“สุพัฒนพงษ์” ยกไทยรัฐเป็นสถาบัน เข้าใจบริบทประเทศไทย ชี้ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจไทยปี 2564 ต้องพึ่งพาการลงทุนในประเทศ ความสำเร็จขึ้นกับภาคเอกชนไทย ต้องดึงดูดอุตสาหกรรมใหม่ๆมาลงทุนในไทยให้ได้เพื่อเปลี่ยนจากที่เราอาศัยการท่องเที่ยวเป็นหลักและส่งออกสินค้าเดิมๆ ให้เป็นสินค้าของอุตสาหกรรมใหม่ ชี้ปีหน้ามีทุนใหญ่มาแน่ เชื่อว่าภายในกลางปีหน้าประชาชนจะรู้สึกได้ของการฟื้นตัวอย่างแท้จริง เมื่อมีวัคซีนโควิดไทยจะพร้อมและวิ่งได้เร็วกว่าคนอื่น ขอความร่วมมือคนไทยช่วยกัน เมื่อช่วยกันอย่างต่อเนื่องในปี 2563 ไปถึงปี 2564 จะเห็นผลชัดในปี 2565
ที่โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ เมื่อเวลา 18.30 น.วันที่ 11 พ.ย. “ไทยรัฐกรุ๊ป” โดยบริษัท วัชรพล จำกัด และบริษัทในเครือ ร่วมกับ PTT บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และผู้สนับสนุนหลัก ประกอบด้วย PTTEP บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) PTTOR บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) PTTGC บริษัท พีทีที โกลบอล ปิโตรเคมิคอล จำกัด (มหาชน) “CP” บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด “ททท.” การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย “PT” บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน) บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด บิวตี้เจมส์ บริษัท รีเจน โซลูชั่น แอนด์ ดิสทริบิวชั่น “AIS” บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) บริษัท นีโอ อีลิท จำกัด จัดงานดินเนอร์ทอล์ก SHARING OUR COMMON FUTURE “ร่วมแรง เปลี่ยนแปลง แบ่งปัน” โดยมีปาฐกถาพิเศษ “ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจไทยปี 2564” และการเสวนาในหัวข้อ “เศรษฐกิจหลังโควิด-19 จุดยืนของไทยในเวทีโลก” เพื่อเป็นสื่อกลางและเป็นเวทีให้ผู้กำหนดนโยบายกับภาคธุรกิจต่างๆ ได้มาร่วมพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยในทุกมิติ ให้หลุดพ้นจากสภาพเศรษฐกิจหยุดชะงักไม่ขยายตัว เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไปพร้อมกันอย่างยั่งยืน
บรรยากาศงานเป็นไปอย่างคึกคัก มีบุคคลสำคัญในแวดวงเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งภาคธุรกิจการเงิน อุตสาหกรรม การท่องเที่ยวและเทคโนโลยี มาร่วมงานเป็นจำนวนมาก อาทิ นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) น.ส.จีราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และนายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)
นายสราวุธ วัชรพล บรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ กล่าวเปิดงานว่า วันนี้เป็นวันสำคัญมากสำหรับพวกเราชาวไทยรัฐกรุ๊ป เป็นวันที่พวกเราดำเนินกิจการมา 70 ปีเต็ม ไทยรัฐกรุ๊ปจึงร่วมกับ ปตท.จัดงานดินเนอร์ทอล์กในคืนนี้ขึ้นมา ทุกคนทราบดีว่าโลกทั้งใบอาการหนัก ตกทุกข์ได้ยากกันทั้งโลกเพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ท่านรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน ท่าน รมว.คลัง ท่านผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยและท่านเลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะผู้รู้จริงจะมาพูดถึงทิศทางและอนาคตเศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะเดินไปทิศทางใด ผมรู้สึกปลาบปลื้มผู้ให้การสนับสนุนทุกท่านที่ให้ความเอ็นดูชาวไทยรัฐกรุ๊ป และจะเก็บไว้ในหัวใจไม่มีวันลืม
จากนั้นเป็นพิธีเปิดงาน เสร็จแล้วในเวลา 19.15 น. นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ ภายใต้หัวข้อ “ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจไทยปี 2564” ว่า รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่มาร่วมงานนี้ เพราะไทยรัฐเป็นสถาบันสื่อมวลชน วันนี้ได้รู้จักคอลัมนิสต์ที่อยากจะเจอ ไม่เคยลืมที่เห็นหนังสือพิมพ์ไทยรัฐเป็นผู้นำประชาชน เป็นหนังสือพิมพ์เล่มเดียวที่เอานิยายจอมยุทธ์ดาบวงพระจันทร์มาลง และวันนี้ผมยังเป็นสมาชิกหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
นายสุพัฒนพงษ์กล่าวอีกว่า นี่คือสิ่งที่ผมเรียกว่าเป็นสถาบัน เข้าใจบริบทประเทศไทย และยังเข้าใจต่อว่าเมื่อเกิดโควิดแล้วเกิดอะไร ตกใจกันทั้งโลกเพราะเหตุการณ์นี้ไม่เคยเกิด ไม่เคยแก้ไขได้มาก่อน จึงต้องพัฒนาตัวเราเองตลอดไป ต้องเรียนว่าตอนนี้ถือว่าประเทศไทยประสบความสำเร็จ ก่อนหน้านี้ทุกคนรู้สึกมากที่กระทรวงสาธารณสุขไม่สามารถรับมือกับการระบาดได้ ในวันที่เราเห็น รมว.สาธารณสุขออกมายอมรับว่าร้ายแรง ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิดในตอนนั้นรู้สึกไม่มีทางออก เป็นอะไรที่ยากที่สุด และต้องอยู่ห่างความรัก ต้องอยู่ห่างกัน”
รองนายกรัฐมนตรีฯกล่าวอีกว่า หลังที่มีการจัดการของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) เหตุการณ์ก็ค่อยๆบรรเทาลง เราจะพบสถานที่ประเทศไทยที่ค่อยๆเป็นสีแดงจนเหลือสองจังหวัดและค่อยๆเป็นสีเขียว จากไม่รู้ธุรกิจจะอยู่อย่างไร เราเดินฝ่าฟันมาได้เพราะร่วมไม้ร่วมมือกัน เราแบ่งปัน น่าเป็นความจดจำของคนไทยทั้งประเทศและเราต้องไม่ลืมกัน เม็ดเงินที่รัฐบาลจ่ายไปมหาศาล 800,000 กว่าล้านบาท ทั้งเงินเยียวยา และเงินช่วยให้ธุรกิจเดินไปได้ ขณะที่ประเทศอื่นยังเจอปัญหาอยู่ แต่ประเทศไทยรัฐบาลก็ผ่อนคลายตามลำดับ จนมีชีวิตไม่ต้องมีระยะห่าง หน้ากากอนามัยไม่ต้องใส่ตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม แน่นอนว่ามีอุตสาหกรรมที่ยังเปิดได้ไม่ครบถ้วน โดยเฉพาะประเทศไทยที่ยังต้องพึ่งอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ส่งออก เพราะเศรษฐกิจโดยรวมของโลกก็แย่ สิ่งที่นายกรัฐมนตรีให้แนวทางเยียวยาฟื้นฟูคือมาตรการรวมไทยสร้างชาติ ให้เป็นหน้าที่รัฐบาลร่วมกับภาคประชาชน มาตรการที่ออกมาทั้งไทยมีงานทำ เราเที่ยวด้วยกัน คนละครึ่ง ช้อปดีมีคืน ก็เพื่อฟื้นฟูประเทศไทย ให้กับอุตสาหกรรมที่เปราะบาง
“โครงการเราเที่ยวด้วยกันตอนแรกก็อืดๆ แต่ตอนนี้เป็นที่นิยม คนไทยเดินทางมากขึ้น วันนี้คนกล้าเที่ยว รัฐบาลก็สนับสนุนเพราะรัฐบาลเห็นถึงความรู้สึกของประชาชน เป็นการแก้วิกฤติที่มีส่วนร่วมทั้งประเทศ และทุกคนจะมีภาพจำที่ได้ช่วยเหลือ สนับสนุนผู้ที่เดือดร้อน บัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ช่วยคนมีรายได้น้อย โครงการคนละครึ่งก็ที่ช่วยคนอีกระดับขึ้นมาหน่อยให้จับจ่ายใช้สอย ถือว่ารัฐบาลจัดการช่วยเหลือเป็นหมวด กระตุ้นเสริมสร้างให้คนไทยทุกคนมีส่วนร่วมพาประเทศไทยให้พ้นวิกฤติครั้งนี้ไปให้ได้” นายสุพัฒนพงษ์กล่าว
นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า ขณะนี้ดัชนีการผลิตทุกตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นระยะ ประชาชนทั่วไปอาจยังไม่รู้สึก แต่ได้ค่อยๆดีขึ้นแล้ว ในการดูแลผู้ได้รับผลกระทบช่วงที่เกิดการล็อกดาวน์ ต้องขอบคุณสมาคมธนาคารไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มีโครงการพักชำระหนี้ รวม 6.8 ล้านล้านบาท ให้แต่ละท่านได้มีช่องทางการปรับตัว และทุกท่านก็ห่วงเมื่อครบเวลาพักชำระหนี้ในเดือน ต.ค.ที่ผ่านมาพบว่า 94% สามารถชำระหนี้ได้ มีเพียง 6%ที่มีปัญหา เรามาถึงตรงนี้ได้ถือว่าผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ภายใต้สถานะการเงินการคลังเรายังดี เราไม่ถูกปรับลดอันดับใดๆ และล่าสุดไอเอ็มเอฟปรับประเทศไทยดีขึ้นเพียงประเทศเดียว และผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 3 ที่รอประกาศวันจันทร์ที่ 16 พ.ย.นี้เราน่าจะดีกว่าไตรมาส 2 เราทำได้ดีกว่าหลายประเทศ ต้องขอบคุณธนาคารพาณิชย์ที่มีความรอบคอบและสร้างเสถียรภาพให้กับประเทศ
นายสุพัฒนพงษ์กล่าวต่อว่า ปีนี้ความหวังเรามี มีการพัฒนาวัคซีน เรามีโอกาสและมีพัฒนาการ เมื่อถึงเวลาที่เราพร้อมเราจะวิ่งได้เร็วกว่าคนอื่น ในปีหน้า เราจะมีเศรษฐกิจดีกว่าประเทศอื่น เพราะเรามีตลาดทุนแข็งแกร่ง และทุนสำรองระหว่างประเทศเข้มแข็ง เพราะฉะนั้นแล้วความพร้อมสำคัญ เรามีโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ถนน ท่าเรือ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่จะเริ่มก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในปีหน้า ฉะนั้น ปี 2564 ยังต้องพึ่งพาการลงทุนในประเทศให้เติบโตต่อไป เชื่อว่าภายในกลางปีหน้าประชาชนจะรู้สึกได้ของการฟื้นตัวอย่างแท้จริง ส่วนความสำเร็จก็ขึ้นกับภาคเอกชนไทย เราต้องการดึงดูดอุตสาหกรรมใหม่ๆมาลงทุนในไทยให้ได้เพื่อเปลี่ยนจากที่เราอาศัยการท่องเที่ยวเป็นหลัก และส่งออกสินค้าเดิมๆ ให้เป็นสินค้าของอุตสาหกรรมใหม่ สิ่งที่จะเสริมปีหน้าจะมีทีมปฏิบัติการเชิงรุก
รองนายกฯกล่าวอีกว่า รัฐบาลจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ดึงดูดนักลงทุนเข้ามา รวมทั้งมาตรการไม่ต้องกักตัวนักลงทุน มาตรการเปิดให้ต่างชาติมาซื้ออสังหาริมทรัพย์ในไทยและได้วีซ่าระยะยาว 10 ปี แต่สิ่งที่ต้องร่วมมือคือต้องการความมั่นใจภาคเอกชน หากเราเริ่มพร้อมกันปฏิบัติการเชิงรุกทั้งสำนักงานส่งเสริมการลงทุน สำนักงานพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ดึงนักลงทุน ซึ่งเชื่อว่าในปีหน้าจะมีนักลงทุนตัวใหญ่มาลงทุนในไทยอย่างแท้จริง ซึ่งเราจะทำอย่างต่อเนื่องในปี 2563 ไปถึงปี 2564 และเห็นผลในปี 2565 ขณะที่นักท่องเที่ยวก็จะมองว่าไทยเป็นประเทศที่ปลอดภัย และผมหวังได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน เรามาสร้างและร่วมมือร่วมใจเพื่อประเทศไทยด้วยกัน
ต่อมาเวลา 19.50 น. นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ร่วมแสดงทัศนะในเวทีเสวนา “เศรษฐกิจหลังโควิด-19 จุดยืนของไทยในเวทีโลก” โดยมี น.ส.เขมสรณ์ หนูขาว ผู้ประกาศข่าวไทยรัฐทีวี เป็นผู้ดำเนินการเสวนา
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เริ่มต้นกล่าวในการเสวนาเป็นคนแรกว่า รู้สึกตื่นเต้นเพราะไม่ได้ออกงานมาปีหนึ่งแล้วและถือว่าเป็นทีมเดียวกันกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย มองว่าในอุโมงค์ ที่มืดปลายอุโมงค์ยังมีแสงสว่าง เพราะไม่มีใครคาดคิด มาก่อนว่าโควิด-19 จะเกิดขึ้น ถ้าเทียบวิกฤติโควิดครั้งนี้กับวิกฤติเศรษฐกิจช่วงปี 2540 สภาพคล่อง หายหมดตั้งแต่ระดับบนจนถึงระดับล่าง แต่ในส่วนของโควิด-19 ส่วนมากจะเกิดขึ้นจากระดับล่าง ทำให้เมื่อมีการล็อกดาวน์กิจกรรมในประเทศจึงหยุดชะงักไป 3-4 เดือน แต่เศรษฐกิจยังเดินต่อได้ ในช่วงหนึ่งประเทศได้รับผลกระทบจากไวรัสมากทั้ง ประเทศ แต่ขณะนี้สถานการณ์เริ่มดีขึ้นแล้ว ขณะที่ดัชนีเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทั้งราคาข้าว ยาง และราคาเกษตรที่เริ่มฟื้นตัว เราดีขึ้นเพราะรัฐบาลออกมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ เช่น มาตรการเราไม่ทิ้งกัน ที่ให้เงิน 5,000 บาท จำนวน 3 เดือน บัตรสวัสดิการแห่งรัฐคนละ 300 บาท ในระยะสั้น ชิม ช้อป ใช้ จนมาถึงโครงการคนละครึ่ง ที่ไม่มีห้างใด ลดราคาให้ถึง 50% ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำคือต้องช่วยระดับชาวบ้านให้มีกำลังซื้อ
ต่อมา นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. กล่าวว่า สศช.พยายามมอนิเตอร์เครื่องชี้วัดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจต่างๆ เช่น การลงทุนภาครัฐ ภาคเอกชน ฯลฯ จากเครื่องชี้วัดทั้งหมด พูดได้ว่าเศรษฐกิจไทยพ้นจุดต่ำสุดมาแล้ว จุดต่ำสุดของเราอยู่ที่ไตรมาส 2 ขณะนี้ค่อยๆฟื้นตัวอย่างช้า แม้การขยายตัวยังติดลบอยู่ แต่ตั้งแต่ปลายไตรมาสสุดท้ายของปีนี้มีปัจจัยที่ต้องระวัง คือการเลือกตั้งของสหรัฐฯที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบาย ที่อาจส่งผลกระทบต่อไทย
ขณะที่ผู้ร่วมเสวนาคนสุดท้าย คือ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมาเราเจอเศรษฐกิจติดลบ 3 ครั้ง ครั้งแรกคือ วิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 ที่เศรษฐกิจติดลบ 8% ในปี 2541 ครั้งที่ 2 หลังวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ติดลบไม่ถึง 1% ขณะที่โควิด-19 ธปท.คาดว่าจะเห็นตัวเลขติดลบ 8% แต่หากดูไส้ในแต่ละครั้งแตกต่างกันมาก ดังนั้น การแก้ไขปัญหาต้องแก้ไขแตกต่างกัน แต่หากเปรียบเทียบกันเศรษฐกิจไทยปีนี้ยังมีความหวัง เพราะปี 2540 การลงทุนของไทยติดลบ 50% การบริโภคติดลบมากกว่า 10% แต่ครั้งนี้การติดลบ ทั้งการลงทุนการบริโภคต่ำกว่าปี 2540 มาก ขณะที่การส่งออกของเราถูกกระทบน้อยกว่าในช่วงวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์มาก
ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวต่ออีกว่า ทั้งนี้ หากจะถาม ว่า วิกฤติครั้งนี้ แก้ไขได้หรือไม่ ยอมรับว่าหนักมากและแพร่หลายกระจายตัวออกไปในหลายภาคส่วน ต้องใช้เวลานานในการแก้ปัญหา ต้องแก้ให้ถูกจุด ไม่แก้แบบเหวี่ยงแห เอาแบบที่ถูกต้อง ไม่ใช่เอาถูกใจ ไม่ใช่แก้แบบใช้ป๊อปปูลาร์โหวต หรือหาเสียง อย่างนี้ไม่ได้ ขณะที่นโยบายแบบถูกต้องคืออะไร ยกตัวอย่าง เรื่องการออกมาตรการเยียวยาประชาชน เช่น การให้อัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน