นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รมว.พลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) เปิดเผยหลังการประชุมบอร์ดอีวีว่าที่ประชุมได้พิจารณาแนวทางการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ของประเทศไทยเพื่อก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอีวี ที่สำคัญของโลก และได้มอบให้คณะอนุกรรมการที่ดูแลรายละเอียดแต่ละโครงการของบอร์ดอีวี นำแนวทางต่างๆ กลับไปศึกษารายละเอียดและความเป็นไปได้ของมาตรการส่งเสริมต่างๆ ทั้งแนวทางมาตรการด้านภาษี และมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี
เบื้องต้นกำหนดแนวทางส่งเสริม 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ระยะเร่งด่วน ปี 2564-2565 เพื่อให้เกิดการนำร่องส่งเสริมการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าและโครงสร้างพื้นฐานรองรับทั่วประเทศ ระยะที่ 2 ปี 2566-2568 จะเน้น การพัฒนาอีวี โดย มีเป้าหมายการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์นั่งและรถกระบะ 225,000 คัน รถจักรยานยนต์ 360,000 คัน และรถบัส/ รถบรรทุก 18,000 คัน ภายในปี 2568 รวมถึงการผลิตแบตเตอรี่เพื่อตอบสนองการผลิตในประเทศ ซึ่งเป็นตัวชี้วัดแรกและถือว่าเป็นเป้าหมายการผลิตเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน
“สำหรับระยะที่ 3 ปี 2569-2573 เป็นการ ขับเคลื่อนแผนและมาตรการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์นั่งและรถกระบะรวม 725,000 คัน ประเภทรถจักรยานยนต์จะมีการผลิตรวม 675,000 คัน ในปี 2573 และรวมถึงการผลิตแบตเตอรี่เพื่อตอบสนองการผลิตในประเทศไทย นอกจากนี้ยังกำหนดเป้าหมายการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะกระจายทั่วประเทศให้ได้ภายในปี 2573 สำหรับรถยนต์นั่งและรถกระบะในลักษณะการชาร์จแบบเร็ว จะมีจำนวน 12,000 หัวจ่าย”.