นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้เป็นหน่วยงานที่แยกออกมาทำภารกิจด้านนี้โดยเฉพาะแล้ว และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 ม.ค.63 เพื่อให้มีความคล่องตัวมากขึ้น และขับเคลื่อนการส่งเสริมและพัฒนาสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (จีไอ) ได้ดีขึ้น
สำหรับการขึ้นทะเบียนสินค้าจีไอของไทย ปัจจุบันขึ้นทะเบียนแล้ว 75 จังหวัด ในสินค้าเกือบ 120 รายการ เหลือเพียง 2 จังหวัด คือปทุมธานีและอ่างทองที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน โดยปทุมธานีอยู่ระหว่างการประกาศโฆษณาคำขอขึ้นทะเบียนกล้วยหอมทองปทุม คาดว่าจะได้รับการขึ้นทะเบียนในเร็วๆนี้ ส่วนอ่างทองได้ยื่นคำขอขึ้นทะเบียน จีไอสินค้ากลองเอกราช ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาและคาดว่าจะได้รับการขึ้นในเร็วๆนี้ หาก 2 จังหวัดนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนได้แล้ว ทำให้ 77 จังหวัดของไทยมีสินค้าจีไอครบทั้งหมด
นายทศพล กล่าวอีกว่า กรมยังจะเดินหน้าขึ้นทะเบียนสินค้าจีไอรายการใหม่ๆอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดได้รับการแจ้งรายชื่อสินค้าที่มีโอกาสขึ้นทะเบียนจากสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศเข้ามาแล้วรวม 147 สินค้า จาก 50 จังหวัด ส่วนใหญ่เป็นผลไม้ ผ้าไหม เกษตรแปรรูป หัตถกรรม เครื่องจักสาน ซึ่งจะส่งทีมลงพื้นที่ไปประชุมร่วมกับจังหวัด หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เกษตรกร ผู้ประกอบการชุมชน เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการยื่นคำขอขึ้นทะเบียน
โดยเบื้องต้นมีสินค้าเป้าหมาย 7 สินค้า จาก 6 จังหวัด ได้แก่ ผ้าไหมปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา, พุทราบ้านโพน จังหวัดกาฬสินธุ์, มะม่วงหนองแซง และเผือกหอมบ้านหอม จังหวัดสระบุรี, มังคุดคีรีวง จังหวัดนครศรีธรรมราช, มันแกวบรบือ จังหวัดมหาสารคาม และพริกไทยปะเหลียน จังหวัดตรัง ทั้งนี้ ตั้งแต่ พ.ร.บ.คุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ พ.ศ.2546 มีผลบังคับใช้จนถึงปัจจุบัน มีคำขอขึ้นทะเบียนยื่นเข้ามาทั้งหมด 228 คำขอ ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว 135 สินค้า เป็นสินค้าจีไอของไทย 118 สินค้า และต่างประเทศ 17 สินค้า.