ตั้งแต่โรคไวรัสโควิด-19 เริ่มแพร่ระบาดหนักในเดือน ก.พ.63 รัฐบาลที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มาอย่างต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบันมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ 5,000 บาท จำนวน 3 เดือน (เม.ย.-มิ.ย.63) รวมเป็น 15,000 บาท ในโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” กลุ่มแรงงาน ลูกจ้างชั่วคราว และผู้ประกอบอาชีพอิสระ ได้ปิดโครงการไปเรียบร้อยแล้วเมื่อสิ้นเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ หากย้อนกลับไป เริ่มแรกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) คาดการณ์ตัวเลขกลุ่มแรกที่ได้รับความเดือดร้อนจากโควิดไว้เพียงแค่ไม่กี่ล้านรายเท่านั้น แต่เมื่อเวลาผ่านไปตัวเลขเยียวยากลับเพิ่มขึ้นอย่างน่ามหัศจรรย์ โดยตัวเลขผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนทั้งหมดมีมากถึง 57.2 ล้านราย จากจำนวนประชากรในประเทศไทยทั้งสิ้น 66 ล้านราย
จนนำไปสู่การกู้เงินจำนวน 1 ล้านล้านบาท เพื่อนำมาแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจในวิกฤติโควิดครั้งนี้
สำหรับกลุ่มที่รัฐบาลให้เงินช่วยเหลือเยียวยา ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1 ผู้ประกอบอาชีพอิสระ แรงงาน และลูกจ้างชั่วคราว ซึ่งคาดการณ์ผู้เดือดร้อนไว้แค่ 9 ล้านรายเท่านั้น แต่หลังจากเปิดให้ลงทะเบียนผ่าน www.เราไม่ทิ้งกัน.com กลับมีผู้ได้รับความเดือดร้อนมาลงทะเบียนสูงถึง 28.8 ล้านราย โดยในจำนวนนี้ผ่านเกณฑ์ได้รับเงิน 15.10 ล้านราย จากกรอบจ่ายเงินเยียวยาที่รัฐบาลกำหนดไว้ 16 ล้านราย
กลุ่มที่ 2 เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากพิษโควิด ทำให้ค้าขายสินค้าเกษตรไม่ได้ ในกลุ่มนี้มีครอบครัวเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และมีสิทธิ์รับเงินจำนวนทั้งสิ้น 10 ล้านครัวเรือน ซึ่งปัจจุบันจ่ายเงินให้กับครัวเรือนเกษตรกรไปแล้ว 6.2 ล้านครัวเรือน
ส่วนกลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มที่มีความเปราะบาง จำนวน 3 กลุ่ม ได้แก่ เด็กแรกเกิดถึง 6 ปี ผู้สูงอายุ และคนพิการจำนวน 13 ล้านราย ในกลุ่มนี้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จะจ่ายเงินเยียวยา ให้รายละ 1,000 บาท จำนวน 3 เดือน (พ.ค.-ก.ค.) รวมเป็น 3,000 บาท ส่วนสาเหตุที่มีการจ่ายเยียวยาในกลุ่มเปราะบางน้อยกว่า 2 กลุ่มแรกนั้น เป็นเพราะรัฐบาลอุดหนุนเงินเพื่อช่วยเหลือกลุ่มเหล่านี้อย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว
ขณะที่กลุ่มที่ 4 คือ กลุ่มที่อยู่ในระบบประกันสังคม จำนวน 11 ล้านราย กลุ่มที่ 5 กลุ่มข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจรวมกว่า 3 ล้านราย ที่รัฐบาลดูแลโดยการไม่ลดวันทำงาน และไม่ลดเงินเดือน
กลุ่มที่ 6 คือ กลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ14.6 ล้านราย โดยในจำนวนนี้ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล 2.4 ล้านราย กลุ่มที่ 7 คือ กลุ่มที่ลงทะเบียนในมาตรการเยียวยา 5,000 บาทไม่สำเร็จ 1.7 ล้านราย ซึ่งรัฐบาลจะเร่งตรวจสอบเพื่อให้กลุ่มเหล่านี้ได้รับเงินทั้งหมด และกลุ่มที่ 8 กลุ่มที่ได้รับผลกระทบทางสังคมกรณีฉุกเฉินอีก 1 ล้านราย
ดังนั้น ตัวเลขที่เหลืออยู่จำนวน 8.8 ล้านรายนั้น ถือเป็นกลุ่มที่มีรายได้ประจำ มีรายได้สูง คนรวย หรืออาจจะไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยตรงจนกระทบกับรายได้ ซึ่งคิดเป็น 13% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศเท่านั้น รัฐบาลจึงยังไม่ได้ออกมาตรการช่วยเหลือคนในกลุ่มนี้
ทั้งนี้ ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นมา บ่งบอกถึงความ “เปราะบาง” ของเศรษฐกิจไทย ที่ไม่สามารถต้านทานปัจจัยลบที่ถาโถมเข้ามาได้เพราะเพียงแค่ระยะเวลา 3 เดือนที่โควิด-19 เริ่มแพร่ระบาด ร้านค้า ผู้ประกอบการ กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว และโรงแรมหลายแห่งต่างปิดตัวลงเพราะแบกรับต้นทุนไม่ไหว ต้องยอมปลดพนักงานบางส่วนเพื่อรักษากิจการไว้
ถึงวันนี้หน่วยงานวิเคราะห์เศรษฐกิจ เช่น สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) ออกมาประสานเสียงเป็นทิศทางเดียวกันว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้ติดลบอย่างแน่นอน อย่างดีที่สุดติดลบ 5% แต่หากเลวร้ายอาจจะติดลบถึง6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) และในปีนี้จะมีคนว่างงานถึงประมาณ 2 ล้านราย
อย่างไรก็ตาม มาตรการที่ออกมายังสะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบอาชีพต่างๆ รวมถึงผู้มีรายได้น้อย มีเงินออมไม่เพียงพอสำหรับสำรองใช้ในกรณีเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน เช่น กรณีโควิด-19 ประชาชนบางรายไม่มีเงินใช้ดำรงชีวิตในระยะสั้นแค่ 1 เดือน ต่างจากประเทศอื่น อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เป็นต้น ที่ประชาชนมีการวางแผนการเงิน ออมไว้ในระยะยาวและใช้ในกรณีเกิดฉุกเฉินได้ทันที
แตกต่างจากประเทศไทย ที่ประชาชนต้องฝากความหวังทั้งหมดไว้กับมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาลที่มีความยุ่งยาก และเกิดปัญหาต่างๆ มากมาย ซึ่งต้องยอมรับว่ากว่า “ฝนจะตกทั่วฟ้า” ประชาชนที่นั่งรอกันตาดำๆ อาจจะอดตายกันเสียก่อน.
นันท์ชยา ชื่นวรสกุล