ยื่นศาลสวิต เยอรมนี ญี่ปุ่น สหรัฐฯ การบินไทยพิทักษ์ทรัพย์ต่างแดน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ยื่นศาลสวิต เยอรมนี ญี่ปุ่น สหรัฐฯ การบินไทยพิทักษ์ทรัพย์ต่างแดน

Date Time: 10 มิ.ย. 2563 08:13 น.

Summary

  • การบินไทยยื่นคำร้องศาลต่างประเทศเพื่อไม่ถูกยึดทรัพย์ในสวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี ญี่ปุ่นแล้ว และอยู่ระหว่างยื่นต่อศาลสหรัฐฯ ระบุสารพัดปัญหาที่ต้องเผชิญหน้าในช่วงตกต่ำ

Latest

รัฐเริ่มแจกเงินหมื่นผู้สูงอายุ 27 ม.ค. ทุนระดับโลกรุมลงทุน “เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์”

การบินไทยยื่นคำร้องศาลต่างประเทศเพื่อไม่ถูกยึดทรัพย์ในสวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี ญี่ปุ่นแล้ว และอยู่ระหว่างยื่นต่อศาลสหรัฐฯ ระบุสารพัดปัญหาที่ต้องเผชิญหน้าในช่วงตกต่ำ พนักงานถูกงดใบส่งตัวไปโรงพยาบาล ธนาคารไม่โอนเบี้ยเลี้ยงให้นักบิน ตลอดจนผู้ผลิตวัตถุดิบระงับส่งสินค้าให้ครัวการบิน

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหา บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้รายงานให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบความคืบหน้าในการแก้ปัญหาการบินไทย สิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินการก่อนการไต่สวนคำร้องตามที่ศาลได้รับคำร้องไปเมื่อวันที่ 26 พ.ค.2563 และกำหนดนัดไต่สวนวันที่ 17 ส.ค.2563 และเพื่อให้กระบวนการฟื้นฟูเป็นไปอย่างราบรื่น โดยระหว่างนี้ต้องเจรจากับเจ้าหนี้ต่อเนื่องเพื่อไม่ให้เจ้าหนี้คัดค้าน

“ปัจจุบันการบินไทยอยู่ระหว่างยื่นคำร้องต่อศาลต่างประเทศเพื่อขอฟื้นฟูกิจการ เพื่อไม่ถูกยึดทรัพย์ในต่างประเทศ ที่ยื่นไปแล้วประกอบด้วย สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี ญี่ปุ่น และที่อยู่ระหว่างดำเนินการคือศาลสหรัฐฯ”

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า คณะกรรมการการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหา บริษัท การบินไทย ได้จัดทำรายงานระบุ ฐานะการเงินของการบินไทย ณ สิ้นปี 2562 มีผลประกอบการขาดทุนสุทธิ 12,017 ล้านบาท อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) อยู่ที่ 20.81% มีสินทรัพย์รวม 256,665 ล้านบาท และมีหนี้สินรวมอยู่ที่ 244,899 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม หากรวมหนี้สินของการบินไทยทั้งหมดจากเจ้าหนี้การค้า ค่าใช้จ่ายค้างจ่าย เงินกู้ยืมสถาบันการเงิน เงินกู้ยืมจากกิจการที่เกี่ยวข้อง หนี้สินตามสัญญาดำเนินงาน ฯลฯ จะมีหนี้สินสะสมกว่า 352,484 ล้านบาท

ส่วนประมาณการสภาพคล่องของการบินไทย พบมีภาระค่าใช้จ่ายที่ไม่สามารถลดได้ประมาณเดือนละ 5,000-6,000 ล้านบาท ซึ่งหากไม่ได้รับความช่วยเหลือ สภาพคล่องไม่เพียงพอที่จะใช้หมุนเวียนตั้งแต่เดือน มิ.ย.2563 โดยกำลังอยู่ระหว่างการเจรจากับเจ้าหนี้ หากเจรจาสำเร็จจะทำให้มีสภาพคล่องมากกว่าประมาณการ

ทั้งนี้ การดำเนินการตามกระบวนการฟื้นฟูกิจการ แบ่งเป็น 7 กลุ่มย่อย ดังนี้ 1.การดำเนินการกับเจ้าหนี้ คู่ค้า และการชำระหนี้ 2.การดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับศาลต่างประเทศ 3.การดำเนินการทางด้านทรัพยากรบุคคล 4.การติดต่อสื่อสารกับบุคคลภายนอก 5.การบริหารจัดการข้อมูลและเอกสารที่จำเป็นสำหรับการดำเนินการ 6.การสนับสนุนการจัดเตรียมสำเนาเอกสารเพื่อแจ้งเจ้าหนี้ 7.การดำเนินการเรื่องงบประมาณและประมาณการผลการดำเนินงาน โดยต้องได้รับความช่วยเหลือและสนับสนุนเชิงนโยบายจากภาครัฐ

นอกจากนี้ คณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาการบินไทยได้ขอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณากฎหมายต่างๆในความรับผิดชอบ ว่าจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขให้สอดคล้องกับสถานะที่เปลี่ยนไปของการบินไทยจากรัฐวิสาหกิจเป็นบริษัทมหาชนหรือไม่อย่างไร เช่น โรงพยาบาลเอกชน 4 แห่ง งดรับใบส่งตัวพนักงานที่ต้องการรับการรักษา ทำให้ต้องมีการสำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลไปก่อน ขณะที่การเติมน้ำมันเชื้อเพลิงของการบินไทย มีปัญหาคือสถานบริการน้ำมันไม่จ่ายน้ำมันให้บริเวณลานจอด ตั้งแต่วันที่ 26 พ.ค.2563 แต่ธนาคารกสิกรไทยและธนาคารกรุงไทย ยังให้ใช้ Fleet card หรือเครดิตในการเติมน้ำมันต่อไปได้ นอกจากนั้นธนาคารพันธมิตรยังระงับจ่ายเบี้ยเลี้ยงให้นักบินและลูกเรือ ทำให้การบินไทยต้องโอนเงินให้โดยตรง และผู้ผลิตวัตถุดิบระงับส่งสินค้าให้ครัวการบิน จึงต้องพิจารณาปรับลดค่าใช้จ่ายต่างๆเพื่อรักษาสภาพคล่องและใช้เงินสดเท่าที่จำเป็น.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ