โควิด-19 ทุบคนไทยยากจนหนัก ผลกระทบที่เกิดขึ้น ตอกย้ำความเปราะบางทางการเงิน สศช.เผยค่าใช้จ่ายคน ส่วนใหญ่เพิ่มขึ้น 33% สวนทางกับรายได้ลดลง 54% ตัวเลขหนี้ครัวเรือนมูลค่า 13.59 ล้านล้านบาท คิดเป็น 83.8% ของจีดีพี โจทย์ใหญ่ท้าทายภาครัฐและสถาบันการเงิน หามาตรการ แก้ไขในสภาวะความไม่แน่นอนที่สูงขึ้น “คลัง” กู้เงินเอดีบี 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
น.ส.จินางค์กูร โรจนนันต์ รองเลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยภาวะสังคมไทยไตรมาสที่ 3 ว่า ผลกระทบของโควิด-19 ต่อความยากจนคนไทย ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) ได้สำรวจพบว่า ค่าใช้จ่ายของคนส่วนใหญ่เพิ่มขึ้น 33% สวนทางกับรายได้ที่ลดลงมากถึง 54% สิ่งที่ตามมาทำให้มีหนี้สินเพิ่มขึ้นโดยเป็นหนี้ในระบบ 14% และ 9% เป็นหนี้นอกระบบ ขณะที่หนี้ครัวเรือนในไตรมาส 2 มีมูลค่า 13.59 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.8% คิดเป็น 83.8% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) เป็นผลจากการหดตัวเศรษฐกิจรุนแรง สะท้อนความเปราะบางทางการเงินของครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ หรือมีความเสี่ยงทางรายได้และการมีงานทำจากวิกฤติทางเศรษฐกิจและโควิด-19
ดังนั้น ขณะนี้ต้องเฝ้าระวังปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างใกล้ชิด เพราะ ณ สิ้นไตรมาส 2 พบหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของธนาคารพาณิชย์มีมูลค่า 152,501 ล้านบาท ขยายตัว 19.7% มีสัดส่วน 3.12% ต่อสินเชื่อรวม แนวโน้มหนี้ครัวเรือนไตรมาส 3 คาดว่าความต้องการสินเชื่อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และเอ็นพีแอลมีแนวโน้มสูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่หดตัว และสัญญาณการฟื้นตัวที่ยังไม่ชัดเจน โควิด-19 ได้ตอกย้ำถึงความเปราะบางทางการเงินและปัญหาเชิงโครงสร้างครัวเรือนไทย จากการขาดหลักประกันและภูมิคุ้มกันในการรองรับ ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ แม้ภาครัฐและสถาบันการเงิน มีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ แต่เมื่อระยะเวลาช่วยเหลือสิ้นสุดลง และเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว ก็เสี่ยงเกิดหนี้เสียจำนวนมาก และครัวเรือนจะก่อหนี้นอกระบบมากขึ้นเป็นความท้าทายของภาครัฐและสถาบันการเงิน ในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ในสภาวะความไม่แน่นอนที่สูง
“ผลสำรวจคนจนเมืองของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พบว่า คนจนเมือง 60% รายได้ลดลงเกือบทั้งหมด อีก 31% ลดลงครึ่งหนึ่ง โดยคนจนเมืองต้องพึ่งความช่วยเหลือจากภาครัฐและภาคเอกชนที่แจกจ่าย อาหารและของอุปโภค และมีอีกจำนวนมากต้องกู้หนี้ยืมสิน หรือนำของใช้ในบ้านไปจำนำ”
สิ่งที่ต้องระวังคือ กลุ่มครัวเรือนเปราะบาง เสี่ยงต่อการตกเป็นครัวเรือนยากจน โดยโควิด-19 ทำให้จำนวนครัวเรือน 1.14 ล้านครัวเรือน ที่ครัวเรือนเปราะบางนี้เป็นครัวเรือนที่ไม่ใช่ครัวเรือนยากจน แต่มีสถานะความเป็นอยู่ใกล้เคียงกับครัวเรือนยากจนมากที่ต้องมีมาตรการเข้าไปรองรับ เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเร่งด่วน อาจทำให้เศรษฐกิจไทยหดตัวรุนแรง ส่งผลกระทบต่อรายได้และความเป็นอยู่ของประชาชน อัตราการว่างงาน ปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อครัวเรือนที่เดิมยากจนอยู่แล้ว และครัวเรือนกลุ่มที่อ่อนไหวต่อปัจจัยกระทบและอาจตกเป็นครัวเรือนยากจนที่ปัจจุบันมีคนยากจนอยู่ 4.3 ล้านคน หรือ 1.31 ล้านครัวเรือน
“ไตรมาส 3 มีผู้ว่างงาน 740,000 คน คิดเป็นอัตราว่างงานเท่ากับ 1.9% ใกล้เคียงกับไตรมาสที่ 2 ที่มีอัตรา 1.95% เพราะเป็นช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 รุนแรง และแรงงานอายุน้อยและการศึกษาสูงมีปัญหาการว่างงานมากกว่าคนกลุ่มอื่น เพราะการศึกษาไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน”
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวหลังลงนามในสัญญาความร่วมมือด้านการเงินระหว่างกระทรวงการคลังและธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ว่า เป็นการกู้เงินเอดีบีภายใต้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท เพื่อนำมาสนับสนุนงบในการพัฒนาประเทศ และ ป้องกันโควิด-19 ที่มีแผนการกู้เงิน 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 45,300 ล้านบาท (เงินบาทอยู่ที่ 30.20 บาทต่อดอลลาร์) ส่วนระยะต่อไป จะกู้เงินจากต่างประเทศอีกหรือไม่ อยู่ระหว่างการพิจารณา
นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงาน บริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า การกู้เงินตาม พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท มีการกู้ไปแล้ว 338,000 ล้านบาท หรือ 34% ของแผนกู้เงิน ขณะนี้เหลือเงินกู้ที่สามารถนำมาใช้เพื่อเยียวยาโควิด-19 ได้ไม่ถึง 10,000 ล้านบาท สบน.ต้องกู้เงินเพิ่ม หากจะมีการทำโครงการคนละครึ่งระยะที่ 2 โดยเป็นการทยอยกู้ตามความต้องการใช้ตามนโยบายของรัฐ.