“ค้างหนี้-จ่ายช้า”เร่งตัว NPLs คนไทยพุ่ง! สินเชื่อรถ-บ้าน มากสุด กู้เต็มวงเงิน หันพึ่งหนี้นอกระบบ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

“ค้างหนี้-จ่ายช้า”เร่งตัว NPLs คนไทยพุ่ง! สินเชื่อรถ-บ้าน มากสุด กู้เต็มวงเงิน หันพึ่งหนี้นอกระบบ

Date Time: 26 พ.ย. 2567 09:35 น.

Video

ทางรอดเศรษฐกิจไทยในยุค AI ครองโลก | 1st Anniversary Thairath Money

Summary

  • สภาพัฒน์ฯ เผย ความสามารถจ่ายหนี้ของคนไทย ต่ำลง! ตัวเลข “ค้างหนี้ - จ่ายช้า” เร่งตัว NPLs พุ่ง! 12% กระจุกตัว สินเชื่อรถ สินเชื่อบ้าน มากสุด กู้เต็มวงเงิน ห่วง ไม่เหลือทางเลือก ต้องหันไปพึ่งหนี้นอกระบบ ดอกเบี้ย 20% แทน สะเทือนเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและสังคม

Latest


แม้ “หนี้ครัวเรือน” คนไทยจะอยู่ในภาวะขยายตัวแบบชะลอลง จาก 16.36 ล้านล้านบาท ช่วงไตรมาสแรกของปี มาอยู่ที่ 16.32 ล้านล้านบาท ทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ปรับลดลงมาอยู่ที่ 89.6 ต่ำสุดนับแต่เกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 แต่ยังเป็นสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชีย

ขณะที่ล่าสุด สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ฯ รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 2 ปี 2567 ชี้ว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยยังเป็นเรื่องน่ากังวล เพราะแนวโน้มการก่อหนี้ใหม่ยังสูง อีกทั้งตัวเลขหนี้เสีย (NPLs) เร่งตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากลูกหนี้มีปัญหาการผิดนัดชำระหนี้มากขึ้น จนบางส่วนต้องหันไปพึ่งพาหนี้นอกระบบแทน

สะท้อนจากข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือ เครดิตบูโร ที่ระบุว่า ความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนไทยยังคงลดลงต่อเนื่อง โดยไตรมาส 2 ที่ผ่านมา พบมียอดคงค้างสินเชื่อบุคคลที่ค้างชำระเกิน 90 วันขึ้นไป (NPLs) มีทั้งสิ้น 9.6 ล้านบัญชี เป็นมูลค่ากว่า 1.16 ล้านล้านบาท เป็นสัดส่วนสูงถึง 8.48% ของสินเชื่อรวมทั้งหมด

การขยายตัวของหนี้เสียภาพรวมเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 12.2% มีสาเหตุมาจากการผิดชำระหนี้มากสุดในกลุ่มสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และสินเชื่อบ้านเป็นหลัก นอกจากนี้ ยังมีสินเชื่อที่ค้างชำระระหว่าง 30 - 90 วัน (SMLs) รวมมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 5 แสนล้านบาท ซึ่งสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ยังคงเป็นสินเชื่อประเภทเดียวที่มีสัดส่วนหนี้ SMLs ต่อสินเชื่อรวมเพิ่มสูงขึ้น

สภาพัฒน์ฯ ยังเผยทิศทางที่น่ากังวลอยู่ที่คนไทยมีแนวโน้มการก่อหนี้ในกลุ่มสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และอัตราการผิดนัดชำระที่สูง หากคนไทยไม่ระมัดระวังในการก่อหนี้และไม่มีวินัยทางการเงิน จะนำไปสู่การติดกับดักหนี้ได้

ขณะเดียวกัน แนวโน้มการผิดนัดชำระหนี้บ้านที่เร่งตัวขึ้นก็มีความน่ากังวล โดยข้อมูลพบว่า ลูกหนี้ที่มีการก่อหนี้หลายประเภท เกือบ 1 ใน 3 เลือกที่จะผิดนัดหรือหยุดชำระสินเชื่อบ้านก่อนสินเชื่อบัตรเครดิตหรือสินเชื่อส่วนบุคคล เนื่องจากมีความสามารถในการชำระหนี้จำกัด จึงเลือกรักษาวงเงินที่เหลือในสินเชื่อบัตรเครดิตหรือสินเชื่อส่วนบุคคลไว้จับจ่ายใช้สอยแทนก่อน

ทั้งนี้ จากการที่สถาบันการเงินเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ อัตราการถูกปฏิเสธสินเชื่อในระดับสูง โดยเฉพาะลูกหนี้ที่กู้ในระบบเต็มวงเงินแล้ว ทำให้ไม่เลือกทางเลือก จนอาจต้องหันไปพึ่งพา “หนี้นอกระบบ” โดยจากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนล่าสุด พบว่า ครัวเรือนไทยก่อหนี้นอกระบบคิดเป็นมูลค่าอยู่ที่ 6.7 หมื่นล้านบาท และส่วนใหญ่ 47.5% กู้หนี้มาเพื่อใช้จ่าย สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการขาดสภาพคล่องของครัวเรือน

สิ่งที่เป็นกังวลคือ การก่อหนี้นอกระบบจะทำให้ลูกหนี้มีความเสี่ยงในการตกอยู่ในวังวนหนี้สินไม่รู้จบ ทั้งอัตราดอกเบี้ยสูงเกินกฎหมายกำหนด ซึ่งบางครั้งสูงถึง 20% ต่อเดือน หรือ 240% ต่อปี ไม่นับรวมการถูกโกงจากสัญญาที่ไม่ชัดเจน การใช้วิธีการทวงหนี้ที่ผิดกฎหมายและรุนแรง เป็นต้น

ซึ่งประเด็นทั้งหมดต้องเร่งแก้ไขปัญหาเพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อเสถียรภาพทางการเงินและเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวต่อไป

ที่มา : สภาพัฒน์ 

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่ 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ