นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฟื้นฟูหลังโควิด-19 ของ ส.อ.ท. เปิดเผยว่า ส.อ.ท.ได้เสนอแนวทางการสนับสนุนประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตเอทานอล (Ethanol Hub) เพื่อภาคอุตสาหกรรม ถือเป็น 1 ใน 5 มาตรการสำคัญในการฟื้นฟูประเทศไทยและสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจในรูปแบบบีซีจี (BCG) อันได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)
“รัฐบาลและเอกชนได้หารือร่วมกันและเสนอให้กรมสรรพสามิตปลดล็อกเงื่อนไขเพื่อให้สามารถนำเอทานอลมาผลิตเป็นเจลแอลกอฮอล์เพื่อฆ่าเชื้อโรคได้ เพราะปัจจุบันมีเอทานอลจำนวนมากที่เหลือจากการนำมาผลิตเป็นเชื้อเพลิง และสามารถผลิตเจลแอลกอฮอล์เพื่อการส่งออกได้ทันที หากเกิดโควิด-19 ระบาดรอบที่2”
ทั้งนี้ วัตถุดิบในการผลิตเอทานอลคืออ้อยและมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นการใช้วัตถุดิบพืชเกษตรที่สำคัญในประเทศ (Local Content) โดยปัจจุบันประเทศไทยมีโรงงานผลิตแอลกอฮอล์ทุกๆเกรดรวมกัน 33 แห่ง มีกำลังผลิตรวม 6 ล้านลิตรต่อวัน ในจำนวนดังกล่าวมี 4 โรงงานเท่านั้นที่ผลิตเกรดสูงที่เป็นเอทิลแอลกอฮอล์ 99.9% เป็นแอลกอฮอล์ชั้นดี ฆ่าเชื้อโรคได้ มีความปลอดภัย และรับประทานได้ หากรัฐบาลแก้ไขระเบียบแต่ละเกรดให้ชัดเจน ปัญหาที่กังวลว่าจะนำเอทานอลไปผลิตสุราก็น่าจะควบคุมได้ไม่ยาก
สำหรับแนวโน้มภาคการผลิตเอทานอลใน 6 เดือนสุดท้ายของปีนี้ จะต้องติดตามใกล้ชิด เพราะเศรษฐกิจของไทยและโลกยังเปราะบางจากผลกระทบโควิด-19 ที่แม้หลายประเทศจะเริ่มฟื้นตัวและทยอยคลายล็อกดาวน์ แต่บางประเทศกลับมาระบาดรอบ 2 และยังกำลังเผชิญกับค่าเงินบาทที่เริ่มมีทิศทางแข็งค่ามากขึ้นด้วย.