นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท.กำลังติดตามปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ซึ่งยังคงมีความเปราะบางจากความกังวลใน 3 ปัจจัยที่สำคัญได้แก่ การกลับมาระบาดของโควิด-19 รอบ 2 การสิ้นสุดมาตรการการพักชำระหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ซึ่งล้วนมีผลต่อความเชื่อมั่นและกระทบต่อเศรษฐกิจภาพรวม
“การกลับมาระบาดโควิด-19 รอบ 2 ถือเป็นความท้าทายที่เราต้องควบคุมอย่างเข้มงวด เนื่องจากเราจะเริ่มเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาพักในประเทศระยะยาวแบบจำกัดจำนวน ตั้งแต่เดือน ต.ค.นี้ รวมถึง การแพร่ระบาดในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะพม่าที่เกี่ยวข้องกับแรงงานของไทยโดยตรง ขณะที่การสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้ในเดือน ก.ย.-ต.ค.นี้ ที่เอกชนมองว่าจะไม่มีขยายมาตรการออกไปและยังไม่เห็นถึงมาตรการทดแทน ก็ต้องติดตามว่าจะมีลูกหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือ 12.5 ล้านบัญชี ยอดหนี้ 7 ล้านล้านบาทว่า จะชำระหนี้ได้อีกต่อไปมากน้อยเพียงใด หากเพียง 10-20% ของหนี้ก็คงไม่กระทบนัก แต่หากมากกว่านี้จะกระทบเป็นลูกโซ่และจะลามไปถึงปีหน้า”
ส่วนปัญหาการเมืองที่ยังมีความไม่แน่นอน โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวการชุมนุมในเดือน ต.ค.ที่หลายฝ่ายกำลังติดตามใกล้ชิด หากไม่มีความรุนแรงและอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายคงไม่กระทบมากนัก รวมถึงปัญหาการแต่งตั้ง รมว.คลังคนใหม่ หากเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถเป็นที่ยอมรับก็จะช่วยฟื้นความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจได้มากขึ้น
“ยอมรับว่ามาตรการฟื้นเศรษฐกิจช่วงโค้งสุดท้ายของปีเป็นสิ่งที่จำเป็นแต่บางมาตรการจะตอบโจทย์หรือไม่ต้องติดตาม เช่น การแก้ไขปัญหาการว่างงาน ที่ล่าสุดได้จัดงาน JOB EXPO THAILAND 2020 และโครงการ Co-payment (จ้างงานเด็กจบใหม่) ที่รัฐจะจ่ายเงินคนละครึ่งกับเอกชน จะช่วยทำให้การจ้างงานเพิ่มขึ้นหรือไม่อย่างไร”.