ไฟสงครามอาจเกิดขึ้นอีกครั้ง ภายหลังจากที่สถานการณ์ภูมิภาคตะวันออกกลางส่อเค้าระอุรับปีใหม่ โดยเฉพาะเหตุที่กองทัพสหรัฐฯ ปฏิบัติการสังหาร “พล.อ.คาเซม โซไลมานี่” มือขวาของอยาโตลเลาะห์ อาลี คาเมนี ผู้นำสูงสุดของประเทศอิหร่าน ท่ามกลางสถานการณ์ความสัมพันธ์อิหร่าน-สหรัฐฯ ที่ทวีความตึงเครียดขึ้นเรื่อยๆ ตลอดช่วงปีที่ผ่านมา จากการที่รัฐบาลสหรัฐฯ ใช้มาตรการคว่ำบาตรเศรษฐกิจของอิหร่านอย่างหนักหน่วง
คนไทยจำนวนมากติดตามเหตุการณ์ระหว่างสหรัฐฯ-อิหร่าน อย่างใกล้ชิด จนเกิดความกังวลและสงสัยว่า สถานการณ์ตึงเครียดนี้จะกระทบต่อประเทศไทยหรือไม่? ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์ ไขคำตอบมาให้ ดังต่อไปนี้
ศ.กิตติคุณ ดร.ไชยวัฒน์ ค้ำชู ผู้อำนวยการวิทยาลัยการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า หรือในฐานะอดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตอบคำถามทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์ ในคำถามที่ว่า ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่าน จะกระทบไทยอย่างไร?
ศ.กิตติคุณ ดร.ไชยวัฒน์ ให้คำตอบว่า “เราก็คงจะทำอะไรไม่ได้ นอกเสียจากรับมือราคาน้ำมัน ซึ่งอาจจะกระทบกับปัญหาเศรษฐกิจที่เรามีเดิมอยู่แล้ว และในเหตุการณ์ครั้งนี้ เราก็คงจะใช้ภาษาทางการทูตที่เป็นไปในทำนองว่า ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ตึงเครียด ควรยับยั้งชั่งใจ และแก้ไขปัญหาตามกระบวนการกฎหมายระหว่างประเทศ หรือกระบวนการของสหประชาชาติ ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว ในแง่ของหลักการเราไม่ควรไปเสี่ยงหนุนหลังฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง”
“ในส่วนของสงครามทางกายภาพ คงไม่กระทบมาถึงประเทศไทยอย่างแน่นอน ถ้าเราไม่ได้ไปร่วมรบอะไรกับเขา หรือแสดงจุดยืนว่าเลือกข้าง” ศ.กิตติคุณ ดร.ไชยวัฒน์ กล่าว
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้ สถานการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลางยังไม่กระทบต่อราคาน้ำมันในประเทศมากนัก โดยขณะนี้กระทรวงพลังงานและคณะทำงานได้ติดตามสถานการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลางที่เกิดเหตุการปะทะกันระหว่างสหรัฐฯและอิหร่านอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินผลกระทบที่อาจจะส่งผลต่อประเทศไทย
ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา กระทรวงพลังงาน และทาง ปตท. ได้ลดการพึ่งพาแหล่งน้ำมันดิบจากตะวันออกกลาง ด้วยการหาแหล่งน้ำมันดิบจากประเทศสหรัฐฯ และแอฟริกา จนทำให้ขณะนี้เหลือเพียงสัดส่วน 50% จากเดิมอยู่ที่ 74%
อย่างไรก็ตาม หากระดับราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นขั้นระดับ 80 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล หรือเกิดเหตุฉุกเฉิน กระทรวงพลังงานได้สั่งการให้แหล่งผลิตน้ำมันดิบในไทยเพิ่มกำลังผลิตให้สูงขึ้นอีก 25,000 บาร์เรลต่อวัน จนสูงสุดอยู่ที่ 36,000 บาร์เรลต่อวัน จากกำลังผลิตทั้งหมดที่ทำได้เฉลี่ย 130,000 บาร์เรลต่อวัน
นายจิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี นายกสมาคมค้าทองคำ เปิดเผยกับทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์ว่า สถานการณ์ตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่านนั้น ค่อนข้างรุนแรงกว่าหลายครั้งๆ ที่ผ่านมา และไม่น่าจะจบปัญหาได้ภายในระยะเวลาเร็วๆ นี้ จึงทำให้ราคาทองไม่เป็นไปตามกลไกตลาด บวกกับสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศไทยค่อนข้างชะลอตัว และค่าเงินบาทผันผวน จึงทำให้ตลาดทองคำไม่คึกคัก เพราะฉะนั้น จึงยังไม่สามารถประเมินแนวโน้มราคาทองคำไทยได้
“หากจะต้องประเมินแนวโน้มราคาทองคำตอนนี้ คงจะลำบาก เพราะสถานการณ์ต่างๆ ไม่ปกติ โดยเฉพาะประเด็นค่าเงินบาทที่เป็นตัวกดดัน ซึ่งจะเห็นได้จากในช่วงปีใหม่ ทิศทางค่าเงินบาทแข็งค่าแตะ 29 บาท/ดอลลาร์ ก่อนจะดีดกลับมาที่ระดับ 30 บาท/ดอลลาร์อีกครั้ง โดยค่าเงินบาทที่ผันผวนทุก 10 สตางค์ จะมีผลต่อราคาทองคำในประเทศประมาณ 60 บาท”
ส่วนแนวโน้มราคาทองคำตลาดโลก มีโอกาสที่ปรับตัวขึ้นเหนือระดับ 1,600 ดอลลาร์/ออนซ์ เนื่องจากปัจจัยหลักเรื่องความกังวลสงครามในตะวันออกกลางระหว่างสหรัฐฯกับอิหร่าน
เป้าหมายของสงครามนั้น เพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์
แต่สุดท้าย ฉากจบของสงคราม คงหนีไม่พ้นความสูญเสีย
โดยเฉพาะความรู้สึกของคนสูญเสีย ที่ไม่สามารถคณานับได้ ดั่งเช่นเงินทอง