ภารกิจร่วมของ “นายกฯ” กับ “สุริยะ” ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมไทยสู่โลก 4.0

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ภารกิจร่วมของ “นายกฯ” กับ “สุริยะ” ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมไทยสู่โลก 4.0

Date Time: 2 ก.ย. 2562 05:01 น.

Summary

  • ประเด็นสำคัญของการที่ประเทศไทยจะต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างภาคการผลิตในกลุ่มอุตสาหกรรมของประเทศที่เป็นตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจ ก็คือสงครามการค้าที่เกิดขึ้นในโลก

Latest

รัฐเริ่มแจกเงินหมื่นผู้สูงอายุ 27 ม.ค. ทุนระดับโลกรุมลงทุน “เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์”

ประเด็นสำคัญของการที่ประเทศไทยจะต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างภาคการผลิตในกลุ่มอุตสาหกรรมของประเทศที่เป็นตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจ ก็คือสงครามการค้าที่เกิดขึ้นในโลก โดยเฉพาะสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน...ประเทศไทยจะเปลี่ยนวิกฤติของโลกในครั้งนี้ให้เป็นโอกาสได้อย่างไร

“ท่านนายกฯโทร.มาหาผมว่า ทราบเรื่องที่ผู้บริหารของ US-ASEAN Business Council : USABC หรือสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน ที่เข้าพบกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และให้สัมภาษณ์สำนักข่าว CNBC หรือไม่ว่า อย่างไรเสียนักธุรกิจของสหรัฐฯก็จะต้องเคลื่อนย้ายการลงทุนมายังประเทศไทย...ผมก็เรียนว่าผมทราบแล้ว และกำลังวางแผนปรับปรุงโครงการของภาคอุตสาหกรรมไทย รวมถึงการขอสิทธิพิเศษเพื่อการลงทุนในประเทศไทยอยู่ ซึ่งท่านก็เห็นด้วย และได้รับการฝากฝังเรื่องนี้จากท่านนายกฯด้วยดี”

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยเรื่องนี้กับ ทีมเศรษฐกิจ ระหว่างการสนทนากับเขาถึงแนวคิดในการปรับโครงสร้างภาคการผลิตอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกของประเทศไทย ซึ่งตามความเห็นและข้อสงสัยของเราก็คือ นานกว่า 25 ปีกระมัง ที่สินค้าส่งออกของเรามีอยู่เพียง 11 รายการ ไม่นับรวมทองคำกับน้ำมัน ในจำนวนสินค้าเหล่านี้ มีแต่สินค้าเดิมๆ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์ เครื่องจักรกลและอะไหล่ รถยนต์และอะไหล่ อัญมณี และเครื่องประดับ เป็นต้น

ที่เป็นปัญหา คือ ยิ่งวัน สินค้าอุตสาหกรรมที่มาแทนที่สินค้าภาคการเกษตรในสัดส่วน 80-20% นั้น ค่อยๆกลายเป็นสินค้าส่งออกประเภทที่เป็นต้นน้ำที่ไม่ได้รับการพัฒนาให้ก้าวหน้าขึ้นไปกว่าเดิม กระทั่งมีการย้ายฐานการผลิตไปอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านที่มีต้นทุนแรงงานถูกกว่าจำนวนมาก

การขยายฐานทางธุรกิจ-อุตสาหกรรมเพื่อรองรับนักธุรกิจจากต่างประเทศเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องรีบดำเนินการ โดยเฉพาะในเรื่องของการให้สิทธิประโยชน์ เพื่อการลงทุนเพื่อให้สู้กับต่างประเทศ หรือเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียนด้วยกันเองให้ได้ และหลังจากตรวจสอบงบประมาณของกระทรวงดูก็พบว่ากระทรวงพิจารณาคำขอไว้ประมาณ 14,500 ล้านบาท ในการปรับภาคการผลิตให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของโลก ตามความจำเป็นเร่งด่วน

โดยเฉพาะในด้านการยกระดับอุตสาหกรรมไทยให้มุ่งสู่ “อุตสาหกรรม 4.0” เพื่อรองรับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป และแสวงหาโอกาสจากสงครามการค้าโลกที่เป็นเครื่องมือที่หลายประเทศดำเนินการต่อกัน โดยเฉพาะสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนที่ไทยควรใช้โอกาสนี้ดึงการลงทุนจาก 2 ประเทศ ขณะที่การใช้งบประมาณในแต่ละรายการและความสำคัญลำดับก่อนหลังนั้น จะต้องมุ่งไปยังโครงการที่สำคัญมากเท่านั้น และต้องไม่ใช่การเหวี่ยงแหเพื่อให้สำนักงบประมาณเห็นความสำคัญของโครงการเหล่านี้ว่ามีความจำเป็นจริงๆ

รมว.อุตสาหกรรม กล่าวด้วยว่า เจ้าหน้าที่ของกระทรวงได้ชี้แจงต่อสำนักงบประมาณว่า ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมไทยควรมีการปรับตัวอย่างเร่งด่วน ดังนั้นโครงการที่เป็นพื้นฐานสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรมแข็งแกร่งควรได้รับการพิจารณาด้วย

เช่น ล่าสุดการขยายตัวของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ลดต่ำที่สุดในรอบ 29 เดือน และอุตสาหกรรมที่ลดลงเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศ คือยานยนต์ ปิโตรเคมี ที่เป็นสัญญาณที่บ่งบอกแล้วว่า โครงสร้างอุตสาหกรรมของไทยกำลังเผชิญปัญหาหลายเรื่องด้วยกัน

สำหรับโครงการที่ต้องได้รับการปรับปรุงเร่งด่วนก็เช่น โครงการส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และศูนย์ทดสอบยานยนต์ รวมถึงยางล้อแห่งชาติ ตรงนี้ของบไว้ 1,565 ล้านบาท โครงการต่อไปคือ ยกระดับศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมเพื่อขับเคลื่อน SMEs สู่สากล 386 ล้านบาท

โครงการปั้นสินค้าเด่นระดับชุมชน 340 ล้านบาท โครงการพัฒนาและยกระดับเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 259 ล้านบาท โครงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดตาก 858 ล้านบาท เป็นต้น

นายสุริยะ กล่าวว่า ตนได้สั่งให้สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม หรือ สมอ.เร่งทำมาตรฐานอุปกรณ์การใช้โครงสร้างพื้นฐานของการก่อสร้างขนาดใหญ่เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมของไทย ดัดหลังต่างชาติที่อ้างสินค้าไทยไม่ได้มาตรฐาน มอก.ต้องนำเข้าสินค้าตัวเองมาก่อสร้างแทน “ตรงนี้ถ้าเราทำได้เอง คนไทยต้องได้ประโยชน์มาก”

เขาเปิดเผยด้วยว่า ได้มีโอกาสร่วมงาน 10 ปีของการครบรอบการมาเปิดตัวในประเทศไทยของ JETRO หรือองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น ซึ่งเขาอยากให้เราสนับสนุนธุรกิจเชื่อมโยงการผลิตของเขาและบรรดา SMEs ที่จะตามมา ถ้าประเทศไทยเราสามารถทำให้การทำธุรกิจของ SMEs ของเขาได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างเต็มที่ได้ เขาก็น่าจะย้ายฐานการลงทุนมาได้มาก โดยเฉพาะในการสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ

“ผมคิดว่า ถ้าเราให้แบงก์  ทั้งของเราและของเขาซึ่งจะเป็นธุรกิจต่อเนื่องกับการผลิตในอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นได้ กู้ในอัตราที่ดอกเบี้ยต่ำตั้งแต่ 1–5% แล้ว เมื่อเขาทำแล้วประสบความสำเร็จตามสมควรก็ขอให้เงินหมุนเวียนกลับมาฝากแบงก์ใหม่เพื่อเป็นทุนในการขยายกิจการต่อเนื่องต่อไป”

แนวคิดนี้ก็น่าจะเป็นทางออกที่ดีอีกทางโดยเฉพาะในการจัดตั้งกองทุนอุตสาหกรรมประชารัฐ ซึ่งจะต้องขอให้ภาคเอกชนไทยทำบัญชีเดียว เพื่อให้การทำบัญชีทางการเงินเข้า-ออกจาก Book Bank สะดวกด้วยกันทั้งสองฝ่าย...

ในขณะที่กองทุนนี้จะแบ่งเป็นกองทุนเพื่อให้การช่วยเหลือแก่ SMEs ตั้งแต่ขนาน S คือ Small-Medium ไปจนถึง Large (SML) โดยเฉพาะเมื่อการเติบโตของ SMEs ในประเทศไทยนั้นเพียง 10 ปี คือ จากปี 2551-2561 สูงถึง 40% หรือคิดเป็นจำนวน 3,884-5,224 ราย และเป็น Startup ราว 1,040-1,089 รายที่ประสบความสำเร็จ

สำหรับยุทธศาสตร์เศรษฐกิจไทยภายใต้รัฐบาลชุดใหม่ นายสุริยะ กล่าวว่า เขาได้สั่งการให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ไปจัดทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมที่ใช้ในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่น อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมระบบราง อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับสนามบิน ท่าเรือ รถไฟฟ้า โดยให้ไปพิจารณาว่า สินค้าประเภทใดของประเทศไทยที่ต้องการผลิตให้ได้ มอก.

ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของสากล เป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมในประเทศให้ได้รับอานิสงส์จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย เนื่องจากที่ผ่านมามีเอกชนหลายรายกังวลว่า กลุ่มผู้ชนะการประมูลโครงสร้างพื้นฐานในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC : Easter Economic Corridor) มีบริษัทต่างชาติร่วมทุนอยู่หลายโครงการ จึงเกรงว่าจะต้องนำเข้าอุปกรณ์ในแต่ละโครงการหากอุปกรณ์นั้นๆผลิตในประเทศไม่ได้ มอก.

“นโยบายนี้ภาครัฐต้องเน้นอุปกรณ์หรือสินค้าที่ผู้ประกอบการมีความพร้อมในการผลิตในประเทศ และต้องการให้ภาครัฐออกมาตรฐานสินค้าเพื่อให้เป็นที่ยอมรับสากล โดยผมจะไปหารือร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ เรื่องข้อกำหนดการส่งเสริมใช้ชิ้นส่วนในประเทศเพื่อสนับสนุนการใช้สินค้าไทย โดยต้องไม่ขัดกับข้อตกลงองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) เพราะโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ในประเทศควรให้ผู้ผลิตวัสดุอุปกรณ์ในประเทศได้รับผลประโยชน์”

ขณะเดียวกัน หน่วยงานภาครัฐทุกแห่งก็จะต้องเร่งสร้างคุณค่ามาตรฐาน ทักษะแรงงาน เพื่อสนับสนุนพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต พัฒนาฝีมือให้เป็นระบบ รวมถึงส่งเสริมมาตรฐานอาหารแปรรูป สินค้าที่แปรรูปจากการเกษตรสำคัญมาก คือต้องเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา เช่น ศูนย์ทดสอบยานยนต์ และยางล้อแห่งชาติ เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่

นอกจากนี้ ยังจะเร่งรัดดำเนินโครงการ 5 เครื่องยนต์ขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรม ประกอบด้วย เครื่องยนต์แรก พัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต หรือเอสเคิร์ฟ เพื่อให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ๆขึ้นในประเทศเพื่อต่อยอดนโยบายในส่วนที่มีการดำเนินการไปแล้ว เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าที่มีค่ายผู้ผลิตรถยนต์ได้รับการส่งเสริมการลงทุนรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าคิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนรวม 53,000 ล้านบาท อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่ต่อไปจะให้ความสำคัญกับการลงทุนจากประเทศพันธมิตรโดยเฉพาะจีนและญี่ปุ่นมากขึ้น

เครื่องยนต์ที่ 2 จะยกระดับผู้ประกอบการ SMEs และ Startup ให้เติบโตและเข้มแข็ง โดยจะนำนวัตกรรมการส่งเสริม สร้างต้นแบบพัฒนาผู้ประกอบการให้เกิดความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจรากหญ้า และเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน

โดยในปี 2563 กระทรวงอุตสาหกรรมได้ขอรับการจัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจรากหญ้าในแนวทางเกษตรอุตสาหกรรมวงเงิน 400 ล้านบาท เพื่อยกระดับสู่การแปรรูปสินค้าเกษตร โดยเชื่อมโยงกับคลัสเตอร์การเกษตรแปรรูปต่างๆ รวมทั้งเตรียมยกระดับชุมชนให้เป็นชุมชนเกษตรอุตสาหกรรม เสริมเครื่องทุ่นแรงในการแปรรูปอย่างง่าย และพัฒนาสินค้าให้มีความคิดสร้างสรรค์พร้อมนวัตกรรม

เครื่องยนต์ที่ 3 เป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงพื้นที่เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมกับศักยภาพเชิงพื้นที่และกระจายรายได้ไปสู่ภูมิภาคโดยการขับเคลื่อนผ่านเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC และเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน เน้นสร้างเศรษฐกิจภูมิภาคด้วยโมเดลเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยการเกษตร

เครื่องยนต์ที่ 4 เน้นส่งเสริมการประกอบการที่เป็นมิตรต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน, การสร้างเศรษฐกิจชุมชนด้วยการใช้วัตถุดิบหมุนเวียน เพื่อให้เป็นกลไกเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนในรูปแบบใหม่ โดยจะแก้ไขข้อติดขัดของกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องให้เอื้อต่อนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน ส่งเสริมการนำวัตถุดิบหมุนเวียนของภาคอุตสาหกรรมและชุมชนกลับมาใช้ประโยชน์

เครื่องยนต์ตัวสุดท้าย ต้องปฏิรูปกระทรวงอุตสาหกรรมไปสู่ Smart Government ด้วยการนำระบบดิจิทัลมาใช้ในการบริการและปฏิบัติงานของกระทรวงอุตสาหกรรมในทุกมิติ เช่น ระบบการยื่นขอใบอนุญาตออนไลน์ ระบบการรายงานการประกอบการอุตสาหกรรมผ่านระบบออนไลน์แทน

การตรวจสถานประกอบการเพื่อต่ออายุใบอนุญาต เช่น ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน หรือ ใบ รง.4, มอก.ECO-Sticker สำหรับรถยนต์ที่ลดมลพิษ, ระบบการชำระค่าบริการออนไลน์ เป็นต้น

นายสุริยะ ยังเปิดเผย หลังหารือร่วมกับนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่สำนักงาน ส.อ.ท.ว่า ได้นำคณะผู้บริหารกระทรวงเข้าหารือกับ ส.อ.ท.เพื่อรับฟังเสียงสะท้อนโดยเฉพาะด้านปัญหา และอุปสรรคที่ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือ อำนวยความสะดวกด้านการลงทุนและพัฒนาอุตสาหกรรมให้แข่งขันระดับโลกได้

โดย ส.อ.ท.ได้เสนอโมเดล Made In Thailand ให้กระทรวงไปประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการผลักดันให้โครงสร้างพื้นฐานของไทยทุกโครงการที่กำลังเดินหน้าใช้วัตถุดิบที่ผลิตในไทยในการก่อสร้างไม่ต่ำกว่า 90%

อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติพบว่าโครงสร้างพื้นฐานส่วนใหญ่ยังไม่มีการกำหนดสัดส่วนการใช้สินค้าที่ผลิตโดยคนไทย ยกเว้นบางโครงการ อาทิ รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ที่กำหนดให้ใช้สินค้าไทยไม่ต่ำกว่า 90% หรือการผลิตรถยนต์ของไทยที่กำหนดชิ้นส่วนในประเทศไม่ต่ำกว่า 90% ดังนั้น จึงต้องการให้รัฐบาลให้การสนับสนุนอย่างจริงจังเพราะไทยกำลังจะมีโครงสร้างพื้นฐานอีกจำนวนมาก ขณะเดียวกัน ส.อ.ท.จะไปรวบรวมบัญชีสินค้าที่สามารถผลิตได้ในไทย และเสนอรัฐบาลควบคู่ไปด้วย

“ส.อ.ท.ยังเสนอให้มีการจัดงาน เมด อิน ไทยแลนด์ อินดัสทรี เอ็กซ์โป ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อแสดงสินค้านวัตกรรม เทคโนโลยีต่างๆของคนไทย เพราะปัจจุบันคนไทยสามารถผลิตสินค้าได้ทุกอุตสาหกรรม โดยหลังจากนี้จะติดตามความคืบหน้าของข้อเสนอทั้งหมดว่าขับเคลื่อนไปอย่างไรบ้าง”

นายสุริยะ กล่าวว่า เขารับข้อเสนอ ส.อ.ท.เต็มที่ด้วยการผลักดันโครงสร้างพื้นฐานไทยให้ใช้ Local Contents 90% และให้หามาตรการตอบโต้เวียดนามเพื่อคุ้มครองนักลงทุนไทยด้วย

นายสุริยะ กล่าวในตอนท้ายว่าเขารับฟังเสียงสะท้อนที่เข้ามาของสภาอุตสาหกรรมและ พร้อมนำไปแก้ไขและปฏิบัติ โดยเฉพาะด้านปัญหาและอุปสรรคที่ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือ และอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน ขณะเดียวกันก็ให้สภาอุตสาหกรรมไปรวบรวมบัญชีสินค้าที่สามารถผลิตได้ในประเทศไทยเพื่อนำเสนอรัฐบาลในการดำเนินการตามโครงการต่างๆควบคู่กันไป

ท้ายที่สุดทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม และสภาอุตสาหกรรม จะจัดงาน Made In Thailand ร่วมกันเพื่อแสดงความก้าวหน้าของสินค้าไทย นวัตกรรมใหม่ๆ และเทคโนโลยีต่างๆที่เป็นของคนไทยคิดค้นขึ้นในหลายสาขา และในภาคการผลิตสินค้าจำนวนไม่น้อย ซึ่งหากทั้งสองเดินไปในทิศทางเดียวกัน ในที่สุดประเทศไทยก็จะสามารถขับเคลื่อนภาคการผลิตในอุตสาหกรรมไทยให้มีศักยภาพ และขีดความสามารถเพื่อแข่งขันกันในเวทีการค้าของโลกได้

ที่สำคัญก็คือทั้งหมดจะนำมาซึ่งเงินตราเข้าประเทศ และทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้อันเป็นภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง และยั่งยืนที่คนไทยทั้งประเทศต้องการ.

ทีมเศรษฐกิจ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ