ปรับโครงสร้างภาษียาสูบใหม่ 1 ต.ค.นี้ สรรพสามิตคาด ลดการบริโภคยาสูบได้ 2-3% ภาครัฐจัดเก็บรายได้ภาษีเพิ่มขึ้นประมาณ 3,500-4,500 ล้านบาทต่อปี
วันที่ 30 กันยายน 2564 นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่าคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบตามที่ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เสนอให้กำหนดโครงสร้างภาษีสรรพสามิตยาสูบใหม่ โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564
อธิบดีกรมสรรพสามิตกล่าวว่า ในปัจจุบันโครงสร้างภาษีสรรพสามิตยาสูบจัดเก็บภาษีตามมูลค่า 2 อัตรา คือ 20% และ 40% ของราคาขายปลีกแนะนำซองละไม่เกิน 60 บาท และที่เกิน 60 บาท และจัดเก็บภาษีตามปริมาณ 1.20 บาทต่อมวน โดยในวันที่ 1 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป จะจัดเก็บภาษีตามมูลค่าอัตราเดียว คือ 40% และภาษีตามปริมาณ 1.20 บาทต่อมวน และยาเส้นจะมีอัตราภาษีตามมูลค่าร้อยละ 0 และภาษีตามปริมาณ 0.10 บาทต่อกรัม
แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่ออุตสาหกรรมยาสูบโดยเฉพาะเกษตรกรผู้เพาะปลูกใบยาสูบ ดังนั้น เพื่อเป็นการฟื้นฟูเยียวยาจากการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว และให้มีระยะเวลาในการปรับตัวเพื่อรองรับกับโครงสร้างภาษีบุหรี่ซิกาแรตตามมูลค่าแบบอัตราเดียวที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จึงมีความจำเป็นต้องกำหนดโครงสร้างภาษีสรรพสามิตยาสูบใหม่และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ ดังนี้
1. อัตราภาษีบุหรี่ซิกาแรต จัดเก็บภาษีตามมูลค่า 25% ของราคาขายปลีกแนะนำ ซองละไม่เกิน 72 บาท และ 42% ของราคาขายปลีกแนะนำที่เกินซองละ 72 บาท และจัดเก็บภาษีตามปริมาณ 1.25 บาทต่อมวน
2. อัตราภาษียาเส้นที่มีปริมาณการผลิตไม่เกิน 12,000 กิโลกรัมต่อปี จัดเก็บอัตราภาษีตามปริมาณที่ 0.025 บาทต่อกรัม และยาเส้นที่มีปริมาณการผลิตเกิน 12,000 กิโลกรัม จัดเก็บอัตราภาษีตามปริมาณที่ 0.10 บาทต่อกรัม
นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรียังได้มีมติมอบหมายให้กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพสามิต พิจารณาศึกษาทบทวนโครงสร้างและอัตราภาษียาสูบทั้งในระยะปานกลางและระยะยาวเพื่อนำไปสู่โครงสร้างแบบอัตราเดียวในอนาคตที่เหมาะสม เป็นธรรม และคำนึงถึงการแข่งขันในตลาดรวมทั้งการดูแลสุขภาพของประชาชน พร้อมทั้ง มอบหมายให้การยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลเกษตรกรผู้เพาะปลูกยาสูบทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อให้เกษตรกรผู้เพาะปลูกยาสูบเปลี่ยนมา ปลูกพืชทดแทนและให้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สร้างองค์ความรู้หรือสนับสนุนทางวิชาการให้กับเกษตรกรในการปลูกพืชทดแทนเพื่อลดพื้นที่การเพาะปลูกยาสูบอีกด้วย
อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวต่อว่า โครงสร้างภาษีสรรพสามิตยาสูบใหม่คาดว่าจะลดการบริโภคยาสูบได้ประมาณร้อยละ 2-3 และการปรับเพิ่มชั้นราคาบุหรี่ซิกาแรต (Threshold) ทำให้ตลาดบุหรี่ซิกาแรตมีการแข่งขันด้านราคามากขึ้นเป็นการเพิ่มโอกาสรับซื้อใบยาสูบจากเกษตรกรเพิ่มขึ้น อีกทั้ง โครงสร้างภาษีสรรพสามิตยาสูบใหม่ทำให้ภาครัฐสามารถจัดเก็บรายได้ภาษีเพิ่มขึ้นประมาณ 3,500-4,500 ล้านบาทต่อปี แต่อาจทำให้มีสินค้ายาสูบหนีภาษีเพิ่มขึ้น ซึ่งกรมสรรพสามิตจะดำเนินการปราบปรามอย่างเข้มงวดต่อเนื่องโดยจัดตั้งศูนย์ปราบปรามสินค้าออนไลน์
นอกจากนี้ ประชาชนยังสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการแจ้งเบาะแสการกระทำความผิดและตรวจสอบความถูกต้องของสินค้าที่ซื้อได้ด้วยตนเอง โดยใช้ Smartphone สแกน QR code บนดวงแสตมป์ รายละเอียดของสินค้าและข้อมูลการชำระภาษีก็จะปรากฏขึ้นมาทันที หรือหากพบการกระทำผิดจากการจำหน่ายสินค้ายาสูบ สามารถแจ้งผ่านสายด่วนกรมสรรพสามิต 1713
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคกรมสรรพสามิตได้ประสานไปยังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กรมสรรพากร กรมการค้าภายใน เพื่อป้องกันการฉวยโอกาสในการขึ้นราคาจำหน่ายอีกด้วย นอกจากนี้ กรมสรรพสามิตได้นำเทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น ระบบการติดตามและแกะรอย (Tracking and Tracing) และ E-Stamp เป็นต้น เข้ามาช่วยในการป้องกันสินค้ายาสูบที่หนีภาษีและเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตยาสูบ
อธิบดีกรมสรรพสามิตกล่าวทิ้งท้ายว่า คณะรัฐมนตรียังได้เห็นชอบในหลักการโครงการ ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้เพาะปลูกยาสูบและผู้บ่มอิสระที่ได้รับผลกระทบจากการลดปริมาณการรับซื้อใบยาสูบของการยาสูบแห่งประเทศไทยฤดูการผลิต 2562/2563 โครงการดังกล่าวจะใช้งบประมาณจำนวน 159.59 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้เพาะปลูกยาสูบและผู้บ่มอิสระประมาณ 14,200 ราย ทั้งนี้ กรมสรรพสามิตจะประสานการยาสูบแห่งประเทศไทยและสำนักงบประมาณ เพื่อจ่ายเงินชดเชยให้แก่เกษตรกรผู้เพาะปลูกยาสูบและผู้บ่มอิสระต่อไป.