ่งสูงขึ้น ซ้ำเติมภาวะเงินเฟ้อสูงที่กำลังส่งผลกระทบต่อหลายประเทศทั่วโลกในขณะนี้

ส่วนด้านตลาดการเงิน นักลงทุนได้เริ่มโยกย้ายมาถือครองสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยสูงอย่างพันธบัตรและทองคำมากขึ้นแล้ว ขณะที่ราคาสินทรัพย์เสี่ยงต่างๆ ทั้งหุ้นหรือแม้กระทั่งสินทรัพย์ดิจิทัลก็ปรับลดลง และต่อจากนี้ก็อาจได้เห็นการปรับลดลงครั้งใหญ่ของราคาสินทรัพย์เสี่ยงเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง

สำหรับประเทศไทย อาจได้รับผลกระทบหลักๆ จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์และพลังงานที่สูงขึ้น รวมทั้งราคาของสินทรัพย์ในตลาดการเงินที่มีความผันผวนสูง ซึ่งไม่แตกต่างจากภาวะที่เกิดขึ้นทั่วโลก แต่เนื่องจากไทยมีสัดส่วนการส่งออกนำเข้าสินค้าและการลงทุนโดยตรงจากรัสเซียและยูเครนค่อนข้างน้อย ขณะที่มีสัดส่วนนักท่องเที่ยวรัสเซียอยู่บ้าง ทั้งนี้ทั้งนั้น สิ่งที่น่าคิดต่อไปและสำคัญยิ่งกว่าคือ ผลกระทบจะลากยาวรุนแรงเพียงใด ประเทศไทยจะต้องปรับตัวตั้งแต่วันนี้อย่างไร? อย่ากะพริบตาครับ!


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ