จ่อคลอดเกณฑ์คืนเงินประกันมิเตอร์ไฟฟ้า 13 มี.ค. คาดเริ่มต้นลอตแรกภายใน มี.ค.นี้ ด้านบอร์ด กกพ.มีมติตรึงค่าเอฟทีพร้อมกัน 2 งวด ที่-11.60 สต.ต่อหน่วย ยาว 8 เดือนตั้งแต่ งวด พ.ค.-ธ.ค.ช่วยลดภาระประชาชน
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า (มิเตอร์ไฟฟ้า) ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ครอบคลุมผู้ใช้ไฟฟ้า 21.5 ล้านราย วงเงิน 30,000 ล้านบาท ว่า ตนได้หารือกับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) โดยจะเป็นการทยอยคืนให้ประชาชน และกลุ่มผู้ประกอบการกิจการขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) ภายในเดือน มี.ค.นี้ เป็นกลุ่มแรกที่จะได้รับคืนเงินก่อน จะเป็นกรณีที่ชื่อผู้ขอมิเตอร์ไฟฟ้า ตรงกับใบเสร็จค่าไฟฟ้า เพราะถือเป็นเจ้าของโดยตรง
ขณะที่อีกกลุ่มที่จะได้รับการพิจารณาคืนค่ามิเตอร์รอบต่อไป จะเป็นกลุ่มที่ยังมีปัญหาในเรื่องคุณสมบัติ เช่น ผู้ขอมิเตอร์ไฟฟ้าเสียชีวิตแล้ว ซึ่งจะมีการพิจารณาอีกครั้งว่า จะดำเนินการอย่างไร เช่น ให้ทายาท นำเอกสารใบมรณะ และหลักฐานการเกี่ยวข้องมาขอรับเงินคืน ผู้ซื้อบ้านต่อ หรือบ้านมือ 2 ที่ไม่ได้แจ้งเปลี่ยนชื่อเจ้าของมิเตอร์ ซึ่งกลุ่มนี้มีแนวโน้มต้องไปขอทำหนังสือยินยอมจากเจ้าของมิเตอร์คนเก่า หากไม่ยินยอม เจ้าของมิเตอร์รายแรก จะได้เป็นผู้รับคืนเงินไป ก็ จะมีการพิจารณารายละเอียดอีกครั้ง เพื่อป้องกันการฟ้องร้อง
สำหรับวิธีการคืนเงินจะเป็นการคืนรูปแบบใด จะมีการหารือรายละเอียดกับ 2 การไฟฟ้าอีกครั้งในวันที่ 13 มี.ค.นี้ ซึ่ง สกพ.มองว่า ควรคืนเงินในรูปแบบเงินสดเพื่อให้ประชาชนนำเงินไปใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายรัฐบาล แต่ต้องสอบถามทั้ง 2 การไฟฟ้าว่าสามารถ คืนเงินในรูปแบบเงินสดได้หรือไม่ หรือหักกับค่าใช้ไฟฟ้าในแต่ละเดือน ขณะที่รูปแบบการคืนเงิน เบื้องต้น 2 รูปแบบ คือ เดินทางมารับเงินคืนที่สาขาการไฟฟ้า หรือคืนเงินผ่านแอปพลิเคชัน ซึ่งแต่ละพื้นที่ความสะดวกในรับคืนเงินแตกต่างกัน
“หลักฐานการรับคืนเงินจะต้องไม่ยุ่งยาก เช่น นำบัตรประชาชนมายื่น โดยทาง 2 การไฟฟ้าจะมีการประกาศเกณฑ์ในการตรวจสอบรายชื่อเป็นทางการต่อไป โดยให้นโยบายว่าจะต้องอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนมากที่สุด ต้องออกเกณฑ์มาอย่างรัดกุม เพราะมีจำนวนผู้ได้รับคืนเงินถึง 21.5 ล้านราย ถ้าทำไม่ดี จะถูกต่อว่าได้ และการคืนเงินก็ต้องคืนให้ถูกคน ไม่เช่นนั้นจะมาร้องเรียนกันอีก ซึ่งรายละเอียดทั้งหมด 2 การไฟฟ้า จะประกาศเร็วๆนี้”
นายประเทศ ศรีชมภู รองเลขาธิการ สกพ.กล่าวว่า การคืนค่าประกันจะเป็นไปตามขนาดแอมป์ของมิเตอร์ มีทั้งอัตราเก่าและใหม่ โดยอัตราใหม่ในส่วนของครัวเรือนขนาด 5, 15, 30 แอมป์ ได้คืน 300 บาท, 2,000 บาท และ 4,000 บาท ตามลำดับ ส่วนผู้ประกอบการขนาดเล็ก ค่าประกันอยู่ที่ 6,000-8,000 บาท หากแยกแล้ว ผู้ที่อยู่ในเขต กฟน.คือ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ นนทบุรี จะได้รับเงินคืน 3.89 ล้านราย 13,581 ล้านบาท พื้นที่ กฟภ.ได้รับเงินคืน 19,987 ล้านบาท 19.5 ล้านราย ส่วนผู้ขอยื่นใช้ไฟฟ้ารายใหม่ ไม่ต้องจ่ายค่าประกันแล้วจะจ่ายเพียงค่าตรวจสายไฟฟ้า 100-1,500 บาทต่อมิเตอร์ ขึ้นอยู่กับขนาดแอมป์ ส่วนนี้คาดว่า จะประกาศเริ่มภายในเดือน มี.ค. หรือ เม.ย. นี้
ขณะเดียวกัน ที่ประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (บอร์ดกกพ.) ได้มีมติให้คงอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (ค่าเอฟที) สำหรับการเรียกเก็บในงวดเดือน พ.ค.-ส.ค.นี้ที่ -11.60 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.64 บาทต่อหน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เพื่อบรรเทาค่าครองชีพประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 โดยคาดว่าจะใช้เงิน 5,120 ล้านบาท ในการตรึงค่าเอฟที นอกจากนั้น เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบต่อค่าครองชีพของพี่น้องประชาชนจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ บอร์ด กกพ.จึงจะตรึงค่าเอฟทีต่อเนื่องไปอีก 4 เดือน หรือในงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.นี้ในอัตราเดิม เพราะมีเงินบริหารจัดการเหลืออยู่อีกประมาณ 10,000 ล้านบาทซึ่งเพียงพอใช้ตรึงค่าเอฟที ประกอบกับราคาพลังงานตลาดโลกลดลงต่อเนื่อง.