กรมสรรพสามิต ลดภาษียาเส้นเหลือ 2.5 สตางค์ต่อกรัม เริ่ม 1 ม.ค.- 31 ธ.ค.63 หวังช่วยผู้ผลิตรายย่อย คาดรายได้จากภาษียาเส้นหาย 600 ล้านบาทต่อปี
นายณัฐกร อุเทนสุต ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี กรมสรรพสามิตเปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 15 ต.ค.2562 ได้ออกประกาศกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต โดยระบุว่า ให้กรมสรรพสามิตปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตสินค้ายาเส้นสำหรับผู้ผลิตยาเส้นรายย่อยที่หั่นและจำหน่ายยาเส้นเองเฉลี่ยไม่เกิน 12,000 กิโลกรัม (กก.) ต่อปี ให้เสียภาษีในอัตรา 0.025 บาทต่อกรัม หรือ 2.5 สตางค์ต่อกรัม ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้น 5 เท่านั้น จากเดิมจัดเก็บอัตราอยู่ที่ 0.10 บาทต่อกรัม หรือ 10 สตางค์ต่อกรัม โดยการจัดเก็บภาษีดังกล่าวกำหนดระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-31 ธ.ค.2563
“เหตุผลที่มีการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ เนื่องจากกรมอยากจะช่วยเหลือเกษตรกรกว่า 10,000 ราย ไม่ให้เดือดร้อนจากภาษี และผู้ผลิตยาเส้นที่เป็นเกษตรกรและผู้ผลิตรายย่อยผลิตได้เกิน 12,000 กก.ต่อปี จำนวน 15 ราย จากทั้งหมด 10,450 ราย จากเดิมภาษียาเส้นปรับจาก 0.005 บาทต่อกรัม เป็นอัตรา 0.10 บาทต่อกรัม ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นถึง 20 เท่า” ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี กรมสรรพสามิต กล่าว
นายณัฐกร กล่าวอีกว่า นอกจากนี้การปรับลดภาษียาเส้น เพื่อให้สอดคล้องกับการเลื่อนขึ้นภาษีบุหรี่ออกไปอีก 1 ปี เป็นปี 2560 ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากหลังการขึ้นภาษีบุหรี่แบบขั้นบันไดครั้งแรกปี 2561 ทำให้คนหันมาสูบยาเส้นมากขึ้น ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพร้ายแรงกว่าการสูบบุหรี่ เพราะวิธีการผลิตยาเส้นอาจไม่สะอาดเพราะทำกันเอง ส่วนในเรื่องราคายาเส้นนั้นผู้ประกอบการรายใหญ่หลายรายอาจปรับราคาเพิ่มขึ้น จากเดิมยาเส้นซองละ 10 กรัม ราคา 10 บาท อาจมีการปรับราคาเพิ่มขึ้นเป็น 11-12 บาทต่อซอง ในขณะที่ยาเส้นซองละ 50 กรัม ผู้ประกอบการอาจปรับขนาดซองให้เล็กลงเหลือ 30 กรัม เพื่อให้ราคาไม่สูงมากและสามารถนำจำหน่ายให้กับประชาชนได้
ผอ.สำนักแผนภาษี กรมสรรพสามิต กล่าวด้วยว่า ส่วนรายได้จากการจัดเก็บภาษียาเส้นหลังจากปรับอัตราใหม่ในปี 63 คาดว่าจะจัดเก็บลดลง 600 ล้านบาทต่อปี จากเดิมคาดว่าจะจัดเก็บภาษียาเส้นได้ 2,000 ล้านบาทต่อปี หรือเหลือเพียง 1,400 ล้านบาทต่อปีเท่านั้น ทั้งนี้กรมได้ปรับแก้การได้รับสิทธิเสียภาษีในอัตราศูนย์ ให้กับผู้ค้าหรือพ่อค้าคนกลางที่นำวัตถุดิบยาเส้นที่ยังไม่ได้หั่นไปขายให้กับอุตสาหกรรมยาสูบ เช่น ผู้ปลูกใบยาสูบ ส่งเข้าโรงงานยาสูบ เป็นต้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้พ่อค้าสามารถนำวัตถุดิบไปขายได้ง่ายขึ้น รวมทั้งขยายเวลาในการทำบัญชีและงบเดือน และการยื่นงบเดือนแก่ผู้ประกอบการยาสูบประเภทยาเส้นที่ปลูกและหั่นเองด้วย.