ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาว่า สถานการณ์ท่องเที่ยวไทยในเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ภาพรวมของการท่องเที่ยวไทยยังคงได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ต่อเนื่องตั้งแต่เดือน เม.ย.64 โดยช่วงต้นเดือน ส.ค.ยังพบจำนวนผู้ติดเชื้อ ทำให้ภาครัฐต้องใช้มาตรการควบคุมที่เข้มงวดมากกว่าเดือนหน้า ส่งผลให้การเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของคนไทยทรุดต่ำลงถึง 92% โดยมีนักท่องเที่ยวเดินทาง 680,000 คน-ครั้ง สร้างรายได้เพียง 2,200 ล้านบาทเท่านั้น หรือคิดเป็นรายได้ที่ลดลงกว่า 94%
ทั้งนี้ ในจังหวัดที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวมากที่สุด 3 อันดับแรก ยังเป็นเมืองหลักทางด้านการท่องเที่ยว คือ กรุงเทพฯ มีนักท่องเที่ยวเดินทาง 181,431 คน นครราชสีมา 87,939 คน และเชียงใหม่ 67,650 คน โดยเมื่อรวมจำนวนนักท่องเที่ยวสะสมช่วง 8 เดือน (ม.ค.-ส.ค.64) พบว่า มีจำนวนนักท่องเที่ยวไทยเที่ยวไทย 25.94 ล้านคน-ครั้ง ลดลง 42% และมีรายได้สะสม 127,000 ล้านบาท หรือลดลง 54% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน แม้ว่าในช่วงปลายเดือน ส.ค.สถานการณ์โควิดจะเริ่มคลี่คลาย และมีการเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางประเภท แต่ก็ยังคงให้ลดและจำกัดการเดินทาง และการเคอร์ฟิว ทำให้การเดินทางท่องเที่ยวเป็นไปอย่างเงียบเหงา
สำหรับทิศทางการท่องเที่ยวในช่วงต่อไปนั้น หากพิจารณาจากโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์จะเห็นได้ว่าทิศทางของการท่องเที่ยวสามารถรองรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้ต่อเนื่อง แม้จะไม่เทียบเท่าระดับก่อนการระบาดของโควิดประกอบกับการรับรองแผนฟื้นฟูการท่องเที่ยวของภูมิภาคอาเซียนภายหลังการแพร่ระบาด ซึ่งจะเป็นแผนในการกำหนดนโยบายฟื้นฟูการท่องเที่ยวของประเทศไทยในอนาคต
ส่วนการฟื้นฟูการเดินทางภายในภูมิภาคและระหว่างประเทศ ต้องอย่างปลอดภัยและไร้รอยต่อ โดยส่งเสริมให้เปิดการเดินทางพร้อมสร้างมาตรฐานและแนวปฏิบัติด้านสุขภาพและความปลอดภัยในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการสร้างกระบวนการพัฒนาและติดตามการเดินทางในรูปแบบระเบียงท่องเที่ยว (ทราเวล บับเบิล) นอกจากนี้ ยังต้องนำเสนอรูปแบบใหม่ของการบริการด้านการท่องเที่ยวเพื่อขับเคลื่อนการแข่งขัน โดยส่งเสริมการพัฒนาสินค้าด้านการท่องเที่ยวของอาเซียนเพื่อตอบสนองแนวโน้มการท่องเที่ยวใหม่ๆ ผ่านกองทุนพิเศษสำหรับธุรกิจสตาร์ท-อัพ ซึ่งมีการจัดลำดับความสำคัญของภาคส่วนที่จะเริ่มต้นดำเนินการเพื่อการฟื้นฟู และสนับสนุนการฟื้นฟูด้านการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวได้เร็วในระยะยาวและการเตรียมพร้อมในภาวะวิกฤติ.