สกู๊ปหน้า 1 : นโยบายภาษีบุหรี่ ยิ่งแพงก็ยิ่งสูบน้อย

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

สกู๊ปหน้า 1 : นโยบายภาษีบุหรี่ ยิ่งแพงก็ยิ่งสูบน้อย

Date Time: 19 พ.ย. 2562 05:01 น.

Summary

  • “ยาสูบ”...ทั้ง “บุหรี่” และ “ยาเส้น” ต่างก็เป็นภัยต่อสุขภาพ เป็นสาเหตุของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่สำคัญ ทั้งโรคมะเร็ง โรคทางเดินหายใจ

Latest

“โกโก้ร้านไอ้ต้น” แฟรนไชส์สัญชาติไทย ปีเดียว ขยายสาขา 160 แห่งในจีน ความแปลก ที่กลายเป็นเอกลักษณ์

“ยาสูบ”...ทั้ง “บุหรี่” และ “ยาเส้น” ต่างก็เป็นภัยต่อสุขภาพ เป็นสาเหตุของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่สำคัญ ทั้งโรคมะเร็ง โรคทางเดินหายใจ และโรคที่เกี่ยวกับระบบหลอดเลือดและหัวใจ...นานาประเทศจึงมีการเก็บ “ภาษียาสูบ” และขึ้นภาษียาสูบกันอยู่เป็นระยะๆ 

เพื่อให้ยาสูบมี “ราคาแพง” ขึ้นเรื่อยๆ ประชาชนจะได้ลดการบริโภคลง

น่าสนใจว่าเหลือเพียงไม่กี่ประเทศในโลกนี้รัฐบาลยังเป็นเจ้าของกิจการยาสูบ หนึ่งในนั้นก็คือ “ประเทศไทย” ที่ยังมีการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง และ ยสท.นี้เองที่เป็นกลไกสำคัญในการรับซื้อใบยาสูบจากเกษตรกรชาวไร่ยาสูบร่วม 50,000 ครัวเรือน ในกว่า 20 จังหวัด

ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ตามปริมาณ... ราคาโควตาที่จัดสรรเป็นประจำทุกปี

ฉายภาพในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่การขึ้นภาษีบุหรี่ครั้งล่าสุดเมื่อเดือน ก.ย.2560 ดูเหมือนว่าสถานการณ์ทางการเงินของ ยสท.ดูจะแย่ลงเรื่อยๆ จากปีงบประมาณ 2560 เคยมีกำไรอยู่ 9,344 ล้านบาท กลายเป็นเหลือเพียง 834 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2561 หรือลดลงถึงร้อยละ 91

ต้องยอมรับตามตรงว่ามีสาเหตุจากการขึ้นอัตราภาษีบุหรี่ใหม่แบบก้าวกระโดดจนสูงลิบลิ่ว ทำให้บุหรี่แพงขึ้น เกิดการ “ช็อก” กันไปทั้งอุตสาหกรรม เพราะผู้บริโภคลดการซื้อบุหรี่ลงอย่างกะทันหัน แล้วเปลี่ยนไปซื้อบุหรี่หนีภาษีบ้างยาเส้นบ้าง เพราะราคาสบายกระเป๋าห่อละ 10 กว่าบาทเท่านั้น

ขณะที่บุหรี่ถูกกฎหมายสนนราคาปาเข้าไป 60 บาท

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดข้อมูลงบการเงินล่าสุดของ ยสท.ช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2562 (ต.ค.2561-มี.ค.2562) ยสท.มีกำไรสุทธิเพียง 347 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 40 จากกำไรสุทธิในช่วงเดียวกันของปีงบประมาณ 2561 ที่เคยได้ 588 ล้านบาท

และ...ลดลงถึงร้อยละ 92 จากช่วงเดียวกันของปีงบประมาณ 2560 ที่เก็บได้ 4,723 ล้านบาท จึงเป็นไปได้สูงว่าในปีงบประมาณ 2562 ยสท.อาจไม่สามารถนำส่งรายได้เข้ารัฐได้ติดต่อกันเป็นปีที่สอง

จากที่เคยสามารถนำส่งรายได้ให้รัฐปีละ 8,000-9,000 ล้านบาท

สันติ พร้อมพัฒน์
สันติ พร้อมพัฒน์

สันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กำกับดูแล ยสท. ดูจะเป็นตัวตั้งตัวตีสำคัญเร่งสั่งการให้ ยสท.ปรับตัว ปรับแผน หาช่องทางเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ใหม่ๆเพื่อฟื้นฟูกำลังวังชาให้แข่งขันได้

ราวๆสามเดือนที่แล้วในการประชุมร่วมกันกับเครือข่ายภาคีชาวไร่ยาสูบ ที่กระทรวงการคลังมีข่าวออกมาว่า เรื่องมาตรการภาษีก็ต้องหารือปรับเปลี่ยนแก้ไขกับกรมสรรพสามิตเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบมากเกินไปทั้งระยะสั้น ระยะยาว อีกทางหนึ่ง ยสท.ก็ต้องปรับตัวใหม่ด้านการตลาด อยากจะทำให้ใบยาสูบมีมูลค่าเพิ่ม

โดยเฉพาะการวิจัย “ใบยาสูบ” เพื่อนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ผลิตภัณฑ์กำจัดศัตรูพืชนิโคตินเหลว และปุ๋ย

“ใบยาสูบเป็นพืชเศรษฐกิจไทย หากมีแผนพัฒนาที่ชัดเจนในการสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมก็จะเกิดความคุ้มค่าในการปลูก ตอนนี้...กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการหาแนวทางความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาต่างๆ เช่น ม.แม่โจ้ ม.เกษตรฯ ที่มีการวิจัยและพัฒนาสารสกัดเคมีจากใบยาสูบเพื่อนำไปสู่การทำตลาดให้ใบยาสูบได้อีกช่องทางหนึ่ง”

จะเป็นไปได้กี่มากน้อยคงต้องติดตามดูกันต่อไป...จากสถานการณ์ที่ดูเหมือนกำลังดิ่งเหวลงทุกที จึงไม่แปลกใจที่ปรากฏข่าวจากกรมสรรพสามิตยอมรับว่า ยสท.อาจไม่สามารถรับมือกับการขึ้นภาษีบุหรี่ครั้งต่อไปจากร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 40 ในวันที่ 1 ตุลาคม 2563 เพราะจะมีผลกระทบรุนแรง ซ้ำเติมยิ่งไปกว่านี้

“บุหรี่ ยสท.” จะถูกอัตราภาษีใหม่บังคับใช้ต้องขึ้นราคาจาก 60 บาทเป็น 90 กว่าบาท ซึ่งจะแพงกว่ายาเส้นและบุหรี่หนีภาษีถึง 5-6 เท่าตัว แน่นอนว่าย่อมมีผลต่อโควตาการรับซื้อใบยาสูบจากเกษตรกรด้วย

เพราะหลังจากที่ขึ้นภาษีสรรพสามิตบุหรี่เมื่อปี 2560 ชาวไร่ยาสูบของ ยสท.ก็ถูกตัดโควตาการปลูกยาสูบลงครึ่งหนึ่งเป็นเวลา 2 ปีติดต่อกัน

แม้ว่าเมื่อเดือนธันวาคม 2561 คณะรัฐมนตรีจะมีมติอนุมัติเงินชดเชยให้เป็นเงินเกือบ 160 ล้านบาท แต่ก็ตั้งเงื่อนไขว่าจะเป็นการชดเชยเพียงครั้งเดียวเท่านั้น และคิดเป็นสัดส่วนเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับรายได้รวมที่เกษตรกรสูญเสียไปจากการถูกตัดโควตา ที่สำคัญ...จนบัดนี้ก็ยังจ่ายเงินชดเชยให้ได้ไม่ครบทุกราย

ประกอบกับยังไม่มีความคืบหน้าเรื่องการหาอาชีพหรือพืชทดแทนให้แก่เกษตรกรชาวไร่ยาสูบตามมติคณะรัฐมนตรีในคราวเดียวกันนั้นที่ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกับกระทรวงการคลังและ ยสท. มาดำเนินการเรื่องนี้ เท่ากับว่า...ยังไม่มีการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีอย่างสมบูรณ์

การปรับเปลี่ยนอาชีพที่ทำต่อเนื่องกันมานานนมอย่างเป็นรูปธรรมไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องทำอย่างเป็นขั้นเป็นตอนและต้องใช้เวลามากพอดู

ไม่เพียงแต่เกษตรกร “ต้นน้ำ” เท่านั้นที่เดือดร้อน แต่ร้านค้าโชห่วยรายเล็กรายน้อยปลายทางอีก 4-5 แสนราย ที่ตอนนี้ขายของลำบากอยู่แล้ว ต้องถูกซ้ำเติมจากราคาบุหรี่และยาเส้นที่แพงขึ้นอีก โดยเฉพาะรายได้จากการขายบุหรี่ที่ลดลงมากเพราะคนสูบเปลี่ยนไปสูบ “บุหรี่เถื่อน” ที่หาซื้อได้ตั้งแต่ซองละ 10-30 บาท

ตอนนี้...ราคาบุหรี่ในบ้านเรานำลิ่วอยู่แถวหน้าของอาเซียนแล้ว จากข้อมูลที่รวบรวมโดยองค์การอนามัยโลก ถ้าเปรียบเทียบบุหรี่ยี่ห้อดังที่มีขายทุกประเทศ ราคาในประเทศไทยเมื่อวัดตามรายได้และกำลังซื้อแล้วถือเป็นที่สามรองจากราคาในสิงคโปร์กับมาเลเซียเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้จึงมีการทะลักเข้ามาของบุหรี่หนีภาษีตามตะเข็บชายแดน โดยเฉพาะในภาคตะวันออก...ภาคใต้ โดยกิจการลักลอบค้าบุหรี่เถื่อนทำกันเป็นล่ำเป็นสัน มักใช้การจ้างวานนำสินค้าข้ามพรมแดนเข้ามาทีละเล็กทีละน้อยเป็น “กองทัพมด” จะได้ตรวจสอบลำบาก ยิ่งขายออนไลน์ได้สะดวก...ตลาดก็ยิ่งโตรวดเร็ว

สมาคมการค้ายาสูบไทยได้ให้นิด้าโพลสำรวจความคิดเห็นของร้านค้าปลีกที่จำหน่ายยาสูบจำนวน 1,029 ร้านเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา พบว่าร้อยละ 73 ขายยาเส้นได้น้อยลงหลังจากขึ้นภาษียาเส้นเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และร้อยละ 83 ขายบุหรี่ได้น้อยลงหลังจากขึ้นภาษีบุหรี่ล่าสุดเมื่อเดือนกันยายน 2560

ต้องยอมรับ...วงการยาสูบวุ่นวายสับสนเพราะนโยบายภาษีสรรพสามิตยาสูบที่ขึ้นภาษีแบบบ้าเลือด ก้าวกระโดด แล้วก็ต้องมาแก้กันกลับไปกลับมาด้วยแรงกดดันทางการเมือง ทำให้ภาคส่วนต่างๆที่ได้รับความเดือดร้อนต้องตั้งคำถามว่าที่ต้องรับเคราะห์...สูญเสียรายได้กันไปขนาดนี้เพื่อใคร?

แน่นอนว่า...รัฐสมควรต้องขึ้นภาษียาสูบ แต่นโยบายภาษีสรรพสามิตยาสูบที่สร้างผลกระทบและความสูญเสียให้กับหลายฝ่าย สมควรหรือไม่ที่รัฐบาลต้องกลับมาพิจารณานโยบายกันใหม่ มองหาทางเลือกที่สร้างผลกระทบน้อยลงแต่ทุกฝ่ายไปถึงเป้าหมายได้ ทั้งฝั่ง “สุขภาพ” และฝั่ง “อุตสาหกรรม”...ไม่ใช่ใช้นโยบายภาษีสุดโหดที่เดือดร้อนกันถ้วนหน้า และผลที่ได้รับก็ไม่ได้เป็นอย่างที่ฝันไว้

ในทุกวิกฤติมักจะมีโอกาสและครั้งนี้คงต้องรอดูกันว่าสถานการณ์ของ ยสท. และภาษียาสูบทั้งหมด...จะคืบหน้าคลี่คลายลงตัวมากน้อยแค่ไหน.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ