ครม.อัดฉีดเงินอุ้มท่องเที่ยว อนุมัติมาตรการภาษี-การเงินลดผลกระทบ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ครม.อัดฉีดเงินอุ้มท่องเที่ยว อนุมัติมาตรการภาษี-การเงินลดผลกระทบ

Date Time: 5 ก.พ. 2563 08:01 น.

Summary

  • นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการการเงินการคลังเพื่อบรรเทาผลกระทบ

Latest

“ค้างหนี้-จ่ายช้า”เร่งตัว NPLs คนไทยพุ่ง! สินเชื่อรถ-บ้าน มากสุด กู้เต็มวงเงิน หันพึ่งหนี้นอกระบบ

ครม.อนุมัติแพ็กเกจ 4,500 ล้านช่วยท่องเที่ยว อัดมาตรการภาษี-การเงินลดผลกระทบเศรษฐกิจไทย

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการการเงินการคลังเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจการท่องเที่ยวปี 2563 เพื่อลดผลกระทบจากเชื้อไวรัสโคโรนา ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และความไม่แน่นอนจากปัจจัยภายนอกประเทศที่เกิดจากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศ ประกอบด้วยมาตรการด้านภาษีและมาตรการด้านการเงิน โดยคาดว่ารัฐบาลจะสูญเสียรายได้รวมทุกมาตรการประมาณ 4,500 ล้านบาท

สำหรับมาตรการด้านภาษี ได้แก่ มาตรการลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบิน โดยปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเครื่องบิน ที่นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับเที่ยวบิน ในประเทศ จากเดิม 4.726 บาทต่อลิตร เหลือ 0.20 บาทต่อลิตร ถึงวันที่ 30 ก.ย.63 คาดว่ารัฐจะสูญเสียรายได้ 2,000 ล้านบาท

“มาตรการดังกล่าวเป็นการช่วยเหลือแบบเร่งด่วน จึงลดให้เฉพาะกับเครื่องบินไปก่อน เนื่องจากเป็นมาตรการที่มีแผนงานอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามทราบมาว่าทางผู้ประกอบการรถทัวร์ก็อยากให้ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันให้เช่นกัน ซึ่งกระทรวงการคลังพร้อมจะพิจารณาแต่คงต้องขอหารือกันก่อนเพื่อดูความเหมาะสม”

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศ ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหักรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเป็นค่าห้องสัมมนา ค่าห้องพัก ค่าขนส่ง หรือรายจ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการอบรมสัมมนาภายในประเทศที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้จัดขึ้นให้แก่ลูกจ้าง หรือรายจ่ายที่ได้จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ เพื่อการอบรมสัมมนาภายในประเทศตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-31 ธ.ค.63 เป็นจำนวน 2 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริง คาดว่าจะมีผู้มาใช้สิทธิ์ 1,000 ราย คิดเป็นเงินผู้ประกอบการต้องจ่าย 435 ล้านบาท และเป็นคืนภาษีให้บริษัทห้างหุ้นส่วนจำนวน 87 ล้านบาท

ขณะที่มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงกิจการโรงแรม ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรมหักรายจ่ายสำหรับเงินได้เท่ากับรายจ่ายที่ได้จ่ายเพื่อต่อเติม/ปรับปรุง หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-31 ธ.ค.63 จำนวน 1.5 เท่าของรายจ่ายจริง คาดว่าจะมีผู้ใช้สิทธิ์ 1,000 ราย คิดเป็นเงินลงทุน 24,000 ล้านบาท เป็นภาษีที่ต้องคืนผู้ประกอบการ 2,400 ล้านบาท ในช่วง 20 ปี หรือปีละ 120 ล้านบาท

“กระทรวงการคลังคาดว่ามาตรการที่ออกมาช่วยบรรเทาผลกระทบของกลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยว โดยยืนยันว่าขณะนี้แม้เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวไม่สูงมาก แต่ยังเติบโตได้ไม่ได้เข้าสู่ภาวะถดถอยแบบที่หลายฝ่ายประเมินไว้ ทั้งนี้ หากมีเงินลงทุนปรับปรุงธุรกิจโรงแรมถึง 24,000 ล้านบาท คาดว่าจะช่วยผลักดันเศรษฐกิจในปี 2563 ได้ โดยสศค.คาดว่าปัญหาไวรัสโคโรนาจบใน 3 เดือน และปีนี้ยังประเมินเศรษฐกิจเติบโตที่ 2.8%”

ส่วนการขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีให้แก่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามประมวลรัษฎากร ภ.ง.ด. 90 และ ภ.ง.ด. 91 ซึ่งจะต้องยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีในเดือน มี.ค.ของปีนี้ ให้ขยายกำหนดเวลาออกไปเป็นภายในเดือน มิ.ย.ปีนี้

อย่างไรก็ตาม มาตรการด้านการเงินสถาบันการเงินของรัฐใช้กรอบแนวทางเดิมของการช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอีก่อนหน้านี้ แต่ให้เพิ่มการช่วยเหลือในกลุ่มท่องเที่ยวเข้าไปด้วย ซึ่งการช่วยเหลือมีทั้งมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเงื่อนไขผ่อนปรน วงเงินรวม 125,000 ล้านบาท จากธนาคารออมสิน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอี) และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) โดยให้ดอกเบี้ยเริ่มต้น 3% ต่อปี

นอกจากนี้ ยังมีการขยายเวลาชำระหนี้และค่าธรรมเนียม เพื่อเป็นเงินทุนสำหรับเสริมสภาพคล่อง และปรับปรุงสถานประกอบการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโคโรนา อาทิ ธนาคารออมสิน ขยายระยะเวลาการชำระหนี้ให้ 2 เท่าของระยะเวลาคงเหลือตามสัญญาสูงสุดไม่เกิน 5 ปี เอสเอ็มอีแบงก์พักชำระหนี้เงินต้นสำหรับเงินกู้ยืมระยะยาวที่มีวงเงินคงเหลือไม่เกิน 5 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 6 เดือน มีประวัติการผ่อนชำระหนี้ดีไม่น้อยกว่า 6 เดือน ก่อนวันเข้าร่วมโครงการ และต้องไม่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล)

ขณะที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ให้ผ่อนชำระหนี้ได้ครั้งละไม่เกิน 12 เดือน ต่อเนื่องไม่เกิน 5 ครั้ง หรือขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้และขยายระยะเวลาการชำระหนี้ได้ไม่เกิน 20 ปี และธนาคารอาคาร สงเคราะห์ (ธอส.) ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และงวดผ่อนชำระได้ไม่เกิน 6 เดือน คิดอัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ