ในภาวะที่เศรษฐกิจไทยกำลังต้องการการลงทุนใหม่ ทั้งโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่จำนวนมากและการลงทุนในภาคเอกชน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ “เงินทุน” เป็นสิ่งที่สำคัญมาก โดยเฉพาะเงินลงทุนของรัฐบาล ที่จะใช้เป็นเครื่องมือชี้นำการลงทุนของประเทศ
การหารายได้ของประเทศ จึงถือเป็นเรื่องสำคัญ โดย “กรมสรรพากร” ในฐานะหน่วยงานจัดเก็บภาษีที่สำคัญ จัดเก็บรายได้ให้กับประเทศมากถึง 80% ของรายได้ภาษีทั้งหมด เป็นหน่วยงานหนึ่งถูกให้โจทย์ใน การหารายได้เพิ่มขึ้น โดยเร่งรัดพัฒนากระบวนการทำงาน และบุคลากร เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ
ทำให้ในปี 2563 นี้ “นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ” อธิบดีกรมสรรพากร ต้องเร่งดำเนินการยกระดับกรมสรรพากรให้มีประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้น และผลักดันให้กรมสรรพากรเป็น“องค์กรดิจิทัล” อย่างสมบูรณ์
หลังจากปี 2562 ที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงการทำงานให้ทันสมัยมากขึ้น ได้ทำให้จัดเก็บภาษีได้เกินเป้าหมายถึง 9,310 ล้านบาท ถือเป็นการจัดเก็บภาษีได้เกินเป้าหมายครั้งแรกในรอบ 7 ปี!!!
“ทีมเศรษฐกิจ” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์อธิบดีกรมสรรพากรถึงเป้าหมายการทำงานในปี 2563 และแนวทางที่ทำให้การจัดเก็บรายได้ในปีนี้บรรลุตามเป้าหมาย
“ช่วงปีที่ผ่านมา กรมสรรพากรได้ปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานครั้งใหญ่เพื่อเข้าสู่ฐานดิจิทัล ตามนโยบายการเข้าสู่รัฐบาลดิจิทัล และในปี 2563 นี้ นโยบายการทำงานจะเร่งรัดการจัดเก็บภาษีให้ประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยให้เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรทั่วประเทศ 22,000 ราย ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ “ดีทูไดรฟ์” หรือ D2RIVE ต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา โดยตั้งเป้าหมายจัดเก็บรายได้ให้ได้ถึง 2.116 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นเป้าหมายของกระทรวงการคลัง”
ทั้งนี้ อธิบดีกรมสรรพากรอธิบายเพิ่มเติมว่า “ดีทูไดรฟ์” หรือ D2RIVE ประกอบด้วยด้วย 6 มาตรการตามตัวอักษร ซึ่ง D ตัวแรก หมายถึง Digital Transformation การเปลี่ยนกระบวนการดำเนินงานขององค์กรให้เป็นดิจิทัล ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่การปรับเปลี่ยนรูปแบบจาก กระดาษมาเป็นดิจิทัล แต่เป็นการเปลี่ยนกระบวนการทำงานทั้งหมด รวมถึงการทำงานบุคลากรของกรมสรรพากรให้ก้าวทันโลกที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย
โดยกรมได้เพิ่มช่องทางการยื่นแบบเสียภาษีให้มากขึ้น นอกเหนือจากช่องทางยื่นภาษีอินเตอร์เน็ตที่ใช้เดิม ยังได้เพิ่ม “แอปพลิเคชัน RD Smart Tax Application” ให้ผู้เสียภาษีสามารถยื่นแบบเสียภาษีผ่านแอปนี้ได้ ซึ่งใช้งานง่าย คนที่ไม่เคยกรอกแบบภาษีก็ใช้งานได้ และหลังจากยื่นแบบแล้ว ข้อมูลจากแอปจะถูกส่งไปที่กรมทันที
“การใช้โลกออนไลน์ และเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาให้บริการ ได้ส่งผลให้ภายในเวลา 1 ปี คือ ปี 2562 กรมสรรพากรสามารถขยายฐานผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มเป็น 11.7 ล้านราย จากเดิมมีเพียง 9 ล้านราย หรือเพิ่มขึ้น 10%”
นอกจากนั้น กรมยังได้ร่วมกับบริษัท ไอแทค อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) ซึ่งเป็นสตาร์ตอัพ เปิดเว็บไซต์ ITAX ให้บริการข้อมูลผู้เสียภาษีของกรมสรรพากร โดนปรับเปลี่ยนให้กลายเป็น “แพลตฟอร์ม” ในลักษณะ Open API (Open Application Programming Interface) ซึ่งเป็นช่องทางการเชื่อมต่อระหว่างเว็บไซต์ของกรมและแพลตฟอร์มอื่นๆ ทำให้เอกชน หรือหน่วยงานอื่นๆ สามารถนำข้อมูลด้านต่างๆจากแพลตฟอร์มของกรมไปต่อยอดเพื่อพัฒนาระบบอื่นๆ ด้วยตัวเองได้ในอนาคต แต่การดำเนินการทุกอย่างต้องได้รับการยินยอมจากเจ้าของข้อมูลก่อน
อย่างไรก็ตาม การจะเชื่อมโยงระบบกับกรมสรรพากรได้ สตาร์ตอัพต้องผ่านเกณฑ์ที่กรมกำหนด เช่น การรักษาความลับของลูกค้าที่จะเสียภาษี มีระบบบริการที่เข้าใจง่าย เป็นต้น โดยกรมร่วมกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA คัดกรองสตาร์ตอัพที่เข้ามาให้บริการมีมาตรฐาน และปลอดภัยกับผู้เสียภาษีมากที่สุด
ขณะเดียวกัน ในปี 2563 กรมสรรพากร จะพัฒนาการให้บริการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่นักท่องเที่ยว (Vat Refund for Tourist) ให้สะดวกรวดเร็วเหมือนประเทศอื่น โดยนำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) มาใช้ โดยจะร่วมกับกรมศุลกากรและสำนักงานตรวจ คนเข้าเมือง เพื่อจัดเก็บข้อมูลนักท่องเที่ยว ตั้งแต่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย และอัปข้อมูลเข้าไประบบบล็อกเชน เพื่อเชื่อมต่อข้อมูล และแสดงผลแบบเรียลไทม์
“เวลานักท่องเที่ยวเดินทางไปซื้อของที่ร้านค้า เมื่อถึงเวลาจ่ายเงินนักท่องเที่ยวเพียงนำพาสปอร์ตไปยื่นให้ร้านค้า เพื่อให้ร้านค้ากรอกข้อมูลลงไปในครั้งแรกเท่านั้น ระบบก็จะจดจำข้อมูลไว้ พอไปซื้อของร้านอื่น นักท่องเที่ยวก็ยื่นพาสปอร์ตอย่างเดียว ซึ่งยอดซื้อของทั้งหมดจะถูกเก็บรวบรวมไว้ในระบบ เมื่อนักท่องเที่ยวเดินทางออกนอกประเทศ กรมศุลกากรจะโอนเงินคืนให้กับนักท่องเที่ยวผ่านบัญชีที่ลงทะเบียนไว้ทันที”
โดยคาดว่า ระบบนี้จะเริ่มใช้ที่สนามบินสุวรรณภูมิเป็นแห่งแรก และมีร้านค้าที่สมัครเข้าร่วมแล้ว คือ บริษัท คิง เพาเวอร์ ซึ่งบริการนี้จะอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยว ลดขั้นตอนยุ่งยากจากเดิมจะต้องกรอกข้อมูลในกระดาษ และต่อคิวขอคืนภาษีนาน เพราะในแต่ละปี มีนักท่องเที่ยวขอคืนแวตถึง 2.7 ล้านราย คิดเป็นมูลค่าจับจ่ายใช้สอยถึง 40,000 ล้านบาท
นอกจากนั้น กรมยังร่วมกับบริษัท ฟินเน็ตอินโนเวชั่นเน็ตเวิร์คจำกัด (FinNet) บริษัทลูกของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้บริการชำระอากรแสตมป์ทางอิเล็กทรอนิกส์ และพิมพ์อากรแสตมป์มาใช้ได้ทันที จากเดิมเวลามีประชุมผู้ถือหุ้น การมอบฉันทะ จะต้องติดอากร แสตมป์ที่ซื้อจากกรมสรรพากร ทำให้เสียทั้งเวลาและค่าเดินทาง
“ที่สำคัญ กรมยังเป็นหน่วยงานแรกๆ ที่นำแชตบอต (chatbot) หรือโปรแกรมสนทนาอัตโนมัติ มาใช้กับระบบการให้บริการภาครัฐ โดยใช้ชื่อว่า “น้องอารีย์” เพื่อตอบคำถาม รวมถึงให้ข้อมูลการชำระภาษีประเภทต่างๆ ของกรมแก่ประชาชนทั่วไป”
สำหรับ D ตัวที่ 2 คือ Data Analytics หรือ การนำข้อมูลจำนวนมากในกรมสรรพากรมาวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ เพื่อจะตอบโจทย์การทำนโยบายให้ “ตรงกลุ่มเป้าหมาย” ช่วยคัดแยกระหว่างคนดีที่เสียภาษีถูกต้อง กับคนไม่ดี ที่เสี่ยงหลบเลี่ยงภาษี เช่น อาจมีผู้เสียภาษีแจ้งข้อมูลผิด หรือจงใจหลบเลี่ยงการเสียภาษี เป็นต้น ทำให้คนดีที่เสียภาษีถูกต้องจะต้องรอคืนภาษีนาน แต่การนำ Data Analytic มาใช้จะช่วยคัดแยกกลุ่มคนเหล่านี้ เพื่อให้คนดีได้รับการคืนเงินภาษีเร็วขึ้น
ขณะที่ “ดีทูไดรฟ์” ตัวที่ 3 ตัว R หมายถึง Revenue Collection หรือการจัดกลยุทธ์ในการจัดเก็บภาษีอย่างมีประสิทธิภาพ โดยกรมสรรพากรจะวางยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษีว่า ผู้เสียภาษีกลุ่มใดจะต้องดำเนินการติดตามเก็บภาษีก่อน ซึ่งส่วนนี้จะดำเนินการร่วมกับการวิเคราะห์ข้อมูลของระบบ Data Analytics เพื่อให้ผู้ที่ยังหลบเลี่ยงภาษีเข้าสู่ระบบฐานภาษีให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะ “ผู้ค้าออนไลน์” ที่ยังอยู่นอกระบบอีกจำนวนมาก
โดยเรื่องการจัดเก็บภาษีออนไลน์นั้น ขณะนี้กรมอยู่ระหว่างการรอคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณากฎหมายการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business) ในต่างประเทศ เพื่อสร้างความเป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการต่างชาติ และผู้ประกอบการไทย เพราะประชาชนในประเทศ ดาวน์โหลดเพลง ภาพยนตร์หนัง ผู้ประกอบการไทยต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) ให้กับรัฐบาล แต่หากเป็นแพลตฟอร์มของต่างชาติรัฐบาลจะไม่สามารถจัดเก็บภาษีจากส่วนนี้ได้เลย
มาถึง “ดีทูไดรฟ์” ตัวที่ 4 ตัว I คือ Innovation การสร้างนวัตกรรมในองค์กร โดยให้เจ้าหน้าที่ของกรมทั่วประเทศแข่งขันเพื่อพัฒนาให้เกิดนวัตกรรม โดยจะเชิญผู้เชี่ยวชาญทั้งภายในและภายนอกมาช่วยแสดงความคิดเห็น เช่น นวัตกรรมสำรวจผู้ที่อยู่นอกระบบภาษี โดยให้ระบบการติดตามจากคิวอาร์โค้ด กรณีร้านค้าใช้คิวอาร์โค้ดชำระค่าสินค้า หรือใช้วิธีปักหมุดและถ่ายรูปหน้าร้าน เพื่อส่งเข้าระบบ คล้ายๆกับการทำแผนที่ภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์
การประกวดพัฒนานวัตกรรมองค์กรที่ผ่านมานั้น โครงการที่ชนะเลิศ คือ การร่นระยะเวลาการติดตามภาษีที่ประชาชนค้างจ่ายกับกรมสรรพากร เพราะสามารถลดกระบวนการทำงาน และขั้นตอนพิจารณาต่างๆลง จากสรรพากรพื้น ไปยังสรรพาภาคและสำนักงานใหญ่ ต้องใช้เวลาถึง 12 เดือนได้ปรับลดลงเหลือแค่ 2 สัปดาห์”
โดยทำให้พื้นที่มีอำนาจในการติดตามและเรียกเก็บภาษีอยู่แล้ว แต่ไม่กล้าตัดสินใจเพราะกลัวความผิด ทำให้เกิดความล่าช้า ให้ตัดสินใจได้โดยไม่ต้องส่งกระดาษไปมาระหว่างภาคกับสำนักงานใหญ่ โดยผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศเสนอแนวทางแก้ปัญหาพร้อมกับทำแพลตฟอร์มใหม่เพื่อทำงานได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น
ขณะที่ ตัว V คือ Values การพัฒนากรมสรรพากรให้เป็น “องค์กรคุณธรรม” โดยยึดหลัก 3 ข้อ ได้แก่ ซื่อสัตย์ รับผิดชอบ และมอบใจบริการ ขณะที่ ตัวสุดท้าย E คือ Efficiency การยกระดับองค์กร แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ สมาร์ท พีเพิล (Smart People) โดยพัฒนาทักษะ (Re-skill) ใหม่ให้กับบุคลากรของกรมให้ก้าวทันเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆที่กรมนำมาใช้ โดยจัดตั้งโรงเรียนสรรพากรขึ้นมา และกำหนดหลักสูตรที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงาน เช่น ตรวจสอบภาษีในระบบออนไลน์ เป็นต้น โดยให้ผู้เชี่ยวชาญในกรมเป็นผู้สอนผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจสามารถมาเข้าเรียนได้
“ตั้งใจจะเปลี่ยนภาพลักษณ์ของกรมสรรพากรใหม่จาก “ยักษ์” ให้เป็น “ยิ้ม” แต่จะยังเป็นยักษ์กับคนโกง และจะยิ้มกับคนที่เสียภาษีดี เนื่องจากที่ผ่านมา ผู้เสียภาษีเมื่อได้รับจดหมายจากกรมสรรพากรแล้ว ก็จะมองว่าเราเป็นยักษ์ จึงพยายามเปลี่ยนความคิดเพื่อทำให้ผู้เสียภาษีคิดเสียว่า กรมสรรพากรเป็นเหมือนเพื่อนคู่คิด สร้างสมาร์ท ออฟฟิศ (Smart Office) ให้บุคลากรทำงานได้ง่ายขึ้น ทำให้ผู้เสียภาษีได้รับบริการที่ดี สะดวก รวดเร็ว”
ทั้งนี้ ทิศทางการขับเคลื่อนการทำงานด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลที่กำลังดำเนินการนี้ นายเอกนิติ ระบุว่า จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของกรมสรรพากรให้สามารถจัดเก็บภาษีได้ตรงกลุ่ม ตรงเป้า และตรงใจมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อเสถียรภาพการคลังของประเทศ
ขณะเดียวกัน ในฐานะที่เป็น “ประธานกรรมการธนาคารกรุงไทย” ว่า ยังได้ให้นโยบายกับธนาคาร ให้นำระบบดิจิทัลของธนาคารที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในช่วงปีที่ผ่านมา มาเป็นแพลตฟอร์มเพื่อตอบโจทย์การให้บริการภาครัฐ ซึ่งเป็นลูกค้าหลักของธนาคารกรุงไทยให้เข้มข้นมากขึ้น ผ่านโครงการภาครัฐต่างๆ
อาทิ โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งจะจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้มีรายได้น้อยและผู้พิการโดยตรงผ่านธนาคาร แก้ปัญหาความไม่โปร่งใสในการจ่ายเงิน จากเดิมการจ่ายเงินให้ผู้สูงอายุ และคนพิการ ต้องจ่ายผ่านองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หรือท้องถิ่น ซึ่งจะถูกลดทอนจำนวนเงินลง
“โลกยุคใหม่จะก้าวสู่แด๊ตฟอร์ม (DATFORM) ซึ่งมาจากคำว่า Data บวกกับ Platform ซึ่งจะเป็นการทำธุรกิจยุคใหม่ที่ยอมขาดทุนเพื่อให้ได้ฐานลูกค้า โดยในส่วนของกรุงไทย เรายอมลงทุนในโครงการร้านธงฟ้าประชารัฐที่ต่อยอดมาจากโครงการสวัสดิการแห่งรัฐ โดยลงทุนติดตั้งเครื่องรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (EDC) ให้กับร้านค้ารายย่อยทั่วประเทศ รวมทั้งคิดแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” ขึ้นมาเพื่อให้ร้านค้าได้ใช้ เพื่อให้ข้อมูลเข้าสู่ระบบ
ออนไลน์”
ทำให้สามารถต่อยอดมาถึงโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ หรือ “ชิม ช้อป ใช้” และต่อยอดถึงในปัจจุบันซึ่งสร้างแอป “เป๋าตัง” ขึ้นมาในส่วนของประชาชน ทำให้ธนาคารมีฐานข้อมูลของประชาชน และร้านค้ารายย่อยรวมกันกว่า 30 ล้านราย
“นอกจากนั้น โครงการชิม ช้อป ใช้ เป็นการเตรียมคนไทยให้เข้าสู่โลกดิจิทัลในอนาคตได้ดี เพราะขั้นตอนการลงทะเบียนกำหนดให้ลงทะเบียนแบบออนไลน์ มีการยืนยันตัวตนด้วยตนเอง ผ่านการสแกนใบหน้า นอกจากนี้ ข้อมูลที่อยู่ในระบบ เช่น ยอดขายของร้านค้า รายรับรายจ่ายทั้งปี เป็นต้น อาจจะนำมาใช้ค้ำประกันเพื่อกู้เงินกับธนาคารในอนาคตเพื่อนำไปขยายกิจการได้”
ทำให้เกิดระบบใหม่ที่สามารถตรวจสอบและนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ได้ตลอดเวลา ซึ่งถือเป็นการวางแพลตฟอร์มระบบดิจิทัลให้กับประเทศไทยให้ก้าวสู่สังคมดิจิทัลได้อย่างแข็งแกร่ง!!
ทีมเศรษฐกิจ