ตลอดทั้งปีนี้ หนึ่งในคำยอดฮิตของคนไทย ต้องยกให้ “อิหยังวะ”
เพราะถือเป็นอีกปีที่สังคมไทยเต็มไปด้วยความงุนงง ความสับสน ความกังขา กับแทบจะทุกๆปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น
โดยเฉพาะเมื่อลองย้อนกลับไปในแวดวงเศรษฐกิจและการเมืองของไทยตลอดทั้งปีนี้
จะเห็นว่าเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ความเคลือบแคลง ความน่าสงสัย และการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้หลายคนที่ปรับตัวไม่ทันต้องพากันงุนงง
เพราะตลอดทั้งปีนี้มีเหตุการณ์หลายๆอย่างที่พลิกไปพลิกมาอุตลุด
วันนี้นักการเมืองพูดอย่างหนึ่ง พอวันต่อมากลับบอกว่าไม่ได้พูด
ยิ่งในสมัยโลกยุคดิจิทัล หลายสิ่งต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อความอยู่รอด ต้องพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง จึงอย่าแปลกใจที่โลกสมัยใหม่จะมีความแปลกแยกจากโลกยุคเดิมที่เราเคยคุ้นเคย
ขณะเดียวกันยังมีอีกหลายเรื่องราวที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นอีกแล้วในสังคมยุค 4 จีมาแรงทั่วไทย สังคมที่คนไทยสามารถเสิร์จหาความรู้ได้ง่ายๆแค่เพียงคลิกด้วยปลายนิ้วผ่าน “กูเกิล” จากสมาร์ทโฟน
การณ์กลับปรากฏว่ายิ่งโลกพัฒนาก้าวไกล การสื่อสารยิ่งฉับไว แต่ “ข่าวลวง” กลับยิ่งแพร่ระบาดมากขึ้นกว่าเดิม
ผู้คนหลงเชื่อใน “ข่าวลวง” มากกว่า “ข่าวจริง”
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ตลอดทั้งปีนี้ เราจะได้ยินเสียงบ่นพึม “อิหยังวะ!!”
ทั่วโลกถึงกับอึ้ง! เมื่ออินเดีย 1 ใน 16 ประเทศสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) จู่ๆถอนตัว ไม่ร่วมสังฆกรรมกับผู้นำอีก 15 ชาติ ในการประกาศความสำเร็จของการเจรจาอาร์เซ็ป ในระหว่างการประชุมสุดยอดอาร์เซ็ป (อาร์เซ็ป ซัมมิต) ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพเมื่อเดือน พ.ย.2562
เพราะอินเดียเกรงว่ากองทัพสินค้าราคาถูกจากจีนจะทะลักเข้าไปตีตลาดในประเทศ จนทำให้เกษตรกร ผู้ผลิต ผู้ค้า รายย่อย ต้องเจ็บหนัก!!
ทั้งๆที่ไทยในฐานะประธานอาเซียนในปี 2562 ได้กำหนดให้ “การปิดดีล” อาร์เซ็ป เป็นหนึ่งในภารกิจหลักที่จะต้องทำให้สำเร็จให้ได้ภายในปี 2562
“วงใน” มองว่า การถอนตัวของอินเดีย เป็น “ความล้มเหลว” ของการเจรจาระดับรัฐมนตรี เพราะไม่สามารถทำให้สมาชิกบางประเทศยอมผ่อนปรนตามข้อเสนอของอินเดีย แต่สมาชิกอีก 15 ประเทศกลับไม่ถือว่า “ล้มเหลว”
อย่างไรก็ดี สมาชิกอาร์เซ็ปทั้งหลายต่างตั้งเป้าว่าปีหน้าจะเห่กล่อมให้อินเดียกลับมาเจรจาในประเด็นคาใจให้จบโดยเร็ว วาดหวังว่าอินเดียจะใจอ่อนยอมลงนามร่วมกับอีก 15 ชาติ
แต่ไม่รู้ว่าจะฝันค้างหรือไม่ เพราะช่วงนี้ที่อินเดียกำลังว้าวุ่นกับการประท้วง “การให้สัญชาติผู้อพยพในอินเดีย” ที่ลุกลามกลายเป็นจลาจลมีคนบาดเจ็บล้มตายเพียบ
จนนายกรัฐมนตรีอินเดีย “นเรนทรา โมดี” ต้องร้องดังๆว่า “อิหยังวะ!!”
เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2559 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้คำสั่ง ม.44 ปิดกิจการเหมืองทองคำเป็นการชั่วคราว รวมถึง “เหมืองทองคำ” ของ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ที่ร่วมทุนกับ “บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดตเต็ด” ประเทศออสเตรเลีย ผู้ถือหุ้นใหญ่ จนนำไปสู่การที่คิงส์เกต ฟ้องร้องต่ออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ เรียกร้องให้รัฐบาลไทยชดใช้ค่า เสียหาย 750 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 30,000 ล้านบาท
ล่าสุดเมื่อมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งและได้ “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” มาเป็น รมว.อุตสาหกรรม รับเผือกร้อนเหมืองทองคำ ก็ประกาศพร้อมเจรจาหารือกับคิงส์เกตเพื่อหาทางออกร่วมกัน ก่อนที่อนุญาโตตุลาการฯ จะเรียกทั้ง 2 ฝ่ายไปชี้แจงแก้ต่างที่ฮ่องกงเมื่อเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา แต่สุดท้ายต้องถูกยกเลิก เพราะฮ่องกงกำลังเผชิญปัญหา “ม็อบฮ่องกง” ก่อนที่เรื่องนี้จะไปเผชิญหน้าขึ้นโรงขึ้นศาลกันเป็นครั้งแรกในเดือน ก.พ.ปีหน้า ที่ประเทศสิงคโปร์
อย่างไรก็ดี เรื่องเหมืองทองคำก็เป็นระเบิดเวลาที่ทำเอาทั่นรัฐมนตรีสุริยะคิดหนักว่าจะเอาอย่างไรดี
แต่ไม่ว่าจะเลือกไพ่ใบไหนขึ้นมาเล่นก็ต้องคำนึงและรักษาผลประโยชน์ของประเทศไว้ให้มากที่สุด เพราะหากอนุมัติให้เปิดเหมืองก็ไม่พ้นเผชิญกับม็อบเอ็นจีโอพาเหรดออกมาต่อต้าน แต่ให้เหมืองปิดกิจการ ชาวบ้านในพื้นที่ก็ตกงาน หลายพันคนต้องทิ้งบ้านเรือนเข้ามาทำงานในเมืองใหญ่
ทำเอาทั่นรัฐมนตรีสุริยะถึงกับปวดฟันอยู่หลายเดือน จนแอบรำพึงในใจ “ฮ่วย อิหยังวะ!!”
ก่อนจะมีการจัดตั้งรัฐบาลขึ้นมา พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่นำทีมโดย “อุตตม สาวนายน” ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ได้ชูนโยบายหลักหลายข้อเพื่อให้สัญญากับประชาชน ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือเรื่องการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาถึง 10%
โดยหลังจากมีการจัดตั้งรัฐบาล นายอุตตมก็เข้ามาดำรงตำแหน่ง รมว.คลัง ประเด็นนี้จึงถูกหยิบยกขึ้นมาถามอีกครั้งถึงนโยบายที่หาเสียงไว้ว่าการลดภาษีบุคคลธรรมดา 10% จะเกิดขึ้นเมื่อใด
เมื่อถูกถามในเรื่องนี้ นายอุตตมกลับบอกว่า ไม่เคยพูดว่าจะลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 10% โดยตามนโยบายของพรรคพลังประชารัฐ บอกว่าจะปรับโครงสร้างภาษีทั้งหมด เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งสร้างความงุนงงให้คนฟังอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม รมว.คลังกระซิบมาว่าขณะนี้ก็ได้สั่งการให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และกรมสรรพากร ไปศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับการลดภาษีบุคคลธรรมดา 10% ว่าจะส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บภาษีในภาพรวมของประเทศเท่าใด
เพราะหากมีการปรับลดภาษีบุคคลธรรมดาลงจริง กรมสรรพากรอาจสูญเสียรายได้หลายหมื่นล้านบาท ขณะที่กรมสรรพากรยังไม่มีทางออกว่าจะนำรายได้จากส่วนใดมาทดแทน นโยบายนี้จึงถูกชะลอไปก่อน พร้อมย้ำว่ากำลังอยู่ใน “ขั้นตอนศึกษา”
ประชาชนคนเสียภาษีพอได้ทราบข่าวนี้ถึงกับร้องลั่นว่า “อิหยังวะ!! เบี้ยวกันได้ไง!!”
ถือเป็นประเด็นฮือฮาและสับสนมาตั้งแต่ต้นปี 2562 เมื่อ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ได้ยกเลิกการเปิดประกวดออกแบบ อาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 (เทอร์มินัล 2) ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของสนามบินสุวรรณภูมิ โดยอ้างว่าเพื่อเปิดทางให้ผู้ใช้บริการและผู้ประกอบการสายการบินได้แสดงความคิดเห็นและความต้องการที่แท้จริงของสนามบินออกมา
แต่ไปๆมาๆการคัดค้านได้บานปลายไปถึงการที่จะล้มโครงการ
ขณะที่ ทอท.ก็ทำอะไรไม่ถูก ได้แต่งงกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะเงินที่จะสร้างก็ของ ทอท. สถานที่ก็ของ ทอท. แต่กลับกลายเป็นว่าไม่สามารถสร้างอาคารดังกล่าวได้ ขณะที่ปริมาณผู้โดยสารก็โตพุ่งพรวด สถานที่ที่มีอยู่ก็เริ่มคับแคบ
แถมเรื่องราวยังบานปลายต่อเนื่องว่า การก่อสร้างอาคารด้านตะวันออกเฉียงเหนือ หรือเทอร์มินัล 2 นี้ไม่ดำเนินการตามแผนแม่บทพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (มาสเตอร์แพลน) ที่จะต้องสร้างทางด้านทิศใต้ของสนามบินและ ทำไมไม่สร้างส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันออก และทิศตะวันตก ของอาคารผู้โดยสารสุวรรณภูมิหลังเดิม
ล่าสุด ทอท. ได้ออกมาทำความเข้าใจว่า อาคารผู้โดยสารที่จะสร้างทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอาคารหลังเดิม ซึ่งภายหลังขอเปลี่ยนชื่อเป็น โครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ (North Expansion) แทนการสับสนว่าเป็นเทอร์มินัล 2 ที่จะสร้างทางทิศใต้ที่ ทอท.ยืนยันว่า ตามแผนแม่บทจะยังมีการก่อสร้างอาคารเทอร์มินัล 2 อยู่ ไม่ได้ยกเลิกแต่อย่างใด
“นิตินัย ศิริสมรรถการ” เอ็มดี ทอท.จึงเดินหน้าโครงการนี้ต่อ โดย ครม.ก็พร้อมลุยต่อทันที ไม่สนใจเสียงร้องจากผู้คัดค้านว่า “อิหยังวะ”
มาแรงแซงทางโค้งตลอดกับนโยบายที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาของรัฐมนตรีคมนาคม “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” จนชาวบ้านพากันอึ้งกิมกี่ตั้งแต่รับตำแหน่งใหม่ๆ เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
ที่ฮือฮาสุดๆ ต้องยกให้กับนโยบายปลดเงื่อนไข “รถตู้” ด้วยการยืดระยะเวลารถตู้เป็น 12 ปี แถมไม่บังคับเปลี่ยนรถตู้เป็นรถมินิบัส เพื่อความปลอดภัยของประชาชนผู้ใช้บริการ
ที่ตลกร้ายก็คือขณะที่ รมว.คมนาคมชักแม่น้ำทั้งห้าในการปลดเงื่อนไขรถตู้ให้วิ่งห้อได้ต่อไป
แต่กลับมีนโยบายให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ที่จะให้ “รถยนต์และรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลทุกคัน” ติดตั้งระบบนำทางอัจฉริยะ หรือ “จีพีเอส”
พอข่าวนี้แพร่กระจายออกไป กลายเป็นไฟลามทุ่งทันที
เสียงบ่นพึมจากทั่วทุกสารทิศกระหน่ำถึง “นายศักดิ์สยาม” ว่า เป็นการโยนภาระให้กับประชาชนเจ้าของรถต้องมาเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มโดยไม่จำเป็น ทั้งยังเป็นการก้าวล่วงสิทธิส่วนบุคคล
สุดท้าย ทั่นรัฐมนตรีช่างรื้อก็ต้องใส่เกียร์ถอยกับนโยบายนี้ โดยออกตัวว่าเป็นเพียงแค่แนวคิดเท่านั้น ไม่ได้คิดจะทำจริงจังสักหน่อย
หุหุ อิหยังวะ!!!
นับตั้งแต่ที่ “บี-พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” เข้ามารับตำแหน่ง รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ก็ได้เริ่มทำภารกิจแรกคือ การตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (Anti-Fake News Center)
โดยทั่นรัฐมนตรีดีอีเอสประกาศลั่นทุ่งว่าจะเอาคนสร้างข่าวปลอมมาเข้าคุกให้ได้
แต่ปรากฏว่าจนถึงทุกวันนี้ ก็จับกุมได้เพียง 1-2 ราย จากเดิมที่เคยคุยว่าจับกุมคนทำข่าวปลอมราว 6-7 ราย
ทั้งนี้ รมว.ดีอีเอสยอมรับว่า การยับยั้งข่าวปลอมไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเป็นเรื่องใหญ่ และหนักมาก เนื่องจากบางข่าว มีทั้งข่าวจริงและข่าวปลอมที่ปนๆกัน ขณะเดียวกันยังมีข่าวเก่าที่ผิดได้วนกลับมาหลอกลวงชาวโซเชียลอีก
ทั่นรัฐมนตรีขอความเห็นใจว่าตอนนี้ศูนย์ต้านเฟกนิวส์ได้มีการทำงานอย่างหนัก ในการคัดกรองข่าวจริง สำหรับประชาชน ทั้งยังเพื่อช่วยเป็นเบาะแสให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไปจับกุมผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีได้ด้วย เช่น การหลอกลวงทางออนไลน์ แชร์ลูกโซ่ออนไลน์ เป็นต้น
ในแต่ละวัน มีข่าวหรือข้อมูลต่างๆ อยู่บนโลกโซเชียลกว่า 300,000 ข้อความ โดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ต้องกรองแล้วกรองอีกหลายขั้นตอน เพราะหลายข่าวจริงก็มีข่าวปลอมมาปนปลอม ทำให้การทำงานลำบากยุ่งยากมาก
อย่างไรก็ดี การทำงานที่เชื่องช้าของศูนย์ต่อต้านเฟกนิวส์ ที่ยังทำงานเชิงรับมากกว่าเชิงรุก ทำให้ประชาชนอิดหนาระอาใจกับการทำงานของรัฐมนตรี “บี-พุทธิพงษ์”
จนอยากตะโกนดังๆผ่านโซเชียลว่า “ทำงานกันอิหยังวะ!! ทั่นรัฐมนตรี”
หนึ่งในตำนาน “อิหยังวะ” ปีนี้ ต้องยกให้ “พิชญ์ โพธารามิก” ผู้ถือหุ้นใหญ่ และผู้บริหาร บมจ.จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล (JAS) เพราะภายในปีเดียว โดนสำนักงาน ก.ล.ต.สั่งเปรียบเทียบปรับ 2 ครั้ง
ครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 ก.ย.2562 เป็นการกระทำความผิดระหว่างวันที่ 29 ก.ย.ถึง 12 ต.ค. 2559 ด้วยความผิดฐานใช้ข้อมูลภายในแสวงหาประโยชน์จากการซื้อ ขาย (อินไซเดอร์ เทรดดิ้ง) หุ้น บมจ.จัสมิน เทเลคอม ซิสเต็มส์ (JTS) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ JAS โดยใช้บัญชีของบุคคลหนึ่งเข้าซื้อขายหุ้น JTS ก่อนจะมีการเปิดเผยงบการเงินของ JTS ไตรมาส 3 ปี 2559 ซึ่งพลิกกลับมามีกำไรหลังขาดทุนมาตลอดนับจากปี 2557
งานนี้ “พิชญ์” ถูกลงโทษ โดยใช้มาตรการทางแพ่งปรับเป็นเงิน 32.65 ล้านบาท และชดใช้เงินจำนวนเท่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับจากการซื้อขายหุ้นอีก 26.12 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 58.77 ล้านบาท
ต่อมาเมื่อวันที่ 22 ต.ค.2562 ก.ล.ต.สั่งปรับ “พิชญ์” กับพวกฐานสร้างราคาหรือปั่นหุ้น บมจ.โมโน เทคโนโลยี (MONO) และหุ้น JAS ให้ชำระ ค่าปรับทางแพ่งรวม 44.23 ล้านบาท และ 115.87 ล้านบาท ตามลำดับ
โดยทั้ง 2 กรณีมี “พิชญ์” เป็นตัวการทำหน้าที่แหล่งเงินทุน เพื่อใช้ในการสร้างราคาหุ้น ทำให้สภาพการซื้อขายหุ้น MONO และ JAS ผิดไปจากสภาพปกติของตลาด ทำให้ “พิชญ์” เข้าข่ายเป็นผู้มีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจในการเป็นกรรมการและผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนถือว่าเป็นผู้ที่ขาดคุณสมบัติ ต้องหลุดออกจากทุกตำแหน่งในบริษัท
ล่าสุดในวันคริสต์มาส 25 ธ.ค. 2562 ก.ล.ต.ยังได้ใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งกับ “อดิศัย โพธารามิก” ซึ่งเป็นบิดาของ “พิชญ์” กรณีเป็นตัวการร่วมสร้างราคาหุ้น JAS
โห...อิหยังวะ!!
เมื่อโลกยุคดิจิทัลเข้ามา ธนาคารพาณิชย์ต่างดิ้นรนปรับตัวเข้าสู่ยุคสู่สมัย จากเดิมรายได้หลักของธนาคารพาณิชย์ มาจากดอกเบี้ยเงินกู้ การทำธุรกิจของธนาคารพาณิชย์จึงต้องแข่งขันการปล่อยสินเชื่อให้มากๆ เพื่อให้รายได้จากดอกเบี้ยมากขึ้นเป็นเงาตามตัว
ขณะเดียวกัน ธนาคารพาณิชย์ยังมีช่องทางหารายได้เพิ่มจากค่าธรรมเนียม ด้วยการขายประกัน ขายกองทุน ขายหุ้นกู้ เพื่อลดความเสี่ยงหากมีหนี้เสียเข้ามามาก
นี่จึงเป็นที่มาของการที่ธนาคารพาณิชย์ต่างๆพากันแข่งเปิดสาขา โดยเมื่อสัก 5-6 ปีที่ผ่านมา ถือเป็นยุคเฟื่องฟูที่ธนาคารพากันแข่งเปิดสาขากันทุกซอกทุกมุม ตามจุดชุมชนต่างๆ
อย่างไรก็ดี พอ “ดิจิทัล” เข้ามา รูปแบบการแข่งขันของธนาคารพาณิชย์ต่างๆก็เปลี่ยนไป มีการใช้ “แอปพลิเคชัน” บนสมาร์ทโฟน เป็นเครื่องมือสำคัญ
จากเดิมที่ตามแบงก์ต่างๆมีคนไปต่อคิวฝาก-ถอน-โอน หรือชำระค่าบริการที่สาขา คราวนี้ลูกค้าก็ทำเองง่ายๆ ผ่านสมาร์ทโฟน ที่สำคัญฟรี ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม
ทำให้ยอดใช้บริการธนาคารผ่านแอปพลิเคชัน เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด การใช้บริการสาขาจากเดิมมีสัดส่วนสูงถึง 80% ของการใช้บริการทั้งหมด ล่าสุดลดลงเหลือไม่ถึง 20% และมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง
เป็นเหตุให้ธนาคารพาณิชย์ต้องเร่งปิดสาขา หลายธนาคารพาณิชย์มีนโยบายทยอยปิดสาขา อย่างเช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ ส่งสัญญาณรับยุคจิทัล ขีดเส้น 3 ปี จะปรับลดสาขาเหลือ 400 สาขา จากปัจจุบัน 1,153 สาขา
ทำเอาพนักงานแบงก์ที่เดิมเคยมีสถานะมั่นคงต้องร้องลั่น “อิหยังวะ!!!”
ตลอดปี 2562 “การแข็งค่าของเงินบาท” ถือเป็นประเด็นร้อนๆที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ทุก หย่อมหญ้า
เพราะเป็นปีที่เงินบาทแข็งค่าอย่างมาก เรียกได้ว่า “แข็งค่า” แซงหน้าขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งในภูมิภาค
ทุกสัปดาห์จะมีข่าวเสียงโอดครวญจากภาคธุรกิจและบริการที่ได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท
จนเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ “เศรษฐกิจไทยเลี้ยงไม่โต”
ทั้งหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย
ต่างออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งทำหน้าที่ดูแลค่าเงินบาทนั้น ให้ได้รับรู้ถึงความเดือดร้อนของผู้ประกอบการ
แต่สุดท้ายไม่มีอะไรในกอไผ่
เพราะแบงก์ชาติยังยืนกรานว่า “เงินบาทยังมีเสถียรภาพ แข็งค่าตามภูมิภาค ถ้าผู้ประกอบการไม่อยากมีปัญหา ก็ต้องไปซื้อประกันค่าเงิน”
พอได้ยินดังนั้น ผู้ประกอบการได้แต่อึ้งกิมกี่
แอบรำพึงเบาๆ “อิหยังวะ!!!”
เมื่อเดือน พ.ค. 2562 ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ได้ลงนามในคำสั่งบริหารห้ามไม่ให้บริษัทสหรัฐฯ ติดตั้งอุปกรณ์โทรคมนาคมที่เป็นภัยต่อความมั่นคง นำไปสู่การที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ประกาศขึ้นบัญชีดำ “หัวเว่ย” หนึ่งในบริษัทชั้นนำด้านธุรกิจโทรคมนาคมของจีน และบริษัทลูกอีกหลายแห่ง โดยกำหนดให้การนำเข้าสินค้าของบริษัทเหล่านี้ต้องขออนุญาต
จากนั้นไม่กี่วัน ยักษ์ไอทีใหญ่อย่าง “กูเกิล” เจ้าของระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์บนมือถือของหัวเว่ย ก็ออกมาประกาศยุติการสนับสนุนหัวเว่ย ไม่ให้อัปเดต “แอนดรอยด์” เวอร์ชันต่อๆไป ตลอดจนลูกค้าหัวเว่ยอาจไม่สามารถใช้บริการยอดนิยมของกูเกิลได้ เช่น Google Map, YouTube และจีเมล เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่บริษัทของสหรัฐฯจำนวนมากยื่นเรื่องต่อรัฐบาล เพื่อขอให้มีการผ่อนปรนระยะเวลา และผ่อนคลายการควบคุมสินค้าบางรายการ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ก็ยินยอมผ่อนปรนให้ครั้งละ 90 วัน ยืดให้หลายครั้ง โดยครั้งล่าสุดยืดให้ไปจนถึงเดือน ก.พ.2563
ขณะที่ท่าทีของ ปธน.ทรัมป์ ทำเหมือนเป็น “ไบโพลาร์” เพราะบางครั้งก็ดูเหมือนจะโอนอ่อนอยากเจรจาโดยสันติ แต่บางทีก็กลับมาขึงขัง จริงจัง เอาแน่เอานอนไม่ได้
จากที่เคยฮือฮาว่าสหรัฐฯจะเชือด “หัวเว่ย” มาตอนนี้ก็กลับยึกยัก กลายเป็น “อิหยังวะ” ข้ามโลก!!
หากนึกย้อนกลับไปช่วง 3-4 ปีก่อน ในแวดวงอสังหาริมทรัพย์ นั้น หากให้พูดถึงอภิมหาโปรเจกต์ขึ้นมาหนึ่งโครงการ คงต้องมีชื่อโครงการ “มหานคร” ยืนหนึ่งมาเป็นแน่
โครงการดังกล่าวเป็นผลงานของ บริษัท เพซดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัทพัฒนาอสังหาฯ ที่มีชื่อเสียงในการพัฒนาโครงการระดับไฮเอนด์ โดยหวังรังสรรค์ปลุกปั้นสถานที่แห่งนี้ให้เป็น “แลนด์มาร์ก” ใจกลางกรุงเทพฯ สร้างกระแสทอล์กออฟเดอะทาวน์
วันเปิดตัวตึก “มหานคร” เมื่อช่วงปี 2559 ที่ทุ่มสุดตัวจัดเต็มทั้งแสง สี เสียง สุดตระการตา ชนิดที่เรียกว่าช่วงชิงพื้นที่หน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ
แต่แล้ววันดีคืนดี กลับมีข่าวว่า “เพซ” ผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญาเงินกู้ที่มีกับธนาคารไทยพาณิชย์ แรกๆ ที่มีข่าวไม่ค่อยมีใครอยากเชื่อ แต่ไม่นานหลังจากนั้นเรื่องดังกล่าวก็ปรากฏชัดว่าเรื่องนี้เป็น “เรื่องจริง”
เพซเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามหาทางแก้ไขเพื่อหาเงินมาชำระหนี้ กระทั่งช่วงเดือน เม.ย.2561 มีการดีลเจรจากับ “กลุ่มคิง เพาเวอร์” และตัดสินใจหั่นบางส่วนของโครงการมหานคร คือ “มหานคร คิวบ์” พร้อมจุดชมวิว อ็อบเซอเวชั่น เด็ค และส่วนโรงแรม ขายให้กลุ่มคิง เพาเวอร์ โดยมูลค่า 14,000 ล้านบาท
ล่าสุดช่วงเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา เพซได้รับหนังสือจากธนาคารไทยพาณิชย์แจ้งเรื่องการผิดนัดชำระหนี้เงินกู้ที่มีอยู่กับธนาคาร โดยทางเพซก็ได้ทำการเจรจา และให้ความร่วมมือในการทำแผนปรับโครงสร้างทางการเงิน
จาก “ดาวรุ่ง” มาเป็น “ดาวร่วง” ทำให้เพซ กลายเป็นหนึ่งในตำนาน “อิหยังวะ” ที่จะมีการเล่าขานจนยันหลานบวช!!!
ในยุคดอกเบี้ยต่ำติดดินอย่างทุกวันนี้ ทำให้ผู้คนต้องแสวงหาการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูง จึงกลายเป็นช่องทางให้ “แชร์ลูกโซ่” ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด
แต่ที่สร้างความฮือฮาในปีนี้ หนีไม่พ้น “แชร์แม่มณี” ของ “น.ส.วันทนีย์ ทิพย์ประเวช” หรือ “เดียร์” ที่สร้างโปรไฟล์เริ่ดหรูบนโลกโซเชียล สร้างภาพมีธุรกิจมากมาย ขายสินค้าเครื่องสำอางแบรนด์ของตัวเอง ทั้งยังมีสถานบันเทิง และกิจการห้างทองแม่มณี จนผู้คนพากันหลงเชื่อว่าเป็นไฮโซ รวยจริง ไม่หลอกลวง
เมื่อได้รับความน่าเชื่อถือ จึงต่อยอดชวนคนเข้ามาร่วมลงทุน ในโครงการ “ฝากเงิน ออมเงิน by บัญชีแม่มณี” โปรโมตผ่านเฟซบุ๊ก
สุดท้าย แชร์แม่มณีก็วงแตก เพราะไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ยได้ตามที่คุยไว้ จนมีประชาชนผู้เสียหายพากันไปแจ้งความเพื่อดำเนินคดี “น.ส.วันทนีย์” เจ้าของ “แชร์แม่มณี” ในข้อหา “ฉ้อโกง” จากนั้นคดีความได้ถูกโอนมายังกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)
จนถึงขณะนี้ได้มีผู้เสียหายเข้าแจ้งความแล้วกว่า 4,400 คน รวมมูลค่าความเสียหาย 1,396 ล้านบาท
ไม่น่าเชื่อว่าจะมีคนมาเป็นเหยื่อได้มากมายขนาดนี้ เพราะดูจากข้อเสนอของแชร์วงนี้ก็แทบเป็นไปไม่ได้ในโลกแห่งความเป็นจริงที่จะให้ดอกเบี้ยถึง 93% ในระยะเวลาฝากเพียง 1 เดือน
ฮ่วย อิหยังวะ!!!
ทีมเศรษฐกิจ