ประเทศไทยกับความพร้อม 5 จี เมื่อ กสทช.และค่ายมือถือแตกคอ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ประเทศไทยกับความพร้อม 5 จี เมื่อ กสทช.และค่ายมือถือแตกคอ

Date Time: 4 มี.ค. 2562 05:01 น.

Summary

  • ทันใดที่ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นัดพิเศษเมื่อวันที่ 15 ม.ค.2562 ได้เห็นชอบในหลักการและวิธีการอนุญาต

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

ทันใดที่ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นัดพิเศษเมื่อวันที่ 15 ม.ค.2562 ได้เห็นชอบในหลักการและวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ เพื่อนำออกประมูล 5 จี

สัญญาณแห่งการคิกออฟสู่เทคโนโลยีสื่อสารยุคล่าสุด ก็เริ่มมีทิศทางชัดเจนขึ้น ตามติดมาด้วยการทยอยเปิดทดสอบ 5 จี จากบรรดาค่ายมือถือ ที่ทวีความคึกคักนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา

5 จีสำหรับมวลชนชาวไทย ดูไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป เมื่อเทคโนโลยีไร้สายความเร็วสูงได้กลายมาเป็นส่วนสำคัญในชีวิตประจำวัน โดยคนไทยสร้างสถิติใช้อินเตอร์เน็ต (วัดทุกอุปกรณ์) ต่อวันสูงที่สุดในโลก ที่ 9 ชั่วโมง 38 นาที และหากนับเฉพาะ การใช้งานบนมือถือ ก็ทำสถิติสูงที่สุดในโลกเช่นกันที่วันละ 4 ชั่วโมง 56 นาที (ตัวเลขปี 2561 จาก We Are Social และ Hootsuite)

ความเร็วระดับ 5 จี ที่ประมาณ 10 Gpbs หรือ 10,000 Mbps เปรียบเทียบกับความเร็วระดับ 4 จี ที่ 100 Mbps นั้น ถือว่าทิ้งห่างหลายช่วงตัว อธิบายให้เห็นภาพง่ายๆ เช่น การดาวน์โหลดคลิปวิดีโอความละเอียดระดับ HD ขนาด 1 กิกะไบต์ ในเวลา 3 วินาที หรือสตรีมคลิปวิดีโอความละเอียด 8K ได้โดยไม่มีจุดสะดุด

ความเร็วระดับนี้ยังเอื้อต่อการให้บริการเทคโนโลยีล้ำยุค เช่น รถไร้คนขับ (Self-Driving Car) ซึ่งต้องทำงานบนโครงข่ายไร้สายความเร็วสูงได้โดยไม่มีแรงหน่วง (Latency) เพื่อความปลอดภัยสูงสุด, การให้บริการ Telemedicine เช่น การควบคุมมือกลในการผ่าตัดคนไข้จากทางไกล ซึ่งต้องอาศัยความแม่นยำสูงสุด ตลอดจน IOT (Internet of Things) หรืออินเตอร์เน็ตที่จะเชื่อมต่ออุปกรณ์ทุกชิ้นในโลกให้ทำงานร่วมกันได้ ซึ่งต้องใช้ศักยภาพระดับ 5 จีเท่านั้น

แต่ 5 จีที่มาทั้งความเร็วและความแพง จะคิกออฟในไทยแลนด์ได้ราบลื่นหรือไม่ “ทีมเศรษฐกิจ” ติดตามความคิดเห็นของ 3 ผู้เล่นหลักมาให้อ่าน นับจากบรรทัดนี้

*******************************

กสทช.วิ่งสู่เป้าหมายในปี 2563

จากยุทธศาสตร์ประเทศ 20 ปี สู่แผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเพื่อปฏิรูปประเทศไทยก้าวสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0

ทำให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) และ กสทช.ต้องเตรียมแผนยกระดับโครงข่ายโทรคมนาคมของประเทศสู่การเป็นโครงข่ายดิจิทัล รองรับการก้าวไปสู่การเป็นประเทศอัจฉริยะ หรือ “สมาร์ท ไทยแลนด์” แดนสวรรค์ของนักลงทุน นักท่องเที่ยว และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนไทย

โดยในส่วนของ กสทช. ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ประกาศปักหมุดไว้ว่า ประเทศไทยจะต้องเปิดให้บริการ 5 จี เป็นรายแรกในกลุ่มประเทศอาเซียน กำหนดเปิดให้บริการในปี 2020 หรือปี 2563 เพราะไม่ต้องการให้ประเทศไทยล้าหลังประเทศอื่นๆในโลก

เพราะตอนเปิดบริการ 3 จี ไทยช้ากว่าประเทศอื่น 11 ปี ส่วนบริการ 4 จี ล้าหลังกว่าประเทศอื่น 8 ปี โดยเปิดให้บริการเมื่อปี 2559 ฉะนั้นเมื่อถึงเวลาของ 5 จี ประเทศไทยจึงควรเดินหน้าพร้อมๆกับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว

“ถ้าประเทศอื่นๆคิดเหมือนกันคือ 5 จีไม่ต้องรีบ ช้าไปอีก 2-3 ปีก็ได้ ก็คงไม่มีปัญหา แต่ถ้าเวียดนาม มาเลเซีย เปิดบริการ 5 จีเมื่อไร แต่ประเทศไทยไม่มี ก็จะส่งผลต่อต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการไทยให้สูงกว่า และนักลงทุนอาจย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีบริการ 5 จีรองรับ”

ที่สำคัญ เมื่อรัฐบาลต้องการให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นไทยแลนด์ 4.0 มีโครงการผลักดันจังหวัดต่างๆในประเทศให้เป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) โครงการเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farm) รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆที่จะมาร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ แต่หากไม่มีบริการ 5 จี สิ่งเหล่านี้ก็จะไม่เกิดขึ้น

สำหรับคลื่นความถี่ที่เหมาะกับการให้บริการ 5 จี ในขณะนี้ ได้แก่ คลื่นย่าน 2.5 GHz, 3.5 GHz และ 26-28 GHz รวมถึง 2600 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) โดยคลื่นทั้งหมดดังกล่าวมีอุปกรณ์และมือถือรองรับแล้ว เพราะมีการเปิดทดลองใช้งานในประเทศเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และจีน ขณะที่คลื่น 700 MHz ขณะนี้ยังไม่มีเอกชนรายใดผลิตอุปกรณ์และเครื่องมือถือรองรับ รวมถึงยังไม่มีการทดลองการใช้งาน

โดยฐากรย้ำว่า กสทช. จะผลักดันให้มีการประมูลในเดือน พ.ค.2562 เพื่อให้เปิดบริการ 5 จี ภายในปี 2563 ต่อไป

3 ค่ายมือถือพร้อมใจไม่ต้องรีบ

ขณะที่ทางฝั่งโอเปอเรเตอร์ ทั้ง 3 ผู้ประกอบการค่ายมือถือ ต่างแสดงท่าทีชัดเจนว่า

ไม่อยากให้ภาครัฐรีบร้อนแจ้งเกิด 5 จี เร็วเกินไป เพราะขณะนี้ยังไม่มีแผนธุรกิจ 5 จี ที่ทำรายได้เชิงพาณิชย์ให้เห็น

นอกจากธุรกิจในฝั่งของผู้ผลิตโครงข่าย หรือเน็ตเวิร์ก ไม่ว่าจะเป็นหัวเว่ย อีริคสัน โนเกีย-ซีเมนส์ ที่กำลังทั้งผลักทั้งดัน เพราะหวังขายโครงข่ายมูลค่าหลายแสนล้านบาท

กรณีนี้ สมชัย เลิศสุทธิวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ดูเหมือนว่าจะเป็นคนที่ไม่อ้อมค้อมที่สุด

เขาประกาศบนเวทีแสดงวิสัยทัศน์ 2019 ของเอไอเอส ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 1 ก.พ.2562 ท่ามกลางผู้ร่วมงานกว่า 3,000 คน ว่า ไม่อยากให้ประเทศไทยติดกับดักเร็วเกินไป ในการเร่งขับเคลื่อนประเทศสู่เทคโนโลยีในยุค 5 จี เนื่องจากขณะนี้ 5 จียังไม่ตอบโจทย์ทางธุรกิจ

“ส่วนตัวผมคิดว่าการเปิดบริการ 5 จีเชิงพาณิชย์ในประเทศไทย ควรเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป ขณะที่หลายประเทศ ซึ่งมีแผนให้บริการ 5 จีเชิงพาณิชย์ในปีนี้นั้น เขาล้วนแล้วแต่ได้ประโยชน์จาก 5 จี ในฐานะผู้ผลิตด้วย ยกตัวอย่างเกาหลีที่มีซัมซุง จีนมีหัวเว่ย ญี่ปุ่นที่หวังจะขายรถไร้คนขับที่ต้องใช้เทคโนโลยี 5 จี หรืออเมริกาที่ผลิตและจ้องขายชิป 5 จี ขณะที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่ต้องซื้อ ลงทุน และจ่ายเงินเป็นหลัก”

“ขณะนี้ควรเป็นเวลาแห่งการทดลอง ทดสอบ 5 จี ซึ่งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ก็ได้อนุมัติให้มีการทดสอบแล้ว ถือว่าเดินมาถูกทางแล้ว”

ขณะที่ วิเชาวน์ รักพงษ์ไพโรจน์ รองประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) นั้น ก็เป็นอีกคนที่ชัดเจนมาตั้งแต่ต้น ประกาศตั้งแต่ปีมะโว้ว่าทรูจะไม่ร่วมประมูล 5 จี คลื่น 700 MHz จนกว่าจะมีความชัดเจนว่าได้รับการขยายเวลาชำระค่าประมูลคลื่น 900 MHz งวดสุดท้าย ที่ทรูมีภาระต้องจ่ายเงิน 60,218 ล้านบาท ในเดือน มี.ค.2563 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่ กสทช.กำหนดให้มีการประมูล 5 จีขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย

นอกจากนั้น ทรูยังมีปริมาณคลื่นความถี่ต่ำอยู่พอเพียง ทั้ง 850 MHz และ 900 MHz ที่จะนำมาให้บริการ 5 จี โดยจะลงทุนเฉพาะเจาะจงในพื้นที่ที่คุ้มค่าต่อการลงทุน เพื่อให้เป็นไปตามความต้องการใช้งาน และความพร้อมของเครื่องมือถือที่รองรับ 5 จี

“ปีนี้มือถือ 5 จี ในตลาดยังมีจำนวนเป็น 0 คือยังไม่มีวางจำหน่ายเลย ดังนั้นถ้าหากต้องลงทุนล่วงหน้าเร็วเกินไป ผมมองว่าเป็นเรื่องแปลก”

สอดคล้องกับ อเล็กซานดรา ไรช์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ที่ไม่ว่าจะขึ้นเวทีใด ก็พูดซ้ำย้ำคำเดิมว่า 5 จี จะไม่เปลี่ยนประสบการณ์การใช้งานมือถือในระดับผู้บริโภคเท่าไรนัก แต่เป็นบริการที่ขยับขึ้นสู่ระดับอุตสาหกรรมมากกว่า จึงจะเกี่ยวข้องกับหน่วยงานหลากหลายที่จะต้องทำงานร่วมกัน จึงต้องถามว่าอุตสาหกรรมในไทยพร้อมหรือยังสำหรับ 5 จี

เธอยังเชื่อเช่นเดียวกับคู่แข่งจากเอไอเอสว่า บริการ 5 จีเชิงพาณิชย์ในไทยจะเกิดขึ้นหลังปี 2564 เป็นต้นไป โดยเบื้องต้นประเมินว่าการลงทุน 5 จี จะสูงกว่า 4 จี ไม่ต่ำกว่า 2 เท่า โดยแม้ว่าขณะนี้บริษัทแม่อย่างเทเลนอร์จะกำลังทดสอบ 5 จีครบวงจรอยู่ที่เมืองในนอร์เวย์ แต่ดีแทคก็จะไม่ผลีผลามอย่างแน่นอน

“เราจะไม่เชื่อผู้ผลิตโครงข่ายและอุปกรณ์ 5 จีมากนัก เพราะพวกเขาย่อมต้องการขายสินค้า เราจะพิจารณาอย่างระมัดระวัง และจะไม่รีบ”

ส่วนเมื่อถามถึงราคาและเงื่อนไขการประมูลที่เหมาะสมนั้น ทั้ง 3 ค่ายให้คำตอบใกล้เคียงกันว่า การตัดสินใจเข้าประมูลขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ราคา ความต้องการคลื่น และการแข่งขันในตลาด ซึ่งทุกรายต้องศึกษา วิเคราะห์ข้อได้เปรียบ เสียเปรียบให้รอบด้านก่อนการตัดสินใจ จึงขอไม่ให้ความเห็นต่อกรณีข่าวเคาะราคาประมูลใบอนุญาตละ 20,000 ล้านบาท จำนวน 15 MHz แจกให้เท่าๆ กันสำหรับ 3 ค่ายมือถือ

ส.อ.ท.ดันปฏิรูปการศึกษา

ขณะที่ เกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ตัวแทนภาคอุตสาหกรรมให้ความเห็นถึงความพร้อมในการใช้งานเทคโนโลยี 5 จี ว่า ยุทธศาสตร์ 5 จี หากเริ่มดำเนินการในขณะนี้ ถือได้ว่าประเทศไทยมาถูกที่ถูกเวลาแล้ว

เพราะ 5 จีจะเป็นฟันเฟืองหลักที่จะช่วยขับเคลื่อนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่รัฐบาลได้กำหนดไว้ในแผนยุทธศาสตร์ประเทศไทย 20 ปี และควรต้องก้าวหน้าไปก่อนหลายๆชาติในอาเซียน เพื่อให้ได้เปรียบในการแข่งขัน

โดย ส.อ.ท.ได้วางแผนและสนับสนุนสมาชิกของ ส.อ.ท. ให้ปรับตัวให้พร้อมสู่ระบบ 5 จี เพราะอีกไม่เกิน 2-3 ปีข้างหน้า ภาคอุตสาหกรรมต้องเข้าสู่ยุค IOT (Internet of Things) ซึ่งเป็นกระบวนการผลิตด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ มีการใช้หุ่นยนต์, โดรน ตลอดจนคอมพิวเตอร์ที่มีความสามารถในการเรียนรู้หรือ Maching Learning ในขั้นตอนการผลิต เพื่อลดต้นทุนที่มาจากแรงงานคน ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 หากไม่มีเทคโนโลยีที่ให้ความเร็วระดับ 5 จี ก็จะไม่สามารถผลักดันให้ไทยก้าวไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ได้

อย่างไรก็ตาม แรงงานเหล่านี้ก็จะถูกโยกไปสู่อุตสาหกรรมยุคใหม่ ด้วยการนำแรงงานไปฝึกอบรมพัฒนาทักษะเพิ่มเติม เด็กจบใหม่ก็ต้องเรียนรู้ทักษะเพิ่มเติมเพื่อพร้อมทำงานในอุตสาหกรรมยุคใหม่ ระบบการศึกษาของไทย จึงต้องปฏิรูปครั้งประวัติศาสตร์ ซึ่งรัฐบาล โดยกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงแรงงาน ต้องปฏิรูปหลักสูตรการเรียนการสอน โดยเฉพาะสายอาชีพใหม่ทั้งหมด

ยกตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานจำนวนมาก หากไม่มีการปรับปรุงนวัตกรรมการผลิต ก็ต้องยืนรอวันตาย อาทิ อุตสาหกรรมการเกษตร ที่จากนี้ไปจะมีระบบโดรนมาใช้ประมวลแปลงผลิต ประมวลผลระบบน้ำเพื่อเพาะปลูก จำนวนผลผลิตที่จะได้รับ ฯลฯ ที่ทำให้ทราบผลอย่างรวดเร็ว อุปกรณ์เหล่านี้จะถูกสั่งงานผ่านระบบ 5 จี หรือมีหุ่นยนต์มาหยอดเมล็ดพันธุ์แทนแรงงานคน หากเกษตรกรยังใช้ระบบเพาะปลูกแบบเดิม ก็จะไม่ทันกับสถานการณ์

ดังนั้น การเรียนการสอนด้านวิศวกรรมหรือช่างเทคนิคของไทย จะต้องเพิ่มเติมหลักสูตรใหม่ๆให้ทันกับ 5 จี อาทิ หลักสูตรการเขียนโปรแกรมผลิต หรือการบังคับหุ่นยนต์ โดรน การเขียนโปรแกรมผลิตรถยนต์ไฟฟ้า การเรียนการสอนเครื่องกลระดับสูง เพราะเรากำลังจะเข้าสู่ยุครถยนต์ไร้คนขับ (Self-Driving Car) เป็นต้น

“ผมอยากเห็นรัฐบาลไทยนำต้นแบบของรัฐบาลสิงคโปร์มาใช้ คือหลักสูตรการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพราะการเรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุด เช่น การให้เงินสนับสนุนแรงงานที่จบมาทำงานใหม่ๆหรือทำงานมานานแล้ว ปีละ 500 เหรียญสิงคโปร์ ไปเรียนรู้ทักษะเพิ่มเติมในสายงานของตนเอง เพื่อให้เป็นคนไม่ตกยุค”.

ทีมเศรษฐกิจ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ