ฟันธงราคาน้ำมันดิบโลก ครึ่งปีหลัง 40-50 เหรียญต่อบาร์เรล

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ฟันธงราคาน้ำมันดิบโลก ครึ่งปีหลัง 40-50 เหรียญต่อบาร์เรล

Date Time: 29 มิ.ย. 2563 07:30 น.

Summary

  • ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ครึ่งหลังของปีนี้ เคลื่อนไหวในระดับ 40-50 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล แต่หากโควิด-19 แพร่ระบาดรอบ 2 มีลุ้นได้เห็นต่ำกว่า 40 เหรียญฯ

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%


“มนูญ ศิริวรรณ” นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน ฟันธงราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ครึ่งหลังของปีนี้ เคลื่อนไหวในระดับ 40-50 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล แต่หากโควิด-19 แพร่ระบาดรอบ 2 มีลุ้นได้เห็นต่ำกว่า 40 เหรียญฯ

นายมนูญ ศิริวรรณ นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน ให้ความเห็นถึงทิศทางราคาน้ำมันในช่วงครึ่งปีหลังว่า ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่แหล่งน้ำมันดิบเบรนท์ ในแหล่งผลิตจากทะเลเหนือของเกาะอังกฤษ และแหล่งผลิตดับบลิวทีไอจากแถบอเมริกาเหนือ และโดยเฉพาะแหล่งดูไบจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่ประเทศไทยนำเข้าเป็นหลัก จะเคลื่อนไหวในระดับ 40-50 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล

ซึ่งเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับ 6 เดือนแรกของปีนี้ ซึ่งมีสาเหตุมาจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ 1.การแพร่ระบาดของโควิด-19 หากทั่วโลกที่มีปัญหาการระบาดสามารถควบคุมและทำให้คลี่คลายลง ไม่กลับมาระบาดรอบที่ 2 จะทำให้ราคาน้ำมันโลกเคลื่อนไหวในระดับดังกล่าว แต่หากเกิดการระบาดรอบ 2 ไปทั่วโลก ทุกประเทศกลับมาล็อกดาวน์ประเทศ จะทำให้ราคาน้ำมันดิ่งลงต่อเนื่อง ซึ่งอาจได้เห็นราคาที่ต่ำกว่า 40เหรียญฯ ได้เช่นกัน

2.การเติบโตของเศรษฐกิจโลก ที่มีผลกระทบต่อประเทศไทย ที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้ประเมิน 6 เดือนสุดท้ายของปีนี้ ไม่ว่าโควิด-19 จะคลี่คลาย หรือยุติลงหรือระบาดรอบ 2 เศรษฐกิจโลกจะไม่เติบโตอย่างแน่นอน แต่อาจหดตัวลงอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับ 6 เดือนแรกของปีนี้ แม้หลายประเทศนับจากนี้ไปจะคลายล็อกดาวน์ แต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะธุรกิจอุตสาหกรรมการบริโภค การท่องเที่ยวจะไม่กลับไปเฟื่องฟูเหมือนเดิม ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจโลกอาจติดลบ 4.9%

จึงเป็นสาเหตุที่ปริมาณการใช้น้ำมันของโลกอาจลดลง 8 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาที่ทั่วโลกมีความต้องการใช้น้ำมันรวม 100 ล้านบาร์เรลต่อวัน เป็นปัจจัยกดดันไม่ให้ราคาน้ำมันตลาดโลกดีดตัวไปแตะถึง 60 เหรียญฯอย่างแน่นอน และไม่ว่าจะด้วยปาฏิหาริย์ใดๆก็ตาม หากความต้องการใช้น้ำมันโลกกลับสู่ภาวะปกติคือ 100 ล้านบาร์เรลต่อวัน ราคาตลาดโลกก็จะไม่ดีดตัวเกิน 50 เหรียญฯ เพราะกิจกรรมด้านเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ใน 6 เดือนสุดท้ายของปีนี้ จะไม่มีความร้อนแรง เพราะกำลังซื้อของผู้บริโภคลดลงในทุกๆประเทศ

3.เดือน ก.ค.นี้ กลุ่มโอเปกและพันธมิตรในการผลิตน้ำมัน (โอเปกพลัส) จะมีการประชุมเพื่อหาข้อสรุปว่า หลังจากเดือน ก.ค.เป็นต้นไป โอเปกพลัสจะมีมติว่าควรมีกำลังการผลิตน้ำมันออกสู่ตลาดโลกในปริมาณเท่าใดต่อวัน จากที่ปัจจุบันมีข้อตกลงว่า จะต้องลดกำลังการผลิตลง 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตั้งแต่เดือน เม.ย. โดยได้ขยายเวลาไปถึงเดือน ส.ค.63 จึงต้องรอดูว่าข้อสรุปการประชุมเดือน ก.ค.นี้ ทิศทางการผลิตน้ำมันโลกของโอเปกพลัสจนถึงสิ้นปีนี้ จะเป็นอย่างไร ทั้งนี้ ปัจจุบันโอเปกพลัส มีกำลังผลิตน้ำมันดิบ 28 ล้านบาร์เรลต่อวัน

“โอเปกพลัสอาจคงกำลังการผลิตไว้ตามเดิม หรือลดกำลังการผลิตเหลือเพียง 7-8 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรืออาจลดกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากเดิม 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ก็อาจได้เห็นราคาตลาดโลกอยู่ที่ระดับ 40-50 เหรียญฯ ที่สำคัญเมื่อมีข้อสรุปแล้วสมาชิกทุกประเทศจะรักษามติมากน้อยเพียงใด ขณะที่กลุ่มประเทศนอกโอเปกก็พร้อมจะผลิตน้ำมันป้อนตลาดโลกเพื่อหารายได้เข้าประเทศ”

นายมนูญกล่าวต่อว่า การเติบโตของเศรษฐกิจไทยไม่มีผลต่อราคาน้ำมันโลก ที่แม้ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้จะติดลบ 8.1% แม้เราเป็นผู้นำเข้าน้ำมันเกือบ 95% แต่ก็เป็นการนำเข้าที่น้อยมากเฉลี่ย 1% เท่านั้น โดยไทยนำเข้าน้ำมันวันละ 1 ล้านบาร์เรล ถือว่าเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจไม่ใหญ่มากนัก ต่างจากจีนที่นำเข้า 12 ล้านบาร์เรลต่อวัน อินเดียนำเข้า 6 ล้านบาร์เรลต่อวัน หากเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้มีการเติบโตถดถอยหรือติดลบ ก็จะกระทบต่อการบริโภคน้ำมันค่อนข้างมาก

ล่าสุดการผลิตเชลล์ออยล์หรือการผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดานของสหรัฐฯ ที่เป็นผู้ผลิตเชลล์ออยล์หลักของโลก ถูกกดดันด้วยราคาน้ำมันดิบที่ต่ำกว่า 40เหรียญฯ ทำให้หลายบริษัทได้ลดกำลังการผลิตและบางรายปิดหลุมผลิตชั่วคราว โดยล่าสุดสหรัฐฯลดกำลังการผลิตเหลือเพียง 2 ล้านบาร์เรลต่อวันจากเดิม 8.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ