มีข้อมูลน่ากลัว (อีกครั้ง) เกี่ยวกับชานมไข่มุก เมนูเครื่องดื่มสุดฮิตยุคนี้ ที่มีผลสำรวจพบว่าส่วนใหญ่มีน้ำตาลเกินมาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ แต่ยอดขายธุรกิจนี้ก็ยังแรงไม่ตก แถมยังสร้างรายได้จนมีมูลค่าธุรกิจนับพันล้านในไทย และหลายหมื่นล้านทั่วโลก
ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยโครงการเฝ้าระวังสินค้า และบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ เปิดเผยผลทดสอบชานมไข่มุก 25 ยี่ห้อ ที่เก็บตัวอย่างเมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ที่เป็นขนาดแก้วปกติ ไม่ใส่น้ำแข็งพบว่า มี 23 ยี่ห้อน้ำตาลเกินมาตรฐานที่องค์การอนามัยโลก หรือ WHO แนะนำว่าคนเราควรกินน้ำตาลไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา หรือ 24 กรัมต่อวัน
ในจำนวนนี้มียี่ห้อเดียวที่น้ำตาล 16 กรัม หรือ 4 ช้อนชา และที่มากสุด 74 กรัม หรือ 18.5 ช้อนชา และค่าเฉลี่ยส่วนใหญ่อยู่ในระดับ 8-11 ช้อนชา นอกจากนี้ยังพบสารกันบูดในเม็ดไข่มุก บางยี่ห้อน้อย บางยี่ห้อมาก แต่ไม่เกินมาตรฐาน และมีข่าวดีคือไม่พบสารปนเปื้อนของตะกั่ว
ระดับน้ำตาลโดยเฉลี่ยที่ 8-11 ช้อนชานี้ พอๆ กับน้ำอัดลมกระป๋อง 325 มิลลิลิตร กาแฟสดขนาดกลาง และชาเขียว 420 มิลลิลิตร ซึ่งต้องใช้เวลาเผาผลาญ 18-27 นาที
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกของการเตือนเรื่องชานมไข่มุกที่หวานเกินไป และอาจทำลายสุขภาพ เพราะก่อนหน้านี้ก็เตือนกันมาเป็นระยะ นับตั้งแต่ชานมไข่มุกเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยม จากจุดกำเนิดที่ไต้หวันไปถึงทั่วโลก เพราะหลายคนกินแล้วติดใจ ได้ความรู้สึกสดชื่น ด้วยฤทธิ์ของชา น้ำผลไม้ ที่ผสมความหวาน กินแล้วสนุกกับการเคี้ยว เพราะมีเม็ดไข่มุกหนึบๆ ที่ทำจากแป้งมันสำปะหลัง และกระบวนการตลาดที่สร้างมูลค่าให้กินแล้วอินเทรนด์ จนมึปรากฏการณ์เข้าแถวซื้อแล้วหลายแบรนด์
เม็ดเงินธุรกิจชานมไข่มุก จึงเบ่งบานไปทั่วโลก ในปี 2559 มีมูลค่า 1,945 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 62,000 ล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน 32 บาทต่อ 1 ดอลลาร์) และคาดว่าปี 2568 จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเท่าตัว อยู่ที่ 3,864 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 123,648 ล้านบาท เติบโตปีละประมาณ 8.5%
ส่วนในไทย เมื่อปี 2555 หรือ 7 ปีที่แล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่ามูลค่าตลาดชานมไข่มุกในไทยอยู่ที่ประมาณ 2,000 ล้านบาท แม้จะมีการประเมินว่าปัจจุบันมูลค่าจะไปถึง 2,500 ล้านบาท แต่ความเป็นจริงคาดว่าสูงกว่านั้นมาก เพราะหากดูจากผลประกอบการของแบรนด์ดังจากต่างประเทศที่มาเปิดตลาดในไทยมาแล้วหลายปี อย่างโอชายะ เริ่มแจ้งรายได้ปี 2558 แจ้งรายได้ไว้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ไว้มีเพียงประมาณ 60 ล้านบาท กำไร 1.1 ล้านบาท ส่วนปีล่าสุดที่แจ้งรายได้คือ 2560 สูงถึง 148 ล้านบาท กำไรประมาณ 920,000 บาท
หรืออีกแบรนด์อย่างคามุ คามุ ปี 2557 รายได้ 1.7 ล้านบาท และขาดทุนมาทุกปี จนในปี 2561 แจ้งไว้ว่ามีรายได้ถึง 153 ล้านบาท กำไรถึง 21 ล้านบาท และอีกแบรนด์ อย่างโคอิ เตะ เริ่มแจ้งรายได้ปี 2559 อยู่ที่ 3.5 ล้านบาท ขาดทุน 2.3 ล้านบาท แต่มาในปี 2561 รายได้สูงถึง 304 ล้านบาท กำไร 81 ล้านบาท
นี่แค่ตัวอย่างของธุรกิจชานมไข่มุกของต่างชาติที่มาเปิดสาขา และขายแฟรนไชส์ในไทย จนมีสาขาจำนวนมาก และมีรายได้เติบโตต่อเนื่อง เพราะสำหรับผู้ประกอบการแล้ว มีทางออกเสมอ ในเมื่อมีการเตือนเรื่องความหวาน หลายแบรนด์จึงมีทางเลือกระดับความหวานน้อย น้อยที่สุด ไปจนถึงน้ำตาล 0%
ตัวอย่างการปรับตัวทางธุรกิจที่ “กวิสรา จันทร์สว่าง” สาวน้อยวัย 25 ปีที่ก่อตั้ง “เฟรช มี” บุกธุรกิจชานมไข่มุกมาตั้งแต่อายุ 18 ปี ในฐานะกรรมการบริษัท เปิดเผยกับไทยรัฐออนไลน์ว่า มองเทรนด์ของผู้บริโภคเปลี่ยนไป จึงมีการทำเมนูเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพมากขึ้น โดยเฉพาะหวานน้อยจนถึงไม่มีน้ำตาล ที่เฟรช มี ให้บริการ เพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการดูแลสุขภาพ ซึ่งตลอดช่วงประมาณ 8 ปีที่ทำธุรกิจนี้ มีทั้งขาขึ้นและขาลง ในช่วงนี้ถือว่ามีการแข่งขันสูง เพราะมีทั้งรายใหม่ที่เข้ามาในตลาด และการใช้กลยุทธ์ราคา ที่เห็นถูกสุดในเวลานี้คือ 19 บาท และสูงสุดประมาณ 180 บาท ที่สำคัญการแข่งขันมีการใช้ครีเอทีฟในการทำตลาดสร้างมูลค่าให้กับเครื่องดื่ม มีเมนูใหม่ๆ ผู้บริโภคจึงไม่เบื่อ
อีกปรากฏการณ์ที่เห็นได้ชัด คือธุรกิจการขายแฟรนไชส์ชานมไข่มุกยังเป็นไปอย่างคึกคัก จากการสำรวจของไทยรัฐออนไลน์ พบว่า มีหลายแบรนด์ที่พร้อมขายแฟรนไชส์ ที่ช่วยปูพรมสาขาให้ยี่ห้อต่าง ๆ ไปทั่วถึงกว้างไกล ส่วนราคานั้นมีตั้งแต่หลักหมื่น จนถึงหลายแสนบาท ส่วนความคุ้มทุน หรือโอกาสในการสร้างกำไรนั้นขึ้นอยู่ทำเล และการทำตลาดของเจ้าของแบรนด์ โดยส่วนใหญ่ค่าเฉลี่ยที่ผู้บริโภคพร้อมจ่ายซื้อ คือแก้วละประมาณ 40-50 บาท
นอกจากนี้ยังมีอีกอย่างน้อย 50 บริษัทที่จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า มีเมนูขายชานมไข่มุก ด้วยทุนจดทะเบียนในหลักล้านถึงสิบล้านบาท รวมไปถึงค้าส่งอุปกรณ์ และวัตถุดิบเพื่อชานมไข่มุกโดยเฉพาะ เป็นธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง สร้างเม็ดเงินหลักพันล้านบาท
เกือบ 40 ปี ที่มีชานมไข่มุกที่ไต้หวัน และกว่า 15 ปีที่ชานมไข่มุกบุกไทย และขยายไปทั่วโลก กลายเป็นเครื่องดื่มประจำวันของหลายคน แต่เมื่อมีคำเตือนถึงภัยอันตรายจากความหวาน ผู้บริโภคก็ต้องเลือก ส่วนธุรกิจก็ต้องหาทางออก โดยเฉพาะความรับผิดชอบต่อสุขภาพของผู้บริโภค นั่นคือทางรอดและเติบโตต่อไปของธุรกิจในยุคนี้