“อนุทิน-ศักดิ์สยาม” ยึดหัวหาดกระทรวงคมนาคม และระบบการขนส่งของประเทศได้ในแบบเบ็ดเสร็จด้วยการเสนอ ครม. ทบทวนมติที่เคยให้อำนาจ นายสมคิด จาตุรีพิทักษ์ และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ดูแลการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กับ บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) รวมทั้งแก้ไขปัญหา “ค่าโง่” ทางด่วนมาให้นายอนุทิน ในฐานะรองนายกฯกำกับดูแลงานด้านการคมนาคมขนส่งแทนโดยให้ปัญหาค่าโง่จบภายใน 1 เดือน
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภาย หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม.มี มติทบทวนมติ ครม. เดิม โดยมอบหมายให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และกระทรวงคมนาคม เป็นผู้มีอำนาจกำกับดูแลแก้ไขปัญหาข้อพิพาทสัมปทานทางด่วนระหว่าง การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กับ บริษัททางด่วน และรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีอีเอ็ม และบริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด หรือ เอ็นอีซีแอล จากเดิมที่เป็นอำนาจของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดเก่าที่หมดวาระไปแล้ว
นายศักดิ์สยามกล่าวต่อว่า หลังจากนี้กระทรวงคมนาคมจะพิจารณาเรื่องที่คณะทำงานศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาข้อพิพาทระหว่าง กทพ. และบีอีเอ็ม ได้รวบรวมข้อมูลหลักฐานไว้แล้ว โดยจะดูอย่างรอบคอบว่าสามารถใช้อ้าง อิงอย่างถูกต้องตามหลักกฎหมายได้หรือไม่ เนื่องจากบางเรื่องอาจเป็นเพียงแค่สมมติฐาน หรือข้อสงสัยก็จะไม่นำมาพิจารณา ซึ่งต้องสรุปให้ได้ภายใน 1 เดือน เนื่องจากมีหนังสือจากเลขานุการนายกรัฐมนตรี ให้พิจารณาข้อหารือเดิม ที่เป็นสมมติฐานเดิมที่ให้ กทพ. เจราจรกับบีอีเอ็ม เนื่องจากเห็นว่า ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นมีแนวโน้มว่า กทพ. จะแพ้ทุกคดีไม่สามารถต่อสู้ได้
แต่ขณะนี้กระทรวงคมนาคมพบว่า เมื่อวันที่ 19 ก.ย.ที่ผ่านมา ศาลมีคำวินิจฉัยให้ กทพ.ชนะคดีบีอีเอ็ม 1 คดี แสดงให้เห็นว่าสมมติฐานดังกล่าวไม่ถูกต้องแล้ว และข้อเท็จจริงก็เปลี่ยนไปรวมถึงมูลค่าความเสียหายอาจเปลี่ยนไปด้วย ดังนั้นกระทรวงคมนาคมจะทำหนังสือรายงานข้อมูลนี้ให้รองนายกรัฐมนตรีทั้ง 3 คน ได้แก่ นายอนุทิน นายสมคิด และนายวิษณุพิจารณาว่าจะให้ดำเนินการอย่างไร
ขณะเดียวกัน นายศักดิ์สยามกล่าวด้วยว่า ขณะนี้การพิจารณาเอกสารร่วมลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ยังยึดตามแนวทางที่กระทรวงคมนาคม และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ที่ได้หารือร่วมกันมาตลอดคือปฏิบัติตามกรอบกำหนดในเอกสารแสดงข้อมูลในการยื่นข้อเสนอโครงการ (RFP: Request for Proposal) เป็นหลัก หากดำเนินการตามนี้ก็จะไม่มีการยกเลิกสัญญา
“เรื่องสัดส่วนส่งมอบพื้นที่น่าจะเป็นรายละเอียดปลีกย่อยที่ไม่ใช่เป็นแนบท้ายสัญญาโครงการ และในวันที่ 16 ต.ค.นี้ ก็จะมีการประชุมใหญ่คณะกรรมการอีอีซี เวลา 10.00 น. ซึ่งจะพิจารณาในรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการไฮ สปีดด้วย แต่จะเป็นอย่างไรต้องรอดูสิ่งที่คณะกรรมการคัดเลือกจะรายงานมา แต่ผมยืนยันว่าทุกอย่างต้องอยู่ในกรอบ RFP ไม่มีการยกเลิกสัญญา ถ้ายกเลิกสัญญา ก็แปลว่า เป็นผู้ทิ้งงาน”
ทั้งนี้ นายศักดิ์สยามยืนยันว่า ไม่มีร่างสัญญาเอื้อ กลุ่ม ซีพี ให้ยกเลิกการชนะประมูลโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินจามที่มีข่าวกระเส็นกระสายออกไปว่า กลุ่ม CPH หรือ ซีพี อาจไม่มาลงนามในสัญญาที่ชนะประมูลไป เนื่องจากไม่ได้งานพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาตามที่เคยมีผู้มีอำนาจในรัฐบาลชุดเก่าเสนอจะให้ แต่เอาไปเอามากลับไม่ให้
นอกจากนี้ เขายังยืนยันว่า บอร์ด ร.ฟ.ท. ชุดใหม่จะมีการประชุมนัดแรกวันนี้ (16 ต.ค.) ในเวลาประมาณ 13. 00 น. โดยจะพิจารณาโครงการสำคัญ อาทิ โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐ ประชาชนจีน ในการพัฒนาโครงการไฮสปีดเทรน ช่วงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา รวมไปถึงโครงการสำ คักที่จะเกิดขึ้นในโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC ภาคตะวันออกด้วย ทั้งนี้ไม่เฉพาะไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบินเท่านั้น.