สศช. เตรียมชง ครม. ขออนุมัติงบฟื้นฟูเศรษฐกิจลอตแรก 8 หมื่นล้านบาท

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

สศช. เตรียมชง ครม. ขออนุมัติงบฟื้นฟูเศรษฐกิจลอตแรก 8 หมื่นล้านบาท

Date Time: 26 มิ.ย. 2563 18:00 น.

Video

คนไทยจ่ายภาษีน้อย มนุษย์เงินเดือนรับจบ ปัญหาอยู่ที่ระบบหรือคนกันแน่ ? | Money Issue

Summary

  • สศช. เตรียมชง ครม. วันที่ 8 ก.ค. ขออนุมัติงบฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมรอบแรก 8 หมื่นล้านบาท หวังสร้างงานใหม่กว่า 410,415 ราย

Latest


สศช. เตรียมชง ครม. วันที่ 8 ก.ค. ขออนุมัติงบฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมรอบแรก 8 หมื่นล้านบาท หวังสร้างงานใหม่กว่า 410,415 ราย

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงข่าวผลการวิเคราะห์การพิจารณาเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากผลกระทบของโควิด-19 วงเงิน 400,000 ล้านบาท หลังจากล่าสุดจนถึงวันที่ 24 มิ.ย.2563 มีข้อเสนอโครงการ 46,429 โครงการ รวมวงเงิน 1.456 ล้านล้านบาท โดยมีโครงการที่ผ่านการพิจารณาคณะทำงาน สศช.ในรอบแรก 213 โครงการวงเงิน 101,482.28 ล้านบาท แต่จะต้องผ่านคณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ ในช่วงสัปดาห์นี้ที่ทำงานกันตั้งแต่เช้ายันดึก และคณะกรรมการกลั่นกรองฯ จะพิจารณาในวันที่ 1 ก.ค. 2563 คาดว่าคงเหลือวงเงินเสนอ 70,000-80,000 ล้านบาท ที่จะเสนอ ครม. วันที่ 8 ก.ค.2563

สำหรับในรอบแรก ส่วนใหญ่เป็นโครงการเร่งด่วนที่ทำให้เกิดการจ้างงานในชุมชนได้ทันที จะช่วยให้เกิดการจ้างงานใหม่กว่า 410,415 ราย เพราะรอบนี้เน้นการจ้างงานให้มากที่สุด ช่วยเกษตรกรเลี้ยงตัวเองได้ 95,000 ราย และมีเกษตรกรได้ประโยชน์จากเกษตรแปลงใหญ่ 5,450 แปลง มีผู้สูงอายุ 710,518 คนได้รับการดูแล บริษัทนำเที่ยวได้ประโยชน์ 13,000 ราย กระตุ้นท่องเที่ยวในประเทศ 3.2 ล้านคน

ทั้งนี้ จากวงเงินที่อนุมัติจะสร้างมูลค่าได้ 2 เท่าจากมูลค่าของโครงการที่ทำ ซึ่งการใช้เงินกู้ 400,000 ล้านบาทนี้ จะช่วยประคองสถานการณ์ไม่ให้เศรษฐกิจของประเทศไทยในปีนี้ หดตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ คือจะหดตัวอยู่ประมาณ 5-6%

ส่วนโครงการของ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ที่จะตั้งกองทุนในการช่วยเหลือเอสเอ็มอี รอโครงการและวงเงินที่จะเสนอมาจาก สสว. แต่แนวโน้มคือ จะอนุมัติวงเงินให้จากส่วนเงินเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิดฯ ที่ใช้ไป 360,000 ล้านบาท ยังเหลือวงเงินอยู่ 190,000 ล้านบาท

สำหรับโครงการสำคัญ (Flagship Projects) ที่ผ่านพิจารณา วงเงิน 101,482.28 ล้านบาท ประกอบด้วย เป้าหมายที่ 1 การสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานราก และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ เพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานราก เช่น โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ "โคก หนอง นา โมเดล" มูลค่า 4,953 ล้านบาท โครงการพัฒนาตำบลแบบบูรณาการ ซึ่งเป็นการใช้ Big Data เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจน มูลค่า 2,701 ล้านบาท โครงการอาสาสมัครบริบาลท้องถิ่นเพื่อดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง 1,080 ล้านบาท

ขณะที่ เป้าหมายที่ 2 การลงทุนเพื่อสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนในอนาคต เช่น โครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่ และเชื่อมโยงตลาด 13,904 ล้านบาท โครงการสร้างความเข้มแข็งศูนย์ข้าวชุมชน 900 ล้านบาท ส่วนเป้าหมายที่ 3 คือการกระตุ้นการอุปโภคบริโภคการท่องเที่ยวในประเทศ วงเงิน 22,400 ล้านบาท ที่ ครม.เห็นชอบหลักการไปแล้ว จะเพิ่มรายได้ให้กับผู้ประกอบการท่องเที่ยวได้ 52,400 ล้านบาท ส่วนกองทุนหมู่บ้าน กันเงินไว้ให้หมู่บ้านละ 200,000 บาท รวมวงเงิน 15,920 ล้านบาท ซึ่งต้องเสนอโครงการชัดเจน

นอกจากนี้ การพิจารณาเงินกู้ฯ ส่วนที่เหลือ จะแบ่งเป็น 2-3 โดยรอบ 2 จะเสนอ ครม. เดือน ส.ค. และรอบที่ 3 จะเสนอเดือน ก.ย. เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจ ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อยากให้โครงการที่ได้รับอนุมัติในรอบแรกดำเนินการแล้ว มีการประเมินก่อน เพื่อขยายผลไปรอบต่อไป

ทางด้าน นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการ สศช. กล่าวชี้แจงถึงโครงการที่สอบตก ไม่ได้รับการพิจารณา ว่า ส่วนใหญ่ไม่เกี่ยวข้องกับการจ้างงานและสร้างอาชีพ และเงินที่เสนอเข้ามาไปลงที่บริษัทที่ปรึกษาและผู้รับเหมา เช่น โครงการทำถนน ขณะที่วงเงินดังกล่าวก็ไม่ใช่ว่าจะต้องใช้ให้หมดทั้ง 400,000 ล้านบาท เพราะสำรองเอาไปรองรับความเสี่ยงหากเกิดการระบาดของโควิด-19 รอบสอง จะได้มีเครื่องมือไว้แก้ปัญหา และใน พ.ร.ก.กู้เงิน ก็เขียนเอาไว้ว่าสามารถโยกเงิน 400,000 ล้านบาทไปใส่ไว้ในงบก้อนเยียวยา 550,000 ล้านบาทได้ด้วย.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ