เพิ่มเงินเยียวยา 8,500 ล้านบาท ร้านค้า-ธุรกิจบริการ-นายจ้าง-ลูกจ้าง 6 จังหวัด

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เพิ่มเงินเยียวยา 8,500 ล้านบาท ร้านค้า-ธุรกิจบริการ-นายจ้าง-ลูกจ้าง 6 จังหวัด

Date Time: 30 มิ.ย. 2564 06:30 น.

Summary

  • ครม.อนุมัติเยียวยานายจ้าง-ลูกจ้าง 6 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งรัฐบาล 8,500 ล้านบาท เป็นเงินช่วยเพิ่มเติมจากเงินกู้รัฐบาล 5,000 ล้านบาท และเงินที่ประกันสังคมจ่าย 50% ของเงินเดือน

Latest

ล้อมคอกรถโดยสารสาธารณะยึดมาตรฐาน "UN”

ครม.อนุมัติเยียวยานายจ้าง-ลูกจ้าง 6 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งรัฐบาล 8,500 ล้านบาท เป็นเงินช่วยเพิ่มเติมจากเงินกู้รัฐบาล 5,000 ล้านบาท และเงินที่ประกันสังคมจ่าย 50% ของเงินเดือนอีก 3,500 ล้านบาท ยังไม่เข้าระบบประกันสังคมให้รีบเข้าด่วนภายใน ก.ค.นี้ ฝนตกทั่วฟ้า! ก่อสร้าง พักแรม สถานบันเทิง ซ่อมคอม-มือถือ ซักรีด-ตัดผม ลดน้ำหนัก สปา แต่งเล็บมือ-เล็บเท้า ดูแลสัตว์เลี้ยงได้หมด

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนา การเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการมาตรการบรรเทาผลกระทบต่อกลุ่มแรงงาน และผู้ประกอบการ อันเนื่องจากข้อกำหนดออก ตามความในมาตรการ 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 25) ในเบื้องต้นคาดว่าการให้ความช่วยเหลือเร่งด่วนระยะ 1 เดือน มีกรอบวงเงินที่ใช้เงินกู้โควิด-19 ประมาณ 5,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,000 ล้านบาท จากการหารือเมื่อวันที่ 28 มิ.ย.2564 ที่ 4,000 ล้านบาท เนื่องจากมาตรการนี้ต้องการดึงผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบประกันสังคมมากขึ้น จึงให้คนที่อยู่นอกระบบรีบเข้ามาลงทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคมภายในเดือน ก.ค.นี้ เพื่อให้ทั้งนายจ้างและลูกจ้างคนไทยจะได้รับเงินช่วยเหลือด้วย

ขณะเดียวกัน ยังต้องเผื่อเงินไว้สำหรับผู้ประกอบการที่ไม่มีลูกจ้าง ที่ให้มาลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันถุงเงิน ผ่านโครงการคนละครึ่งเพื่อรับความช่วยเหลือ 3,000 บาทด้วย โดยการเยียวยาครั้งนี้จะรวมถึงกิจการที่พักแรม และสถานบันเทิงด้วย โดยคณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้โควิด-19 จะรีบพิจารณารายละเอียด เพื่อนำเสนอ ครม.อนุมัติในสัปดาห์หน้า ขณะที่มาตรการจ่ายเงินเยียวยา 50% จากฐานเงินเดือนหรือคนละไม่เกิน 7,500 บาทของสำนักงานประกันสังคม สามารถดำเนินการได้เลยโดยไม่ต้องนำเสนอ ครม. ซึ่งส่วนนี้คิดเป็นเงินช่วยเหลือรวม 3,500 ล้านบาท

ด้านนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กลุ่มเป้าหมายให้ความช่วยเหลือ ได้แก่ กลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการในกิจการที่ได้รับผลกระทบตามข้อกำหนด ทั้งในส่วนที่อยู่ในระบบและนอกระบบ ขณะที่ประเภทกิจการที่ให้ความช่วยเหลือ ได้แก่ กิจการก่อสร้าง กิจการที่พักแรมและบริการด้านอาหาร กิจกรรมศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ และกิจกรรมบริการด้านอื่นๆตามที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด เช่น ซ่อมคอมพิวเตอร์ ซ่อมอุปกรณ์มือถือ ซ่อมเครื่องใช้ครัวเรือน ซ่อมเสื้อผ้า เครื่องหนัง ซ่อมเฟอร์นิเจอร์ ซ่อมเครื่องดนตรี ร้านซักรีด ร้านตัดผม ธุรกิจลดน้ำหนัก สปา แต่งเล็บมือ เล็บเท้า ดูแลสัตว์เลี้ยง โดยมีระยะเวลาการให้ความช่วยเหลือจำนวน 1 เดือน ในพื้นที่ กรุงเทพฯ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร

สำหรับรูปแบบการให้ความช่วยเหลือในวงเงิน 5,000 ล้านบาท นี้ ในส่วนของลูกจ้างจะต้องเป็นแรงงานที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 สัญชาติไทยจะได้รับเงินช่วยเหลือเพิ่มเติม จากเงินช่วยเหลือในส่วนระบบประกันสังคม ในอัตรา 2,000 บาทต่อคน ขณะที่ผู้ประกอบการหรือนายจ้างจะได้รับความช่วยเหลือตามจำนวนลูกจ้าง สูงสุดไม่เกิน 200 คน ในอัตรา 3,000 บาทต่อคน หรือสูงสุดไม่เกิน 600,000 บาทต่อราย

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการหรือนายจ้างที่ปัจจุบันไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม ในกรณีที่เป็นผู้ประกอบการที่มีลูกจ้างให้ลงทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคมภายในเดือน ก.ค.2564 จะได้รับเงินช่วยเหลือตามจำนวนลูกจ้างสูงสุดไม่เกิน 200 คน ในอัตรา 3,000 บาทต่อคน และลูกจ้างที่เป็นสัญชาติไทยจะได้รับความช่วยเหลือ 2,000 บาทต่อคน ส่วนกรณีที่เป็นผู้ประกอบการที่ไม่มีลูกจ้างให้ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” ผ่านโครงการคนละครึ่ง ภายในเดือน ก.ค.2564

ผู้ประกอบการจะได้รับความช่วยเหลือในอัตรา 3,000 บาท ส่วนกรณีที่เป็นผู้ประกอบการร้านอาหาร เครื่องดื่ม ของโครงการคนละครึ่งที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคม เนื่องจากไม่มีลูกจ้าง จะได้รับการช่วยเหลือในอัตรา 3,000 บาท สำหรับผู้ประกอบการที่อยู่ในโครงการคนละครึ่งและมีลูกจ้าง แต่ยังไม่อยู่ในระบบประกันสังคมให้ลงทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคมภายในเดือน ก.ค.นี้

ส่วนมาตรการอื่นๆได้ขอให้กระทรวงการคลังทำโครงการต่างๆ ทั้งโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 คนละครึ่ง ระยะที่ 3 และยิ่งใช้ยิ่งได้ ขณะที่มาตรการให้ความช่วยเหลือในระยะต่อไป ได้ขอเร่งให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี โดยให้กระทรวงแรงงานประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการที่มีลูกจ้างมาลงทะเบียนในระบบประกันสังคม และให้ สศช.ประสานกับกระทรวงแรงงาน และกระทรวงการคลัง เพื่อกำหนดรูปแบบการให้ความช่วยเหลือ เยียวยาให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบตามความเหมาะสมต่อไป.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ