โลกหลัง ม.44 ของทีวีดิจิทัล-ค่ายมือถือ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

โลกหลัง ม.44 ของทีวีดิจิทัล-ค่ายมือถือ

Date Time: 22 เม.ย. 2562 05:01 น.

Summary

  • หลังจากรอคอยมานาน ในที่สุด เมื่อวันที่ 11 เม.ย.2562 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีคำสั่งที่ 4/2562 เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม

Latest

พาณิชย์เดินหน้าต่อเจรจา FTA สู้ศึกเทรดวอร์-ดึงลงทุน-สร้างแต้มต่อเหนือคู่แข่ง

หลังจากรอคอยมานาน ในที่สุด เมื่อวันที่ 11 เม.ย.2562 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีคำสั่งที่ 4/2562 เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม หรือเรียกกันง่ายๆว่า “คำสั่ง ม.44 ช่วยอุตสาหกรรมทีวี-อุตสาหกรรมโทรคมนาคม”

การออกคำสั่งดังกล่าว นอกจากจะเป็นการสร้างความมั่นใจให้ผู้ประกอบการ และสร้างแรงจูงใจให้เข้าร่วมประมูล 5 จี บนคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ และ 2600 เมกะเฮิรตซ์แล้ว ยังเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับภาครัฐ ว่า จะมีรายได้ที่แน่นอนไม่น้อยกว่าปีละ 20,000 ล้านบาทเป็นเวลา 10-15 ปี

เนื้อหาของมาตรการช่วยเหลือกำหนดให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ได้รับ ยกเว้นค่าประมูลใบอนุญาต งวด 5 และ 6 (2 งวดสุดท้าย) มูลค่ารวม 13,622 ล้านบาท และไม่ต้องจ่ายค่าเช่าโครงข่ายทีวีดิจิทัล (Mux) ตลอดใบอนุญาต 10 ปี มูลค่าราว 18,000 ล้านบาท รวมถึงสนับสนุนทุนประเดิมจัดตั้งองค์กรกลางวัดเรตติ้งมูลค่า 431 ล้านบาท สิริรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 31,662 ล้านบาท โดยจะต้องแลกกับการคืนคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ ที่มีอยู่บางส่วนให้กับสำนักงาน คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.)

ขณะที่การช่วยเหลือค่ายมือถือ คำสั่ง ม. 44 ได้ขยายระยะเวลาชำระค่าประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ ให้กับเอไอเอส, ทรู และดีแทค จาก 4 งวด เป็น 10 งวด โดยมีเงื่อนไขว่า ต้องรับคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ ไปเปิดบริการ 5 จีในระยะต่อไป ในราคาเบื้องต้นที่ประมาณ 25,000 ล้านบาทต่อ 15 เมกะเฮิรตซ์

ทั้งนี้ จะเปิดการจัดสรรคลื่นในเดือน มิ.ย.2562 ชำระเงินงวดแรกวันที่ 1 ต.ค.2563 ซึ่งเม็ดเงินที่ได้จากการจัดสรรคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ ส่วนหนึ่ง สำนักงาน กสทช.จะนำไปจ่ายค่างวดสำหรับค่า Mux แทนผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล และในคำสั่ง ม.44 ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลยังสามารถคืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัล โดยจะได้เงินชดเชยอีกด้วย

ประเด็นความช่วยเหลือเหล่านี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ต่างฝ่ายต่างพยายามมองภาพว่า ภายหลังคำสั่งม.44 ทิศทางธุรกิจทีวีดิจิทัล และมือถือจะเป็นอย่างไร “ทีมเศรษฐกิจ” ไปฟังจาก 2 ท่านนี้


วีรวัฒน์ เกียรติพงษ์ถาวร
หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านธุรกิจสัมพันธ์และองค์กร
บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส

ก่อนอื่นต้องขอชี้แจงว่า มาตรการช่วยเหลือค่ายมือถือนั้น เป็นการยืดระยะเวลาการชำระเงินค่าประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ออกไป ไม่ได้เป็นการยกหนี้แบบที่ให้กับทีวีดิจิทัล เรายังมีภาระชำระเงินครบถ้วนตามจำนวนที่ได้ประมูลคลื่นมา

แต่ก็ต้องยอมรับว่า จากเดิมที่ต้องชำระค่าประมูลคลื่น 900 ราว 60,000 ล้านบาทในปี 2563 พอถูกยืดระยะเวลาออกไป ปีหน้าจะเหลือชำระ 20,000 กว่าล้านบาท ถือว่าผ่อนภาระไปพอสมควร

“การยืดเวลาชำระเงิน มาพร้อมกับเงื่อนไขที่ว่า ค่ายมือถือจะต้องเข้าร่วมจัดสรรคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์เพื่อให้บริการ 5 จี ซึ่งกสทช.จะเปิดให้มีการจัดสรรคลื่นให้ 3 ค่ายมือถือในเดือน มิ.ย.2562 และเคาะกำหนดชำระเงินไว้ที่ 1 ต.ค.2563 ถ้าค่ายไหนไม่เข้าประมูลคลื่น จะไม่ได้รับสิทธิ์ขยายเวลาชำระค่างวด”

ดังนั้น หากเอไอเอสขอรับสิทธิ์ยืดระยะชำระเงินคลื่น 900 ก็ต้องซื้อคลื่น 700 พ่วงไปด้วย ซึ่งเบื้องต้นกำหนดราคาไว้ที่ 25,000 ล้านบาทต่อ 15 เมกะเฮิรตซ์ ภายใต้เงื่อนไขผ่อนชำระได้ 10 ปี

“ถ้าเอไอเอสตัดสินใจซื้อคลื่น 700 ปีหน้าจะต้องชำระเงินงวดแรกราว 2,500 ล้านบาท สรุปรวมๆ ปีหน้าเราจะมีภาระต้องจ่ายค่าคลื่น 900 และ 700 เกือบ 30,000 ล้านบาท จากเดิมที่ต้องจ่าย 60,000 ล้านบาท ก็ต้องถือว่าได้รับความช่วยเหลือในระดับหนึ่ง”

อย่างไรก็ตาม เราคิดว่าการขยายค่างวดชำระคลื่น 900 กับการยื่นเงื่อนไขว่าต้องซื้อคลื่น 5 จีนั้น เป็นคนละเรื่องกัน ไม่ควร เอามาผูกกัน แต่ก็เข้าใจได้ว่า กสทช. ต้องการนำเงินค่าคลื่น ไปช่วยเหลือทีวีดิจิทัล ซึ่งเราเห็นด้วยว่าควรได้รับการเยียวยา เพราะธุรกิจอยู่ในสภาพย่ำแย่ ล้มลุกคลุกคลาน อาจกระทบต่อคุณภาพของรายการที่จะออกอากาศ

ซึ่งตรงนี้เหมือนกับธุรกิจโทรคมนาคม อยากให้มองว่าการที่ กสทช.ช่วยขยายระยะเวลาชำระเงินให้เรานั้น เพราะต้องการให้สามารถเข้ารับการจัดสรรคลื่น 5 จี และยังมีเงินเหลือไปลงทุนพัฒนาโครงข่าย หากปีหน้าเราต้องจ่ายเงินถึง 60,000 ล้านบาท จากการประมูลที่ไม่ได้สะท้อนราคาที่แท้จริง เพราะถูกแจสโมบาย ดันราคาขึ้นไปสูง แต่ไม่สามารถชำระเงินได้ และเอไอเอสต้องเข้าไปรับช่วงต่อนั้น

ในปีหน้าเราคงต้องจำกัดวงเงินพัฒนาโครงข่าย ลงทุนให้น้อยลง จึงอยากให้มองว่านี่ไม่ใช่เป็นเพียงการช่วยเหลือค่ายมือถือ แต่เป็นการช่วยอุตสาหกรรมในภาพรวม ให้มีเงินลงทุนพัฒนาบริการให้ดีขึ้น

เมื่อโลกก้าวสู่ยุค 5 จี ซึ่งทำความเร็วมากกว่าปัจจุบันถึง 10 เท่า ค่ายมือถือจะต้องการคลื่นเป็นจำนวนมาก ในต่างประเทศหากจะทำบริการ 5 จีให้ได้ดีเยี่ยม จะต้องมีปริมาณคลื่นระดับ 1000 เมกะเฮิรตซ์ ดังนั้น คลื่น 5 จีที่เคาะราคาเบื้องต้น 15 เมกะเฮิรตซ์ที่ 25,000 ล้านบาท จึงยังถือว่าแพงมาก เพราะหากต้องการ 1000 เมกะเฮิรตซ์ จะต้องใช้เงินอีกมหาศาล เราคงแบกรับไม่ไหว

จึงอยากให้ กสทช. คิดแผน 5 จีระยะยาวไว้ ทำโรดแม็ปให้ชัดเจนก่อน อยากให้มองภาพใหญ่ ไม่ใช่จัดสรรคลื่นทีละนิดทีละหน่อย เรื่องนี้เราพูดมาตลอดว่าไม่อยากให้รีบ อยากให้ทำแผนให้ครบถ้วน ทำเป็นแพ็กเกจมาเลย ทั้งคลื่นความถี่สูง-กลาง-ต่ำ เพราะการให้บริการ 5 จี ต้องใช้คลื่นจำนวนมหาศาล

“ผมเชื่อว่ากว่า 5 จีเชิงพาณิชย์จะเกิดขึ้นจริง ยังต้องใช้เวลาอีก 2-3 ปีจากนี้ เราทำธุรกิจ ถ้าลงทุนเร็วเกินไป ยังทำเงินไม่ได้ เราก็ยังไม่ อยากลุย นอกจากนั้นเทคโนโลยีก็ยังไม่เสถียร แพง ส่วนมือถือ 5 จี กว่า จะมีราคาจับต้องได้ก็น่าจะเลยปี 2564 ไปแล้ว ที่สำคัญ 5 จีเป็นบริการที่จะตอบโจทย์ลูกค้าอุตสาหกรรม ต้องรอให้ลูกค้าพร้อมก่อนด้วย”

อย่างไรก็ตาม เมื่อมองในมุมกว้าง ม.44 ที่ออกมาจึงถือว่าช่วยผ่อนภาระในระดับหนึ่ง แต่เมื่อถูกโยนเงื่อนไขว่าต้องซื้อคลื่น 5 จีพ่วงไปด้วย ในห้วงเวลาที่เร็วเกินไปและในราคาที่ถือว่ายังสูง เรื่องนี้จึงเป็นสิ่งที่คณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัทต้องพิจารณาตัดสินใจอย่างถี่ถ้วน

เราคงยื่นขอรับสิทธิ์ผ่อนชำระไปก่อน แต่ที่สุดแล้วก็ไม่แน่ว่าจะเลือกทางไหน ถ้าบอร์ดตกลงไม่ซื้อคลื่น 5 จี เราก็ต้องชำระค่าคลื่น 900 ตามเงื่อนไขเก่า

แต่ถ้าที่สุดเราตัดสินใจรับการจัดสรรคลื่น 5 จี การลงทุนในปีแรก ก็จะเป็นไปอย่างจำกัด ไม่ผลีผลาม เพราะอย่างที่บอก เราต้องสร้างโมเดลธุรกิจที่ทำเงินให้ได้ก่อน ตอนนี้เอไอเอสกำลังทดลองบริการ 5 จีอย่างหลากหลาย เพื่อทดสอบตลาดก่อนเปิดให้บริการจริง

สุดท้ายสิ่งที่อยากขอย้ำคือ กสทช.ควรกำหนดบทบาทให้ชัดเจน ขณะนี้ดูเหมือนว่าจะเน้นหาเงินเข้ารัฐ จึงต้องไม่ลืมว่าควรสนับสนุนและส่งเสริมให้เอกชน สามารถนำเสนอบริการที่ดีได้ด้วย.


วัชร วัชรพล
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจโทรทัศน์และออนไลน์
ไทยรัฐกรุ๊ป

การช่วยเหลือในครั้งนี้ ถือว่าเป็นการช่วยที่เบ็ดเสร็จ สะเด็ดน้ำ เพราะเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลพยายามเรียกร้องมาตลอดหลายปี ที่ผ่านมา ไม่ใช่ไม่ได้รับความช่วยเหลือ แต่ความช่วยเหลือครั้งก่อนๆ เป็นแค่การผลักปัญหาไปข้างหน้า เป็นปัญหาที่รอวันระเบิด พวกเรา เลยเหมือนเด็กขี้ขอ จนวันนี้แก้ปัญหาได้ถูกจุดแล้ว

หลังจากนี้ก็คงหมด ไม่ขออะไรแล้ว และต้องขอขอบคุณที่มองเห็นปัญหา

ช่องไทยรัฐทีวีจะเดินหน้าต่อ การคืนใบอนุญาตไม่ได้อยู่ในความตั้งใจแน่ เพราะมาตรการที่ได้รับความช่วยเหลือ มากพอที่จะเดินหน้าต่อให้ดีที่สุด

สำหรับทิศทางหลัง ม.44 ของช่องไทยรัฐทีวี คงไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก เพราะผ่านช่วงลองผิดลองถูกมาหมดแล้ว ตอนนี้เจอผู้ชม กลุ่มเป้าหมายที่พร้อมสนับสนุนและเดินไปด้วยกัน ฐานผู้ชมเสถียรมากขึ้น

“อย่างไร ช่องเราก็คงหนีไม่พ้นความเป็นไทยรัฐ ถ้านึกถึงข่าว ก็ต้องนึกถึงเรา ทำให้กลุ่มผู้ชมส่วนใหญ่ราว 60% เป็นผู้ชาย วัยทำงาน มีอายุ ก่อนหน้านี้เราพยายามค้นหาตัวเอง เปิดตัวเองไปสู่โลกใหม่ เช่น เพิ่มผังรายการวาไรตี้ บันเทิง ซึ่งเราไม่ชำนาญ”

ในที่สุดก็ต้องกลับมาหาความเป็นตัวตนของเรา จากนี้จึงจะรักษาแนวทางนี้ไว้ก่อน แต่แน่นอนทำให้ดีขึ้นเพื่อผู้ชม โดยอาจมีคอนเทนต์กีฬาแซมเข้ามาบ้าง

ที่สำคัญผลประกอบการเรายังติดตัวแดงอยู่มาก เมื่อได้รับความช่วยเหลือ ถือว่าทำให้มีโอกาสในการก้าวผ่านภาวะขาดทุนไปได้ จึงจะรักษาแนวทางเดิมๆ ไว้ก่อน เพราะสถานการณ์ในปีนี้ดีขึ้นมาก เรตติ้งมีพัฒนาการที่ดีขึ้น หากไม่นับช่อง 7 และช่อง 3 เราอยู่ในอันดับ 4 แต่หากนับรวมช่องเก่า ก็อยู่ในอันดับ 6 ซึ่งถือว่าไม่เลว

ส่วนรายได้เมื่อปีที่ผ่านมาอยู่ในระดับ 1,000 ล้านบาท เติบโตประมาณ 30% ด้วยสถานการณ์เช่นนี้ หากคุมต้นทุนได้ดี เราน่าจะมีอนาคตที่สดใสได้

“ภายใต้มาตรการช่วยเหลือ เราได้รับการยกเว้นค่าใบอนุญาต 2 งวดสุดท้าย และ กสทช.ช่วยจ่ายค่าเช่าโครงข่ายให้ตลอดอายุใบอนุญาตที่เหลืออีกเกือบ 10 ปี ค่าใช้จ่ายส่วนนี้คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 30-60% ของต้นทุน เหลือก็แต่ต้นทุนผลิตรายการหรือค่าคอนเทนต์ และค่าบริหารจัดการ เงินเดือนพนักงาน”

กระนั้นเป้าหมายการบรรลุจุดคุ้มทุน (Break Even) ซึ่งเดิมกำหนดไว้ในปีที่ 7 ของการดำเนินงานนั้น อาจต้องถูกเลื่อนออกไป อีกสักระยะ เพราะแม้ความช่วยเหลือจะมา แต่ด้วยภาวะเศรษฐกิจ เม็ดเงินโฆษณาที่ไม่ได้เพิ่มขึ้น ตลอดจนปัญหาที่ยังเหลืออยู่ เช่น คุณภาพของโครงข่าย (Mux) ความครอบคลุมที่ไม่เป็นไปตามที่ประกาศ ยังถือเป็นอุปสรรคสำคัญในการทำธุรกิจ

“ผมมองว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นจากนี้ จะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงชัดเจนนัก การแข่งขันก็คงจะไม่ได้รุนแรงกว่าเดิม หรือน้อยลงกว่าเดิม เนื่องจากคาดว่าช่องที่จะคืนใบอนุญาต น่าจะเป็นช่องเล็กๆ ที่ไม่มีเรตติ้งสักเท่าไร จึงไม่น่าจะทำให้สัดส่วน การไหลของงบโฆษณามีนัยสำคัญ”

“ถ้าช่องใหญ่อย่างช่อง 7 หรือช่อง 3 คืนใบอนุญาต อาจมีผลต่อเม็ดเงินโฆษณาที่จะกระจาย ไหลเข้าสู่ช่องที่ยังออกอากาศต่อ แต่ความจริงสิ่งที่จะเกิดขึ้น น่าจะเป็นตรงกันข้าม ช่องเล็กที่แทบไม่ได้เม็ดเงินโฆษณามากกว่า ที่จะตัดสินใจยุติบทบาท คืนใบอนุญาต ซึ่งการหายไปของช่องเหล่านี้ มีผลน้อยมากกับเม็ดเงินที่จะไหลไปเข้าช่องอื่น ผมจึงไม่ได้มองว่าตรงนี้เป็นโอกาสมากนัก”

ขณะเดียวกัน ต้นทุนที่ลดลงเพราะได้รับการช่วยเหลือไม่ต้องจ่ายค่าใบอนุญาต และค่า Mux นั้น จะไม่ทำให้ไทยรัฐทีวีลงทุน คอนเทนต์ผลีผลาม หรือมหาศาลขึ้น แต่สำหรับช่องอื่นนั้น ไม่รู้

“ตลอดเกือบ 5 ปีที่อยู่ในธุรกิจโทรทัศน์ ผมเรียนรู้ว่าคอนเทนต์ที่ลงทุนเยอะ ไม่ได้แปลว่าจะได้เรตติ้งดี หรือเพิ่มรายได้ให้กับช่อง การทำทีวีมันมีเรื่องของศิลปะเข้ามาเกี่ยวข้องมาก ไม่ใช่วิทยาศาสตร์อย่างเดียว เราจึงจะไม่ใช้วิธีถล่มลงทุนเมื่อมีเงินเหลือ เราคิดว่า ขณะนี้เราเจอจุดสมดุลแล้ว และจะรักษาแนวทางนี้เอาไว้”

สำหรับผังรายการของเราจะยังคงเดิม การปรับเล็กๆ น้อยๆ มีต่อเนื่องอยู่แล้ว แต่หลักๆ ยังเหมือนเดิม รายการแม่เหล็กของช่อง ทั้งไทยรัฐนิวส์โชว์ ถามตรงๆ ข่าวใส่ไข่ ร้องได้ให้ล้าน เกมต่อชีวิต จะคงอยู่ในผังเดิม เวลาเดิม.


ทีมเศรษฐกิจ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ