ย้อนหลังกลับไปเมื่อปี 2516 หรือราว 46 ปีก่อน บริษัท ยูโนแคลไทยแลนด์ จำกัด ได้สำรวจพบก๊าซธรรมชาติจำนวนมากเป็นครั้งแรกในอ่าวไทย ในหลุมการผลิตที่ชื่อว่า “แหล่งเอราวัณ” ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะสามารถขุดขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้
อย่างไรก็ตาม ภายใต้กระบวนการเจรจาต่อรองราคาระหว่างรัฐบาลและยูโนแคล ตลอดจนความพร้อมของเทคโนโลยีสมัยนั้น ทำให้กว่าจะสามารถนำก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเอราวัณ ส่งผ่านท่อใต้ทะเล ข้ามมาขึ้นฝั่งที่ระยอง เพื่อนำไปผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ในประเทศได้ ต้องใช้เวลาถึง 8 ปีจึงสำเร็จ
ผ่านยุคโชติช่วงชัชวาล นโยบายที่ฮือฮาที่สุดในยุคนั้น นับจากปี 2524 จนปัจจุบัน อ่าวไทยเต็มไปด้วยแท่นขุดเจาะเพื่อผลิตและสำรวจปิโตรเลียมจำนวนมาก น่าจะไม่ต่ำกว่า 500 แท่น ทั้งใหญ่-เล็ก กระจัดกระจายอยู่ทั่ว
มีผู้เล่นรายสำคัญคือบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. และบริษัท เชฟรอน ประเทศไทย ที่เหลือเป็นผู้เล่นขนาดกลางจากต่างประเทศจำนวนหนึ่ง ขณะที่ผู้เล่นบิ๊กเนมข้ามชาติอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเอสโซ่ หรือเชลล์ ได้
ทยอยลดบทบาทลง หันไปหาแหล่งอื่นๆทั่วโลกที่ให้ผลตอบแทนคุ้มค่ากว่า หลังค้นพบแหล่งก๊าซในอ่าวไทยเป็นกระเปาะเล็กๆ อยู่กระจัดกระจาย ทำให้ยากต่อการสำรวจและผลิต
หนึ่งในบรรดาแท่นขุดเจาะทั่วอ่าวไทยดังกล่าว ได้แก่ โครงการอาทิตย์ สัมปทานของ ปตท.สผ. มีกำลังผลิตก๊าซธรรมชาติวันละ 200 ล้านลูกบาศก์ฟุต หรือคิดเป็น 5% ของปริมาณก๊าซที่ใช้ในประเทศ โดยเริ่มส่งมอบก๊าซให้กับ ปตท. บริษัทแม่ตั้งแต่ปี 2551
โครงการอาทิตย์ เป็นแท่นผลิต-ขุดเจาะขนาดใหญ่ที่ใหม่และทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่ง อยู่ห่างจากชายฝั่งสงขลาไปทางเหนือ 225 กิโลเมตร (เดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์ราว 1 ชั่วโมง) ที่ความลึก 80 เมตรจากผิวน้ำ
โครงการประกอบด้วย 4 แท่นหลัก ได้แก่ แท่นที่พักอาศัย (AQP) แท่นการผลิต (APP) แท่นเผาก๊าซ (AFP) และแท่นหลุมผลิต (AWP)
แท่นที่พักอาศัยมีทั้งหมด 4 ชั้น บนสุดเป็นลานจอดเฮลิคอปเตอร์ ชั้น 4 เป็นที่ตั้งของห้องพยาบาล ส่วนสันทนาการ ห้องชมภาพยนตร์ ชั้น 2 และ 3 เป็นห้องพักพนักงาน ชั้น 1 เป็นออฟฟิศ ห้องรับประทานอาหารและห้องประชุม มูลค่าของแท่นพักอาศัยอยู่ที่ประมาณ 120 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 3,800 ล้านบาท
ถัดมาเป็นแท่นการผลิต ซึ่งมีความซับซ้อนและเป็นหัวใจของงาน จึงมีมูลค่าแพงที่สุดราว 500 ล้านเหรียญฯ หรือ 16,000 ล้านบาท ส่วนแท่นเผาก๊าซนั้น มีไว้เพื่อความปลอดภัย เพื่อให้ก๊าซที่หลุดรั่วอยู่ในอากาศถูกเผาไหม้อยู่ตลอดเวลา ขณะที่แท่นหลุมผลิต จะมีขนาดเล็กกระจายอยู่ทั่วน่านน้ำพื้นที่สัมปทาน มีอยู่ 39 แท่น มูลค่าแท่นละ 22 ล้านเหรียญฯ หรือประมาณ 700 ล้านบาท
ปัจจุบันโครงการอาทิตย์มีพนักงานปฏิบัติหน้าที่อยู่ 120 คน ไม่นับพนักงานของบริษัทรับจ้างต่อ (Contractor) ซึ่งอาศัยอยู่บนเรือที่ลอยลำอยู่รอบๆ พนักงานเหล่านี้มีระยะเวลาปฏิบัติหน้าที่บนแท่นคนละไม่เกิน 1 เดือน หมุนเวียนกันไป โดยต้องกลับเข้าแผ่นดินและได้พักไม่ต่ำกว่า 21 วันตามกฎหมาย
ชีวิตบนแท่นเป็นไปอย่างสะดวกสบาย นอกเหนือจากความรับผิดชอบตามหน้าที่และความห่างไกลจากแสงสีเสียง พนักงานกินอาหารฟรีทุกมื้อ ทั้งอาหารไทยและฝรั่ง จึงไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ โดยนอกจากเงินเดือนแล้ว ยังได้เบี้ยเลี้ยงพิเศษ แต่ต้องทำงานวันละ 12 ชั่วโมง ตั้งแต่ 7 โมงเช้าถึง 1 ทุ่ม
ด้วยระยะทางที่ห่างไกลแถมต้องอยู่กลางทะเล แม้ส่วนใหญ่พนักงานจะเป็นเพศชาย แต่ก็เริ่มมีวิศวกรหญิงเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเต็มใจบ้างแล้ว รอบละ 1-2 คน ส่วนใหญ่เป็นวิศวกรเคมี ทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของอุปกรณ์ ตลอดจนตรวจสอบคุณภาพของก๊าซให้เป็นไปตามมาตรฐาน
หากมีเรือแปลกปลอมรุกคืบเข้ามาในน่านน้ำ พนักงานประจำแท่นมีหน้าที่แจ้งต่อหน่วยงานภาครัฐเท่านั้น เพราะไม่ถูกสอนให้ตอบโต้หรือต่อสู้ โดยเรือที่หลงเข้ามาส่วนใหญ่เป็นเรือประมงจากเวียดนาม ที่ลอยลำเลยเถิดเข้ามาจับปลา
ก่อนจบ ขอปิดท้ายด้วย กนก อินทรวิจิตร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานธรณีศาสตร์และการสำรวจ ปตท.สผ. ที่อธิบายเพิ่มเติมว่า ด้วยประสบ-การณ์ 33 ปี ทำให้ปัจจุบัน ปตท.สผ. สามารถผลิตและสำรวจปิโตรเลียมได้เองแบบครบวงจร จากที่ต้องจ้างฝรั่งแทบทุกขั้นตอน แถมยังวางแผนพัฒนา จัดซื้อจัดจ้าง ก่อสร้าง-ดีไซน์แท่นได้ตามต้องการ เพื่อก้าวไปสู่การเป็นผู้เล่นในระดับภูมิภาคที่แข็งแกร่งขึ้น.
ศุภิกา ยิ้มละมัย