บลจ.แอสเซท พลัส แนะจับตา 6 ปัจจัยกระทบเศรษฐกิจโลกช่วงที่เหลือของปี 63 ทั้งเลือกตั้งสหรัฐฯ สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน การผลิตวัคซีนโควิด-19 และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของหลายประเทศ
นายคมสัน ผลานุสนธิ กรรมการบริหาร ประธานเจ้าหน้าที่สายงานการตลาดและผลิตภัณฑ์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) แอสเซท พลัส จำกัด กล่าวว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 63 ที่มีการระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจทั่วโลก
แม้ขณะนี้สถานการณ์ได้ถูกควบคุมให้อยู่ในสถานการณ์ที่ดีขึ้นตามลำดับ จะเห็นได้จากตัวเลขการชะลอตัวขอผู้ติดเชื้อทั่วโลก อีกทั้งในครั้งนี้มีมาตรการในการจัดการการแพร่ระบาด รวมถึงกลไกของรัฐที่จะเข้ามาช่วยจัดการผ่านนโยบายทางการเงินและการคลัง
สำหรับในช่วงครึ่งปี 63 ธีมการลงทุนที่เราให้ความสนใจ คือ ธีมลงทุนในกลุ่ม The winner ที่ได้รับประโยชน์ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยบริษัทที่เป็น The winner จะต้องมี Business Model ในการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับองค์กรและการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน
โดยเรามองว่า บริษัทที่มีคุณสมบัติดังกล่าวจะสามารถสร้างการเติบโตให้ธุรกิจในระยะยาว (Secular Growth) ซึ่งเรามองว่าธีมที่น่าสนใจถัดมา คือ China New Economy เนื่องจากสามารถจัดการและควบคุมในการแพร่ระบาดได้ดี อีกทั้งภาคการบริโภคในประเทศยังมีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ
ถ้าพิจารณาถึงประเทศในภูมิภาคอาเซียน ประเทศที่ได้ประโยชน์จากหลังจากการเกิดการแพร่ระบาด ได้แก่ ประเทศเวียดนาม เนื่องจากมีการควบคุมสถานการณ์ผู้ติดเชื้อได้ดีเมื่อเทียบกับประเทศกลุ่มอาเซียนด้วยกัน ทั้งยังได้ประโยชน์จากบริษัทต่างๆ ในประเทศญี่ปุ่นมีการย้ายฐานการผลิตส่วนใหญ่มาสู่เวียดนาม ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งปัจจัยหนุนที่สำคัญสำหรับการเติบโตของประเทศเวียดนามในระยะยาว
ในส่วนของไทยเอง แม้ว่าภาคการท่องเที่ยวในประเทศจะชะลอตัวลง จากการปิดประเทศเพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาด แต่ทางภาครัฐบาลเองก็ได้ใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศ ส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวในประเทศกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง และจากมาตรการควบคุมโรคที่ดี ส่ผลให้ภาพรวมของประเทศไทยดีขึ้น และน่าจะเป็นประเทศยอดนิยมในการท่องเที่ยวหลังจากการเปิดประเทศ
ประเด็นที่น่าจับตามองช่วงครึ่งปี 63
1. การกระตุ้นเศรษฐกิจที่มูลค่ามากที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ และจากรัฐบาลทั่วโลก โดยใน 7 เดือนที่ผ่านมามีการกระตุ้นจากภาครัฐและอัดฉีดเงินไปสู่ระบบเศรษฐกิจด้วยวงเงิน 3.6 ล้านล้านดอลลาห์สหรัฐฯ ซึ่งเศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวได้เร็วกว่าปี 2008 ในช่วงที่เกิดวิกฤติ Subprime Crisis ทั้งยังมีแผนที่จะอนุมัติงบประมาณอีกจำนวนนึงเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของสหรัฐฯ
2. การใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายทั่วโลก โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ และธนาคารกลางหลักๆ ทั่วโลก ได้อัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเป็นจำนวนมหาศาล เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งเมื่อพิจารณาจากข้อมูลในอดีตนั้น ด้วยปริมาณเม็ดเงินจำนวนมหาศาล จะสามารถช่วยพยุงสภาพคล่องในภาคธุรกิจ และผลักดันให้ราคาสินทรัพย์ต่างๆ ยังอยู่ในระดับสูงต่อไป
3. สถานการณ์เรื่องการแพร่ระบาดโควิด-19 แม้ว่ายอดผู้ป่วยทั่วโลกยังคงเพิ่มขึ้น แต่จำนวนผู้ป่วยที่มีอาการของโรคในขั้นรุนแรงนั้นลดลง ส่งผลให้ Sentiment ของการลงทุนโดยรวมอยู่ในทิศทางที่ดีขึ้น
4. วัคซีนเพื่อป้องกัน COVID-19 ใกล้ความสำเร็จไปอีกขั้นแล้ว ซึ่งผลการทดลองของวัคซีน 8 ตัว ที่ขณะนี้อยู่ในเฟส 3 คาดว่าจะมีความคืบหน้าในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้
5. จากสงครามการค้าสู่การแบนบริษัทเทคโลยียักษ์ใหญ่ของจีน จุดเริ่มต้นในครั้งนี้นั้นมาจากการที่สั่งปิดสถานกงศุลซึ่งกันและกัน ลุกลามไปถึงประธานาธิดีทรัมป์เซ็นคำสั่งห้ามสหรัฐฯ ทำธุรกิจกับบริษัท Tencent และ ByteDance เจ้าของแอปพลิเคชันชื่อดังอย่าง WeChat และ TikTok รวมทั้งกำลังจะพิจารณาแบนเว็บไซต์ อีคอมเมิร์ซ ชื่อดังอย่าง Alibaba เพิ่มเติม ซึ่งน่าจะส่งผลกระทบต่อประเทศจีนอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากบริษัทเทคโนโลยีของจีนมีสัดส่วนรายได้ที่มาจากสหรัฐฯ ค่อนข้างน้อย
6. สถานการณ์การเลือกตั้งที่เข้มข้น Joe Biden มีคะแนนความนิยมเหนือ Donald Trump ในช่วงหลัง เป็นผลมาจากความล้มเหลวในการจัดการการแพร่ระบาด COVID-19 และการประท้วงของคน African-American แต่อย่างไรก็ตาม นักลงทุนควรติดตามประเด็นนี้อย่างใกล้ชิด ในช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนพฤศจิกายน เนื่องจากประเด็นนี้อาจจะส่งผลต่อภาพรวมการลงทุนในอนาคตได้อย่างมีนัย
จากปัจจัยส่วนใหญ่นั้นส่งผลเชิงบวกต่อภาพรวมเศรษฐกิจโลก จากการมีสภาพคล่องทางเศรษฐกิจ มีการใช้นโยบายทางการเงินและการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงการควบคุมอัตราผู้ติดเชื้อที่ลดลง และการมีแนวโน้มความสำเร็จในการคิดค้นวัคซีน ซึ่งจะมาสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกให้กลับมาเติบโตอีกครั้ง.