เหลื่อมล้ำ–อย่าคิดไม่สำคัญ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เหลื่อมล้ำ–อย่าคิดไม่สำคัญ

Date Time: 1 ต.ค. 2563 05:01 น.

Summary

  • อาจถือได้ว่าเป็นวาทะทิ้งทวนครั้งสุดท้าย ก่อนพ้นตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ของ ดร.วิรไท สันติประภพ ที่กล่าวในเวทีสัมมนาว่าการแพร่ระบาดของโควิด–19 ลดความสามารถในการแข่งขันของศรษฐกิจ

Latest

“เอ็กซิมแบงก์” เกาะติดนโยบาย "ทรัมป์" เปิด 4 ปัจจัยเสี่ยง เตือนผู้ส่งออกไทยพร้อมรับมือ

อาจถือได้ว่าเป็นวาทะทิ้งทวนครั้งสุดท้าย ก่อนพ้นตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ของ ดร.วิรไท สันติประภพ ที่กล่าวในเวทีสัมมนาว่าการแพร่ระบาดของโควิด–19 ลดความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจไทยยิ่งขึ้น ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในวันข้างหน้า และทำให้สังคมไทยเหลื่อมล้ำมากขึ้น

ผู้ว่าการ ธปท.ชี้ว่ารายได้ของคนไทยที่มีรายได้มากสุด 1% แรกของประเทศ มีมูลค่าสูงถึง 20% ของรายได้ประชากรทั่วประเทศ กลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่สุด 5% ของทั้งหมด แต่มีรายได้ถึง 85% ของการผลิตนอกภาคเกษตร ความเหลื่อมล้ำเหล่านี้นำไปสู่ปัญหามากมาย ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้ง และขาดรักสามัคคี

จึงเรียกร้องให้ปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจให้เกิดผลได้จริง และต้องเริ่มทำทันที เช่น ต้องลดการพึ่งพาการส่งออกมากเกินไปอย่างที่เป็นอยู่ และกระจายผลประโยชน์ของการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

“ความเหลื่อมล้ำ” เป็นปัญหารุนแรงของประเทศไทย เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา เลขาธิการสภาพัฒน์ก็เปิดเผยว่า กลุ่มคนรวยที่สุดกับกลุ่มคนจนที่สุด มีรายได้ห่างกัน 20 เท่า เป็นเหตุให้บุตรหลานคนรวยได้รับการศึกษาระดับปริญญาตรีถึง 65% ส่วนลูกหลานคนจนได้แค่ 3.8% นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำด้านศักดิ์ศรีมนุษย์ และด้านอำนาจ

มีข้อมูลระบุว่าความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของประเทศไทยอยู่ในระดับสูงสุดเมื่อปี 2535 ปีพฤษภาทมิฬ แต่ลดลงเล็กน้อยในปี 2554 ปีนั้นมีคนจนเพียง 8.8 ล้านคน แต่ขณะนี้เชื่อว่าพุ่งขึ้นเป็น 14.5 ล้านคน ในช่วงรัฐบาล คสช.สถาบันการเงินสวิสยกให้ไทยเป็นอันดับที่ 1 ด้านความเหลื่อมล้ำ แต่รัฐบาลไม่ยอมรับ

รัฐบาล คสช.และรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจ แก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำด้วยการแจกเงินเป็นหลัก ขณะนี้มีโครงการแจกแทบจะเป็นรายสัปดาห์ สาเหตุสำคัญของความเหลื่อมล้ำ เพราะกลุ่มมหาเศรษฐีสะสมความมั่งคั่งมานาน อีกทั้งเข้าถึงการศึกษาที่ดีกว่า และได้รับการเอื้อประโยชน์จากรัฐ ด้วยสัมปทานและการผูกขาด

ทุกครั้งที่มีการอภิปรายปัญหาสำคัญๆในสภา รัฐบาลจะถูกโจมตีเป็นประจำในเรื่องเอื้อประโยชน์เจ้าสัวทั้งหลาย แต่รัฐบาลฟังแล้วก็ดูเหมือนจะเฉยๆ เพราะเห็นเป็นเรื่องปกติ ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้เป็นต้นเหตุของความเหลื่อมล้ำด้านอำนาจ และเป็นเหตุผลสำคัญของการลุกขึ้นมาชุมนุมของบรรดานิสิต นักศึกษาและประชาชน.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ