นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า การเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่จะขยายโอกาสทางการค้า และการลงทุนให้กับเกษตรกรไทย และผู้ประกอบการไทย ลดอุปสรรคทางภาษีและไม่ใช่ภาษี เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน อีกทั้งยังช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะปี 68 หลังการรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯของนายโดนัลด์ ทรัมป์ คาดว่าสงครามการค้า (เทรดวอร์) สหรัฐฯ-จีน จะรุนแรงขึ้น และจะเห็นภาพการย้ายฐานลงทุน หากไม่เร่งเจรจา FTA การลงทุนก็อาจไปประเทศอื่นได้
ทั้งนี้ FTA จะช่วยให้ไทยเป็นหมุดหมายสำคัญของการลงทุน เพราะถ้าลงทุนผลิตสินค้าที่ไทยจะส่งออกได้ทั่วโลก เนื่องจากไทยไม่ใช่คู่ขัดแย้งกับใคร เป็นมิตรกับทั้งโลก และที่สำคัญยังใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA สร้างแต้มต่อเหนือคู่แข่งได้ “FTA จะช่วยตอบสนองนโยบายการลงทุนของไทย เสริมสร้างความสัมพันธ์กับคู่เจรจาให้แน่นแฟ้น และกระจายความเสี่ยงต่อนโยบายการค้า การลงทุนของนานาประเทศ”
อย่างไรก็ตาม ในการเจรจาย่อมมีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่ไทยมีกระบวนการตัดสินใจอยู่แล้ว อะไรดีก็เจรจาต่อ แต่ถ้าอะไรที่จะกระทบกับคนไทย เกษตรกร ผู้ประกอบการ และประเทศไทย จะเจรจาต่อรองให้ดีที่สุด โดยตั้งเป้าหมายจะปิดการเจรจากับประเทศต่างๆให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นสหภาพยุโรป (EU) แคนาดา เกาหลีใต้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ฯลฯ รวมถึงทบทวนความตกลง (อัปเกรด) ให้เสร็จโดยเร็ว เพื่อให้ทันสมัย สอดคล้องกับการค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็ว ทั้งออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย ฯลฯ
ส่วนเอฟทีเอไทย-สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA) ที่เจรจาจบแล้วนั้น ทั้ง 2 ฝ่ายกำหนดจะลงนามความตกลงช่วงการประชุม World Economic Forum ที่เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ ปลายเดือน ม.ค.68 ปัจจุบันไทยมี FTA แล้ว 15 ฉบับกับ 19 ประเทศ ทั้งภายใต้กรอบอาเซียน คือความตกลงการค้าเสรีอาเซียน, อาเซียน-จีน, อาเซียน-ญี่ปุ่น, อาเซียน-เกาหลีใต้, อาเซียน-อินเดีย, อาเซียน-ออสเตรเลีย, อาเซียน-นิวซีแลนด์, อาเซียน-ฮ่องกง และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาอาเซียน-แคนาดา รวมถึงภายใต้กรอบไทย+1 คือ อินเดีย, ญี่ปุ่น, นิวซีแลนด์, ชิลี, เปรู ส่วนไทย-ศรีลังกา เตรียมบังคับใช้ต้นปี 68.
สำหรับสถานะล่าสุดของ FTA แต่ละฉบับนั้น น.ส.โชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ไทย-ศรีลังกา ที่เจรจาจบและทั้ง 2 ฝ่ายลงนามความตกลงแล้ว ตั้งแต่เดือน ก.พ.67 คาดว่าจะมีผลใช้บังคับวันที่ 1 มี.ค.68 ส่วนไทย-EFTA ประกาศความสำเร็จการเจรจาวันที่ 29 พ.ย.67 ถือเป็นฉบับแรกของไทยกับประเทศในยุโรปนั้น 2 ฝ่ายเตรียมลงนามความตกลงปลายเดือน ม.ค.68
ขณะที่ไทย-EU เจรจาแล้ว 4 รอบ สรุปผลเจรจาได้แล้ว 2 เรื่อง โดย 2 ฝ่ายมุ่งหวังสรุปผลเจรจาปี 68, ไทย-เกาหลีใต้ เจรจาแล้ว 2 รอบ ตั้งเป้าหมายสรุปผลปี 68, ไทย-ภูฏาน เจรจาแล้ว 2 รอบ ตั้งเป้าหมายสรุปผลปี 68, อาเซียน-แคนาดา เจรจาแล้ว 10 รอบ คาดจะสรุปผลอย่างมีนัยสำคัญปี 68 และมีอีก 2 ฉบับอยู่ระหว่างอัปเกรด คือความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ATIGA) เจรจาแล้ว 12 รอบ ตั้งเป้าสรุปผลปี 68 และอาเซียน-อินเดีย เจรจาแล้ว 6 รอบ ตั้งเป้าหมายสรุปสาระสำคัญของการเจรจาทบทวนปี 68
“การเจรจา FTA ที่ยังติดขัดอยู่ ทั้ง 2 ฝ่ายพยายามหาแนวทางขับเคลื่อนการดำเนินงาน เช่น เจรจาในประเด็นที่ยอมรับร่วมกันได้ก่อน แล้วหาทางออกประเด็นติดขัดภายหลัง หรือจัดประชุมกลุ่มย่อยเพิ่มเติม เพื่อขับเคลื่อนการเจรจา โดยมุ่งหวังสรุปผลตามเป้าหมาย ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งเป้าหมายจบภายในปี 68”
แต่ยังมีอีกหลายประเทศ ที่ไทยตั้งเป้าหมายเปิดเจรจาด้วย ได้แก่ บังกลาเทศ, สหราชอาณาจักร, สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (EAEU รัสเซีย คาซัคสถาน เบลารุส อาร์เมเนีย และคีร์กีซสถาน), กลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก (ชิลี โคลอมเบีย เม็กซิโก และเปรู), ตลาดร่วมอเมริกาใต้ตอนล่าง (MERCOSUR อาร์เจนตินา ปารากวัย และอุรุกวัย)
น.ส.โชติมากล่าวว่า FTA มีความจำเป็นต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าของไทย เพราะการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศจะรุนแรงขึ้น จากความท้าทายมากมาย ทั้งการกีดกันการค้า ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ สภาพอากาศแปรปรวนที่ล้วนกระทบต่อการผลิต และการค้า ดังนั้น FTA จะช่วยเปิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ และสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าในภูมิภาค ช่วยให้ผู้ประกอบการ และเกษตรกรได้ประโยชน์จากการเปิดตลาด ทำให้สินค้าและบริการของไทยได้เปรียบคู่แข่งที่มิใช่คู่ FTA อีกทั้งยังช่วยยกระดับกฎระเบียบ และมาตรฐานในประเทศให้สอดคล้องมาตรฐานสากล ช่วยดึงดูดการลงทุน และสนับสนุนให้ไทยออกไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น
“กรมตั้งเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการค้าจาก FTA ให้เป็น 80% ของการค้ารวมของไทยในปี 70 จากปัจจุบัน การค้ารวมของไทยกับ 18 ประเทศคู่ FTA (ไม่รวมศรีลังกา) มีสัดส่วน 60% ของการค้ารวมของไทย โดยไทยส่งออกไป 18 ประเทศ สัดส่วน 59% ของการส่งออกรวมของไทย”
ทั้งนี้ หากเทียบอัตราเติบโตของมูลค่าการค้าและการส่งออกไทยช่วงเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา หรือตั้งแต่ปี 48 ที่ FTA ส่วนใหญ่เริ่มบังคับใช้ พบว่ามูลค่าการค้าและส่งออกไทยกับคู่ FTA เพิ่มขึ้นเกือบ 300% สูงกว่าตลาดที่ไทยไม่มี FTA ที่ขยายตัว 200% แต่การทำ FTA ยังมีความท้าทาย เพราะการเปิดเสรีอาจกระทบสินค้า บริการบางสาขา ผู้ประกอบการจึงต้องปรับตัว อีกทั้งคู่เจรจายังหยิบยกประเด็นการค้าใหม่ๆ เช่น คุ้มครองสิทธิแรงงานและสิ่งแวดล้อม แข่งขันทางการค้า จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ มาเจรจาด้วย
“ในการเจรจา กรมหารือร่วมหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อตัดสินใจร่วมกันอย่างรอบด้าน และรอบคอบ กำหนดระยะเวลาปรับตัวของเกษตรกรและผู้ประกอบการ แต่ประเด็นการค้าใหม่ๆ ก็เป็นโอกาสที่ไทยจะได้ยกระดับกฎระเบียบ มาตรฐานในประเทศให้สอดคล้องกับสากลมากยิ่งขึ้น”.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่