น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือน มิ.ย.63 ว่าลดลง 1.57% เมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย.62 ติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 แต่ถือว่าปรับตัวดีขึ้นจากเดือน พ.ค.63 ที่ติดลบ 3.44% โดยสาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อลดลงในอัตราที่ชะลอลง มาจากมาตรการรัฐที่ช่วยเหลือด้านค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปาสิ้นสุดลง และราคาสินค้าส่วนใหญ่เคลื่อนไหวในทิศทางที่ดีขึ้น แต่เงินเฟ้อยังได้รับแรงฉุดจากราคาน้ำมันและราคาอาหารสดที่ปรับตัวลดลง จึงทำให้เงินเฟ้อยังคงติดลบ ส่วนเงินเฟ้อเมื่อเทียบกับเดือน พ.ค.62 สูงขึ้น 1.56% และเงินเฟ้อเฉลี่ย 6 เดือน (ม.ค.-มิ.ย.) ปี 63 ลดลง 1.13% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
“เงินเฟ้อที่ติดลบ 1.57% ทางเทคนิคเป็นเงินฝืด เพราะติดลบติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 แล้ว แต่จริงๆไม่ได้ฝืด เพราะราคาสินค้ายังมีการเคลื่อนไหวเป็นปกติ หลายๆรายการปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะอาหารรับประทานในบ้าน-นอกบ้าน, ข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์, สินค้าอุปโภคบริโภคบางรายการ เช่น น้ำยาระงับกลิ่นกาย ยาสีฟัน ขณะที่เศรษฐกิจก็ไม่ได้ฝืดเคือง ข้าวของมีกินมีใช้ ส่วนที่เงินเฟ้อลดลงเพราะมีปัจจัยตัวอื่นมาฉุด ทั้งราคาน้ำมัน มาตรการของกระทรวงพาณิชย์ที่ร่วมมือกับผู้ผลิตลดราคาสินค้าที่ยังคงอยู่ทำให้เงินเฟ้อไม่ขึ้น”
น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า แนวโน้มเงินเฟ้อครึ่งปีหลังคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น แต่ยังไม่ฟื้นตัวดี โดยจะฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะยังมีปัจจัยกดดันจากโควิด-19 ทำให้กำลังซื้อลดลง โดยต้องปรับคาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปี 63 ใหม่ จากเดิมลบ 1.0% ถึงลบ 0.2% มีค่ากลางลบ 0.6% เป็นติดลบ 1.5% ถึงลบ 0.7% ค่ากลางลบ 1.1%.