ยันเหตุสุดวิสัย-โควิดพ่นพิษ “อีอีซี” แจงแก้สัญญาแอร์พอร์ตลิงก์ไม่เอื้อซีพี

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ยันเหตุสุดวิสัย-โควิดพ่นพิษ “อีอีซี” แจงแก้สัญญาแอร์พอร์ตลิงก์ไม่เอื้อซีพี

Date Time: 27 ต.ค. 2564 07:01 น.

Summary

  • “อีอีซี” ออกโรงแจงการแก้สัญญากับกลุ่มซีพี เข้าบริหาร “แอร์พอร์ตเรลลิงก์” ยืนยันได้รับผลกระทบจริงจากการระบาดของโควิด แก้สัญญาไม่ได้มาจากปัญหา “ซีพี” ขอสินเชื่อไม่ได้

Latest

ล้อมคอกรถโดยสารสาธารณะยึดมาตรฐาน "UN”

“อีอีซี” ออกโรงแจงการแก้สัญญากับกลุ่มซีพี เข้าบริหาร “แอร์พอร์ตเรลลิงก์” ยืนยันได้รับผลกระทบจริงจากการระบาดของโควิด แก้สัญญาไม่ได้มาจากปัญหา “ซีพี” ขอสินเชื่อไม่ได้ เพราะยังไม่ก่อสร้างเส้นทาง ย้ำเงินค่าบริหารแอร์พอร์ตเรลลิงก์ผ่อนได้ แต่รัฐต้องได้ครบ 10,671 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ย

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี ได้แถลงข่าวชี้แจงประเด็นการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กับเอกชนคู่สัญญา บริษัทเอเชีย เอราวัน จำกัด ที่มีกลุ่มซีพีถือหุ้นใหญ่ หลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2564 เห็นชอบว่า ทางบริษัทเอเชีย เอรา วัน จำกัด ได้เสนอขอแก้ไขสัญญามาตั้งแต่ปลายปี 2563 เฉพาะในส่วนการจ่ายเงินค่าสิทธิ์บริหารโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ จากเดิมที่ต้องชำระเต็ม 10,671 ล้านบาท ภายในวันที่ 24 ต.ค.2564 เนื่องจากสถานการณ์โควิดทำให้ผู้โดยสารลดลงจาก 70,000-80,000 คน/วัน เหลือเพียง 10,000-20,000 คน/วัน ซึ่งเป็นเหตุสุดวิสัยที่ไม่คาดการณ์มาก่อน

“ในตอนแรก สกพอ.ไม่ได้นำมาพิจารณา เพราะคิดว่าสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิดใกล้จบแล้ว ต่อมาในเดือน พ.ค.2564 ทางบริษัททำหนังสือมาเป็นทางการ และมีการแพร่ระบาดของโควิดในรอบที่ 2 และรอบที่ 3 จึงได้เสนอคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือบอร์ดอีอีซี ก่อนเสนอ ครม. พิจารณา เพราะเห็นว่ามีผลกระทบจริง อีกทั้งโครงการในอีอีซีเป็นการร่วมทุนทั้ง 2 ฝ่าย รัฐและเอกชนเข้ามาร่วมรับความเสี่ยงด้วยกันจำเป็นต้องมีความเข้าใจเป็นพื้นฐานที่จะเจรจาหาทางออกในกรณีสุดวิสัย และนำไปสู่การแก้ไขสัญญาภายใต้ความเข้าใจร่วมกันให้โครงการประสบความสำเร็จโดยรัฐและเอกชนไม่เสียเปรียบซึ่งกันและกัน”

เลขาธิการ สกพอ.กล่าวว่า เมื่อวันที่ 20 ต.ค.2564 รฟท.และเอกชนคู่สัญญา ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงในการแก้ไขปัญหาโครงการส่วนจะแบ่งจ่ายกี่งวดจะขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะทำงานที่แต่งตั้งโดย รฟท.และคณะกรรมการกำกับเพื่อนำเสนอ รฟท. กพอ. และ ครม.ต่อไป ประเด็นสำคัญคือ รัฐจะต้องได้เงินเต็มจำนวน 10,671 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ย จะได้เงินน้อยกว่าที่ตกลงในสัญญาไม่ได้ ขณะที่ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากที่เอกชนคู่สัญญาขอกู้เงินไม่ได้ตามที่มีข่าวออกไป เพราะในตอนนี้เอกชนยังไม่จำเป็นต้องกู้เงิน เพราะส่วนที่ต้องกู้เพื่อการก่อสร้างกว่า 100,000 ล้านบาทจะอยู่ในช่วงเดือน พ.ย.2565

ทั้งนี้ เอกชนคู่สัญญาได้ชำระเงิน 1,067 ล้านบาท คิดเป็น 10% ของสิทธิร่วมลงทุนในแอร์พอร์ต เรลลิงก์ เพื่อเป็นหลักประกันว่า จะดำเนินการอย่างเคร่งครัดตามบันทึกข้อตกลง และได้เข้ารับดำเนินการแอร์พอร์ต ลิงก์ ในวันที่ 24 ต.ค. 2564 ตามที่วางไว้ โดยต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายรวมถึงบุคลากรปฏิบัติงานทั้งหมด ประมาณเดือนละกว่า 100 ล้านบาท รับผิดชอบความเสี่ยงทั้งหมดที่ก่อนหน้านี้เอกชนได้ลงทุนไปแล้วกว่า 1,100 ล้านบาท ในการดำเนินการปรับปรุงระบบและบริการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ และฝึกอบรมพนักงาน พร้อมมีข้อเสนอจัดหาขบวนรถไฟฟ้าเพิ่มเติม 3,000 ล้านบาท และขณะที่ รฟท.ยังเป็นผู้จัดเก็บค่าโดยสาร ไม่โอนรายได้ให้เอกชนในทันที แต่จะโอนให้เมื่อแก้ไขปัญหาแล้วเสร็จ ทั้งนี้จะให้เอกชนนำค่าโดยสารดังกล่าวไปหักค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น หากกำไรต้องส่งคืน รฟท. ดังนั้น รฟท.จึงไม่ต้องรับภาระขาดทุนจากแอร์พอร์ต เรลลิงก์ อีกต่อไป คิดเป็นประมาณ 600 ล้านบาทในปี 2564

“กรณีโครงการร่วมทุนอื่นๆไม่จำเป็นต้องนำมาสู่กระบวนการแก้ไขปัญหาเช่นนี้อีก เพราะโครงการท่าเรือมาบตาพุด และสนามบินอู่ตะเภา กำลังเริ่มก่อสร้าง ซึ่งคาดว่าเมื่อก่อสร้างเสร็จใน 4 ปี ผลกระทบจากโควิดคงหมดไปแล้ว ส่วนโครงการท่าเรือแหลมฉบังที่จะลงนามในต้นเดือน พ.ย.นี้ได้พิจารณาผลกระทบเหล่านี้ในสัญญาไว้แล้ว”

ส่วนความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ทาง รฟท.ส่งมอบพื้นที่พร้อมก่อสร้างของโครงการช่วงสุวรรณภูมิถึงอู่ตะเภาให้เอกชนคู่สัญญาแล้ว 98.11% ระยะทาง 160 กิโลเมตร คิดเป็นพื้นที่ 3,513 ไร่ 1 งาน 3 ตารางวา ซึ่งเอกชนคู่สัญญาทยอยเข้าเตรียมการก่อสร้างแล้วตั้งแต่ปลายปี 63 โดย รฟท.จะส่งมอบพื้นที่ที่เหลืออีก 1.89% ภายในเดือน ม.ค.65 เมื่อตรวจรับพื้นที่แล้วเสร็จ รฟท.จะออกหนังสือแจ้งเริ่มงานก่อสร้างอย่างเป็นทางการ (NTP) คาดว่าประมาณเดือน มี.ค.65 จากนั้นภายใน 240 วันให้เอกชนคู่สัญญาทำสัญญาสินเชื่อโครงการกับสถาบันการเงิน โดยขั้นตอนการหาสินเชื่อจะแล้วเสร็จประมาณเดือน พ.ย.2565.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ