ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 18 มี.ค.นี้ ที่กระทรวงอุตสาหกรรม นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะเรียกผู้ประกอบการสินค้าอุปโภค-บริโภครายใหญ่ เช่น เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี), เครือสหพัฒน์, กลุ่มบีเจซี, บริษัท ยูนิลีเวอร์ จำกัด รวมทั้งห้างค้าปลีกสมัยใหม่ (โมเดิร์นเทรด) เช่น บิ๊กซี, เทสโก้ โลตัส ผู้ประกอบการผู้ผลิตหน้ากาก เจลแอลกอฮอล์, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เพื่อสอบถามความพร้อมในเรื่องกำลังการผลิต, วิธีการกระจายสินค้า รวมทั้งการซักซ้อมรองรับสถานการณ์ต่างๆที่อาจเกิดขึ้น เพื่อรองรับปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส.อ.ท.ได้นัดประชุมกรรมการบริหารนัดพิเศษเพื่อหารือผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยได้สอบถามผลกระทบของกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ และแจ้งมาตรการเตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการรองรับสถานการณ์ โดยเฉพาะกรณีสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่ง ส.อ.ท.ไม่ต้องการให้ประชาชนแตกตื่นกักตุนแบบ 2 -3 วันที่ผ่านมา
ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ผลกระทบจากการแพร่ระบาดโรคไวรัสโควิด-19 เบื้องต้นสรุปปัญหาเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มแรกผู้ประกอบการที่ต้องการหยุดกิจการชั่วคราว ให้พนักงานพักยาว 2-3 เดือน โดยไม่จ่ายเงินเดือน แต่ยังไม่เลิกจ้าง เพราะเป็นกลุ่มที่ไม่มีคำสั่งซื้อเข้ามาในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19
กลุ่มที่ 2 อุตสาหกรรมที่ยังไม่ได้รับผลกระทบมาก ต้องการให้พนักงานหยุดงานระยะสั้น 2 สัปดาห์ ซึ่งต้องหารือว่าต้องจ่ายเงินเดือนหรือไม่ โดยเป็นกลุ่มที่มีคำสั่งซื้อแต่ไม่สามารถผลิตได้ เพราะขาดแคลนวัตถุดิบที่ต้องนำเข้าจากจีน สุดท้ายกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีคำสั่งซื้อจำนวนมาก เช่น กลุ่มอาหาร หน้ากากอนามัย เจลและแอลกอฮอล์ล้างมือ อุปกรณ์การแพทย์ รวมถึงสินค้าอุปโภค-บริโภค
“ขณะนี้ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหา เพราะเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย ดังนั้น จึงจำเป็นต้องวางแผนรองรับกลุ่มที่ได้รับผลกระทบรุนแรง เช่น ธุรกิจโรงแรม และกลุ่มที่ยังมีคำสั่งซื้อตามปกติ จะทำอย่างไรกันต่อไป รวมถึงกลุ่มที่ต้องเร่งผลิตสินค้าเพื่อรองรับความต้องการสินค้าจำเป็น โดยต้องพิจารณาว่า ถ้ายกระดับโควิด-19 เป็นระยะ 3 การขนส่งวัตถุดิบและสินค้า การเดินทาง การออกมาจับจ่ายสินค้าของประชาชนจะเป็นอย่างไร”.