ความท้าทายของ “สนธิรัตน์”

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ความท้าทายของ “สนธิรัตน์”

Date Time: 6 ส.ค. 2562 05:01 น.

Summary

  • “ผมจะปรับปรุงแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยปี 2561-2580 (พีดีพี 2018) ครั้งที่ 1 โดยจะเน้นส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึง

Latest

“เจ้าสัวธนินท์” มองโลก มองธุรกิจ เชื่อมือ รัฐบาล ดันไทยเป็น “ฮับการเงิน” ปลุกผู้ค้าก้าวทัน AI-เทคฯ


“ผมจะปรับปรุงแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยปี 2561-2580 (พีดีพี 2018) ครั้งที่ 1 โดยจะเน้นส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงระบบพลังงานให้มากขึ้น อาทิการกำหนดพื้นที่สร้างโรงไฟฟ้าชุมชนตามศักยภาพสายส่งไฟฟ้า ซึ่งรูปแบบการลงทุนจะเปิดให้เอกชนและชุมชนลงทุนสร้างและให้ชุมชนซื้อหุ้นคืนบางส่วนในภาคหลัง ในกลุ่มโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ ชีวมวล ชีวภาพและขยะ”

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสัญญาณแรงชัดจัดเต็มของ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน คนล่าสุด ที่เคยประกาศไว้เมื่อวันเข้ารับตำแหน่ง 18 ก.ค.ที่ผ่านมา ว่าจะขอเข้ามาล้างคราบไคลของกระทรวงพลังงานที่แม้มีงบประมาณรายจ่ายปี 2562 เพียง 2,316 ล้านบาท และมีเงินนอกงบประมาณผ่านสารพัดกองทุนหลายหมื่นล้านบาท ไม่นับรวม “เค้กพลังงาน” หรือผลประโยชน์จากสัมปทานนานาชนิดอีกนับแสนล้านบาท

อัตลักษณ์ของกระทรวงพลังงานจึงถูกมองว่าเต็มไปด้วยผลประโยชน์มหาศาล ที่นักการเมืองรบราฆ่าฟันเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายเพื่อให้ได้เข้าครอบครองอาณาจักรขุมทรัพย์แห่งนี้ ซึ่งมีเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่าแต่ละโครงการล้วนมี “เงินทอน” ทั้งสิ้น

ภารกิจล้างคราบไคลของพ่อหนุ่มซินตึ๊งอย่าง “สนธิรัตน์” จะต้องบุกป่า ฝ่าดงหนาม ลุยไฟในเรื่องใดบ้าง ลองไปดูกัน

เรื่องแรก หนีไม่พ้นเรื่องที่ต้องตอบคำถามของผู้ตรวจการแผ่นดินภายใน 120 วัน กรณีผู้ตรวจการแผ่นดินวินิจฉัยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ต้องผลิตไฟฟ้าเกิน 51% ของทั้งระบบตามรัฐธรรมนูญ 2560 แต่ปัจจุบันกำลังการผลิตมีเพียง 37% ของทั้งหมด ที่เหลือเป็นเอกชน และแนะให้ทบทวนแผนยุทธศาสตร์ไฟฟ้าใหม่ โดย กฟผ.ต้องผลิตเกิน 51% ภายใน 10 ปี

ตามมาด้วยการประมูลโรงไฟฟ้าที่จะให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน ทั้งผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระขนาดใหญ่ (ไอพีพี) ผู้ผลิตอิสระขนาดเล็ก (เอสพีพี) ตลอดจนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนทั้งก๊าซชีวภาพ ขยะ พลังงานลม แสงอาทิตย์ ฯลฯ เพราะต้องแยกให้ชัดเจนว่า โรงไฟฟ้าหลักเพื่อความมั่นคงของพลังงานตามแผนพีดีพี 2018 ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะให้ใครเป็นคนก่อสร้าง และก่อสร้างโรงไฟฟ้าอะไร อย่างไร และให้ใช้เชื้อเพลิงชนิดใด เช่น ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ที่สำคัญยังไม่ระบุวิธีการว่าจะเปิดประมูลทั่วไปหรือมอบให้ใครก่อสร้าง

ที่สำคัญ “สนธิรัตน์” อาจต้องมารื้อมติคณะกรรมการบริหารพลังงาน (กบง.) ในยุคที่นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ อดีต รมว.พลังงาน อนุมัติให้โรงไฟฟ้าแห่งหนึ่งได้สิทธิในโครงการโรงไฟฟ้าภาคตะวันตก โดยไม่มีการเปิดประมูล ซึ่งแม้ว่าจะเป็นอำนาจของ กบง.อย่างถูกต้อง แต่ก็มีคำถามคาใจว่า เหตุใดจึงไม่เปิดประมูล เพราะถ้าต้องการทำตามแผนพีดีพี 2018 ให้ถูกต้อง ก็ต้องเปิดประมูล ให้ทุกคนร่วมแข่งขัน

เพราะการเปิดประมูลคือความโปร่งใส เกิดการแข่งขัน ผลประโยชน์ก็จะตกกับประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า ที่อาจได้ใช้ไฟฟ้าในราคาที่ถูกลง แม้ว่า กบง.จะมองว่าการมอบให้ใครได้สิทธิลงทุนโดยไม่ต้องประมูล ก็อาจได้มาซึ่งค่าไฟฟ้าที่ถูกลง ซึ่งก็ไม่มีใครรู้ว่าเมื่อก่อสร้างเสร็จจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ จะได้ค่าไฟที่ถูกลงกว่าการเปิดประมูลหรือไม่

ขณะเดียวกัน การปรับปรุงแผนพีดีพีดังกล่าว ควรไปรื้อดูปริมาณการลงทุนผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) ที่ได้กำหนดว่าจะมีปริมาณรวม 10,000 เมกะวัตต์ ที่อาจไม่เป็นไปตามแผน เพราะถือว่าเป็นสัดส่วนที่สูงเกินไป จึงควรปรับแผนหันไปเพิ่มสัดส่วนไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนชนิดอื่นๆ เช่นชีวมวล เป็นต้น

นอกจากนั้น ยังมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่นับแสนล้านบาท รอการพิจารณาอนุมัติที่อาจสร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้กับ “สนธิรัตน์” อีกมากมาย อาทิ โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ๆที่จะเกิดขึ้นตลอดแผนพีดีพีทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เกือบ 12,000 เมกะวัตต์ ที่ต้องใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) เป็นเชื้อเพลิง คิดเป็นมูลค่าปีละ 100,000 ล้านบาท

เพราะเมื่อฟ้าเปิดทางโล่งให้มีผู้เล่นภาคเอกชนสามารถนำเข้าแอลเอ็นจีมาแข่งขัน เพื่อจำหน่ายให้กับโรงไฟฟ้าได้ จากในอดีตที่ถูกผูกขาดโดยบริษัทปตท.จำกัด (มหาชน) เพียงเจ้าเดียว ก็เชื่อว่ากลุ่มธุรกิจพลังงานขาใหญ่ทั้งหลายกำลังเหยียบคันเร่ง พร้อมสยายปีกเข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดจาก ปตท.อย่างแน่นอน

คุณสมบัติที่สำคัญอีกประการของคนเป็น รมว.พลังงาน จึงต้องมีธรรมาภิบาล คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติและปกป้องผลประโยชน์ของคนไทย ประเทศชาติ ไม่ใช่ทำเพื่อเงินในกระเป๋าของคนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด

สารพัดโครงการที่แตะไปตรงไหนก็ถือว่าเป็นระเบิดในมือของ รมว.พลังงาน จึงเป็นงานยากยิ่งกว่าตามหาขุมทรัพย์ในเพชรพระอุมา จนบางทีอาจต้องขอตัวช่วย ให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้ามาลดแรงเสียดทาน กำหนดทิศทางแผนพีดีพี 2018 ใหม่ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)

เกรียงไกร พันธุ์เพ็ชร


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ