เอกอัครราชทูต 5 ชาติ เสรีประชาธิปไตย ประกอบด้วย สหรัฐฯ อังกฤษ ออสเตรเลีย เยอรมนี และญี่ปุ่น ออกแถลงการณ์ ร่วมกระตุ้นรัฐบาลไทยปรับการทำงาน ปฏิรูปศักยภาพในการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เหนือกว่าใครในภูมิภาค เสนอแผนนำไปปฏิบัติได้ทันที 10 ข้อ สร้างความโปร่งใส ขจัดความซ้ำซ้อนกฎระเบียบ หากทำได้เชื่อไทยติดท็อปเทนของโลกในดัชนีประเทศน่าลงทุนของเวิลด์ แบงก์ ขณะเยอรมนีย้ำไทยต้องพัฒนาระบบการศึกษา ฝึกคิดเชิงวิพากษ์ และวางแผนระยะยาวให้เป็นเอกอัครราชทูต 5 ชาติเสรีประชาธิปไตย รวมพลังเสนอแนะและกระตุ้นรัฐบาลไทยให้ปรับปรุงการทำงานให้ทันสมัยเข้ากับโลกในยุคปัจจุบัน เพื่อดึงดูดให้นักธุรกิจต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยให้มากขึ้น มีขึ้นเมื่อวันที่ 13 พ.ย.
นายไมเคิล ดีซอมบรี เอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำประเทศไทย เปิดทำเนียบเอกอัครราชทูตถนนวิทยุ กทม. ต้อนรับนายอัลลัน แม็คคินนอน เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย นายไบรอัน เดวิดสัน เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย นายเกออร์ก ชมิดท์ เอกอัครราชทูตสหพันธรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย และนายคาซุยะ นาชิดะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ก่อนร่วมกันออกแถลงการณ์เสนอแนะรัฐบาลไทย ถึง 10 มาตรการ เพื่อปฏิรูปและยกระดับไทยสู่ 10 อันดับ ประเทศที่ประกอบธุรกิจได้ง่ายที่สุด ตามดัชนีความยากง่ายในการประกอบธุรกิจของธนาคารโลก “เวิลด์ แบงก์” ที่สามารถนำไปปฏิบัติได้ทันที
ทั้งนี้ เอกอัครราชทูตทั้ง 5 ชาติ ได้ร่วมกันกล่าวถึงข้อเสนอแนะ ประกอบด้วย 1.ให้ลดขั้นตอนพิธีการศุลกากรการค้าผ่านแดนสู่ระบบดิจิทัล 2.จัดตั้งพิธีการศุลกากรตามระบบบัญชี ที่สามารถระบุความเสี่ยง และทำให้ระบบประมวลภาษีศุลกากรทันสมัย 3. ดำเนินโครงการทบทวนการอนุญาตของทางราชการ ทบทวนกฎและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำจัดความซ้ำซ้อน 4.เพิ่มแพลตฟอร์มรูปแบบรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้กระบวนการทำงานอยู่บนระบบออนไลน์ภายในปี 2568
กลุ่มเอกอัครราชทูตทั้ง 5 ชาติ ยังได้กล่าวถึงข้อเสนอแนะต่อไปด้วยว่า ลำดับที่ 5.ให้ลดความซับซ้อนในการสมัครขอรับการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ 6.สร้างสภาพแวดล้อมเพื่อเดินหน้าสู่การค้าดิจิทัล 7.ปฏิรูปข้อกำหนดที่เข้มงวดเกี่ยวกับแรงงานฝีมือชาวต่างชาติ และลดขั้นตอนขอวีซ่าสำหรับแรงงานฝีมือ 8.เน้นความสำคัญของความโปร่งใสเพื่อคลี่คลายข้อพิพาท 9.ปรับปรุงกระบวนบังคับคดีล้มละลาย รวมทั้งตีพิมพ์และจัดทำดัชนีกฎหมายว่าด้วยการล้มละลายทั้งหมด 10.เพิ่มกระบวนการดิจิทัลในการอนุมัติขององค์การอาหารและยาออกเอกสารแบบดิจิทัล และรับลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ หากทำได้ทั้งหมดนี้เชื่อว่าไทยจะมีค่าดัชนีชี้วัดของธนาคารโลกที่ดีขึ้น และนักลงทุนก็จะหันมาสนใจยิ่งกว่าชาติอื่นๆในภูมิภาค
กลุ่มเอกอัครราชทูตทั้ง 5 ชาติ ยังกล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยไต่อันดับดัชนีของเวิลด์ แบงก์ ได้อย่างรวดเร็ว โดยจากอันดับที่ 46 สู่อันดับที่ 26 และ 21 ในช่วงไม่กี่ปี หากไทยนำมาตรการ 10 ข้อมาบังคับใช้ คาดการณ์ว่าประเทศไทยจะขึ้นสู่ 10 อันดับแรก ประเทศที่ประกอบธุรกิจได้ง่ายที่สุด พร้อมจะช่วยปูรากฐานสำหรับสภาพแวดล้อมในการสร้างเศรษฐกิจใหม่ที่เอื้อต่อการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ตลอดจนช่วยสนับสนุนการแข่งขัน ส่งเสริมความโปร่งใส และทำให้หลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ซึ่งนายดีซอมบรี กล่าวว่าไทยมีเวลาคว้าช่องโอกาสนี้ภายในกรอบเวลา 3-6 เดือน
นอกจากนี้ นายชมิดท์ เอกอัครราชทูตเยอรมนี ยังมีมุมมองด้วยว่าไทยมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีอยู่แล้ว แต่ควรเตรียมตัวว่าไทยอยากจะอยู่จุดไหนในอีก 10 ปีข้างหน้า เข้าใจว่าต้องรับมือสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 และผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ตามมา แต่ถ้าตัดสินใจได้ดีจะช่วยให้ไทยยกระดับในเรื่องห่วงโซ่อุปทานได้ พร้อมอยากให้พัฒนาระบบการศึกษา การฝึกภาษา เรื่องการคิดเชิงวิพากษ์ Critical Thinking และวางแผนระยะยาว ไม่ใช่คิดกันเพียงปีสองปี และอยากให้ประเทศไทยใช้หลักมาตรฐานแบบเปิดกว้าง Open Standard เพื่อจะได้ไม่ยึดติดกับมาตรฐานเดียว
ขณะที่นายแม็คคินนอน เอกอัครราชทูตออสเตรเลีย ได้ให้ความเห็นกรณีการประชุมสุดยอดอาเซียนว่า เป็นเรื่องที่ดีสำหรับไทยในการเข้าร่วมความตกลงพันธมิตรทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค RCEP ส่วนนายดีซอมบรี เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ตอบคำถามเรื่องการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก CPTPP จากที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้เคยถอนตัวไปว่า รัฐบาลสหรัฐฯในตอนนี้ยังไม่มีแผนจะกลับเข้าร่วมแต่อย่างใด และเรื่องผลการเลือกตั้งยังไม่สรุป จึงไม่อยู่ในจุดที่สามารถตอบได้ เมื่อสื่อมวลชนได้สอบถามเอกอัครราชทูตออสเตรเลียเกี่ยวกับเรื่องนี้ นายแม็คคินนอนได้ยิ้มพร้อมตอบว่า ยินดีต้อนรับสหรัฐฯกลับสู่ CPTPP ทุกเมื่อ เช่นเดียวกับนายนาชิดะที่ผายมือไปทางเอกอัครราชทูตออสเตรเลีย พร้อมกล่าวว่าขอตอบแบบเดียวกัน