ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า หลังจากที่ได้หารือกับคณะทำงานผลิตหมอนยางพารามอบให้หน่วยงานรัฐและประชาชน เพื่อดำเนินโครงการผลิตหมอนยางพารา 30 ล้านใบ ที่มี พ.ต.อ.รวมนคร ทับทิมธงไธย หัวหน้าคณะทำงาน รมช.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน โดยพบว่า องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) เป็นหน่วยงานที่ขาดทุนสะสมติดต่อกันมา 5 ปี ทำให้ไม่มีคุณสมบัติ ไปกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 18,000 ล้านบาทมาดำเนินการได้ เพราะกระทรวงการคลังได้ยกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารหนี้สาธารณะขึ้นมาชี้แจงว่า ตามมาตรา 29 ว่าด้วยหลักเกณฑ์และกรอบวงเงิน ที่กระทรวงการคลังสามารถค้ำประกันเงินกู้แก้รัฐวิสาหกิจใดๆได้ ต้องไม่มีการขาดทุนสะสมเกิน 3 ปี จึงจะได้หารือกับ รมว.เกษตรฯ เพื่อขอให้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เป็นหน่วยงานดำเนินการ
“ผมยังไม่ได้เริ่มทำหมอนก็ถูกกล่าวหาว่าทุจริต เช่นภาคอีสานขณะนี้ 99% ปลูกยางพารา แต่ราคาตกต่ำแล้วชาวบ้านจะอยู่ได้อย่างไร สิ่งที่คิดคือ ให้ กยท.กู้เงิน ธ.ก.ส.มาดำเนินการก่อน จากนั้นออกสลากการกุศลนำเงินมาใช้หนี้ ซึ่งรอบของสลากการกุศลจะครบในเดือน พ.ย.2563 พอออกสลากได้ก็ใช้หนี้ ธกส.ไป ผมไม่ได้ไปแตะต้องเงินเลย จะทุจริตได้อย่างไร”
ด้าน พ.ต.อ.รวมนคร กล่าวว่า ตามแผนจะผลิตหมอน 30 ล้านใบ เพื่อไปรับซื้อยางพาราจากเกษตรกร ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง 150,000 ตัน ราคา 65 บาทต่อกิโลกรัม (ก.ก.) เพื่อมอบให้ประชาชนเดือนละ 3 ล้านใบเป็นเวลา 10 เดือน และแจกจ่ายให้กับหน่วยงานรัฐอาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่เสนอความต้องการมา 433,702 ใบ ซึ่งโครงการดังกล่าว จะช่วยยกระดับราคายางที่ 65 บาทต่อ กก.