“สุพัฒนพงษ์” สั่งติดตามสถานการณ์ ก๊าซหุงต้มในตลาดโลกใกล้ชิด ก่อนหารือ กบง.ว่า จะขยายมาตรการตรึงราคาไว้ที่ระดับ 318 บาทต่อถัง 15 กก. ที่จะสิ้นสุดเดือน ก.ย.นี้หรือไม่ ขณะที่ สกนช.เกาะติดรับราคาตลาดโลกปีนี้สูง หลังทั่วโลกแห่ทำงานอยู่บ้าน
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้มีนโยบายในการดูแลราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ภาคครัวเรือน โดยตรึงราคาไว้ที่ 318 บาท ต่อถัง 15 กิโลกรัม (กก.) อีก 3 เดือน (ก.ค.-ก.ย. 2564) จากเดิมสิ้นสุดเมื่อ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพให้ประชาชน ขณะที่คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ก็ได้ขยายกรอบวงเงินดูแลราคาแอลพีจี จากเดิม 15,000 ล้านบาท เป็น 18,000 ล้านบาทไว้ก่อนหน้านี้ และหากสิ้นสุดระยะเวลา กระทรวงพลังงานจะพิจารณาต่ออายุมาตรการหรือไม่ ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะตัดสินใจ ขอติดตามปัจจัยต่างๆในเดือน ส.ค.-ก.ย.นี้เป็นองค์ประกอบก่อนตัดสินใจอีกครั้ง
“หากดูตัวเลขสถานะกองทุนน้ำมันโดยรวมขณะนี้ยังไม่มีปัญหา จึงสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปติดตามปัจจัยต่างๆประกอบการตัดสินใจ ทั้งเรื่องค่าครองชีพประชาชนและราคาแอลพีจีในตลาดโลกและการประชุมกบง.เดือน ก.ย.นี้ จะมีคำตอบให้ประชาชนรับทราบ”
นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) กล่าวว่า สกนช.ได้ติดตามราคาแอลพีจีตลาดโลกอย่างใกล้ชิด เนื่องจากภาพรวมปีนี้ราคาค่อนข้างสูง โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 580-640 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน เนื่องจากหลายประเทศทั่วโลกมีการทำงานที่บ้าน (WFH) เช่นเดียวกับประเทศไทย ทำให้ความต้องการใช้แอลพีจีเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งหากราคาตลาดโลกยังเฉลี่ยอยู่ระดับดังกล่าว กรอบวงเงินที่รัฐบาลกำหนดไว้ใช้ดูแลราคาแอลพีจีในประเทศในส่วนของภาคครัวเรือนที่ 18,000 ล้านบาทจะเพียงพอดูแลได้ถึงเดือน ก.ย.นี้ “ขณะนี้เงินไหลออกจากกองทุนน้ำมันที่เกิดจากการตรึงราคาแอลพีจีที่ 318 บาทต่อถัง 15 กก. เดือนละ 800 ล้านบาท สกนช.ได้ใช้เงินดูแลไปแล้ว 15,000 ล้านบาท ดังนั้นเมื่อถึงเดือน ก.ย.ก็จะใช้ไปราว 17,000 ล้านบาท ซึ่งยังไม่เกินกรอบวงเงินที่กำหนดไว้ “
ขณะเดียวกัน หากรัฐบาลจะดูแลราคาต่อเนื่องในส่วนของภาคครัวเรือน เดือน ต.ค.เป็นต้นไปก็ต้องขยายกรอบวงเงินเพิ่ม ซึ่งต้องให้ กบง. ตัดสินใจ โดยขณะนี้ฐานะกองทุนน้ำมันสุทธิอยู่ที่ 15,000 ล้านบาท มีเงินไหลออกรวม 1,600 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งเป็นการใช้เพื่อดูแลราคาน้ำมันในกลุ่มน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ และแอลพีจีประเภทละ 50% หากราคาน้ำมันพื้นฐานและแอลพีจีอยู่ในระดับปัจจุบันก็จะมีเงินดูแลได้อีก 10 เดือน
ทั้งนี้ ที่ผ่านมานโยบายรัฐบาลต้องการเปิดเสรี การจำหน่ายแอลพีจี เช่นเดียวกับน้ำมัน เพื่อให้เกิดการแข่งขันและลดการอุดหนุนจากรัฐบาล หากจะให้สะท้อนต้นทุนจริง ราคาแอลพีจีต้องปรับราคาขึ้น 3 ขั้นตอน (Step) โดยปรับขึ้นครั้งละ 1 บาทต่อ กก. แต่เพราะราคาแอลพีจีในตลาดโลกปรับขึ้นต่อเนื่องและผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้นายสุพัฒน์พงษ์ จึงมีนโยบายให้นำเงินกองทุนน้ำมันมาตรึงราคาแอลพีจีไว้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน เพราะเห็นว่าผู้ที่ใช้แอลพีจีเป็นภาคครัวเรือนและเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจฐานรากโดยแท้จริงและประโยชน์จากการตรึงราคาก็ได้รับเกือบทุกคน
ด้านนายสุรศักดิ์ อยู่คงพัน นายกสมาคมผู้ค้าก๊าซปิโตรเลียมเหลวกล่าวว่า อยากให้รัฐบาลตรึงราคาแอลพีจีภาคครัวเรือนไว้ที่ 318 บาทต่อถัง 15 กก.ไปถึงเดือน ธ.ค.นี้ เพราะผลกระทบจากโควิด-19 และมาตรการล็อกดาวน์ทำให้ประชาชนระดับฐานรากขาดรายได้ กิจการขนาดเล็กโดยเฉพาะร้านอาหารต้องปิดตัวลงหรือบางแห่งอาจเปิดขายได้แต่ก็มีกำไรน้อยเพราะกำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง.